รัฐบาลเศรษฐา 1 'ระบอบทักษิณ' คืนชีพ ลุยประชานิยม ฝ่ากระแสคลื่นปฏิรูป!

เริ่มลุยงานอย่างสมบูรณ์แบบสำหรับ รัฐบาลเศรษฐา 1 ภายหลังมีการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา และประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับการแถลงนโยบาย นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ถูกฝ่ายค้านอภิปรายว่า เป็นการเขียนนโยบายที่ไม่มีลายละเอียด ไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน ไม่ตรงปกกับนโยบายที่ใช้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง และมาตรฐานต่ำกว่ายุครัฐบาลประยุทธ์-ยิ่งลักษณ์

อย่างไรก็ตาม การประชุม ครม.นัดแรก รัฐบาลได้โชว์ผลงานแรกซื้อใจประชาชนในเรื่องนโยบายที่เป็นรูปธรรม พร้อมทำทันที  7 เรื่องสำคัญ อาทิ ลดค่าไฟฟ้าจากเดิม 4.45 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เป็น 4.10 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เริ่มบิลเดือน ก.ย.2567 และลดราคาน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร เริ่มวันที่ 20 ก.ย.นี้ พักหนี้เกษตรกรและธุรกิจขนาดเล็ก 3 ปี ปรับการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็น 2 รอบต่อเดือน เริ่ม 1 ม.ค.2567

ภายหลังนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุม ครม.นัดแรก ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงนโยบายการแบ่งจ่ายเงินเดือน 2 รอบอย่างกว้างขวาง ว่าจะประสบปัญหาในเรื่องของการใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งในปัญหาของการใช้หนี้สินในแต่ละเดือน เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ควรเพิ่มเงินเดือนมากกว่าจะปรับการจ่ายเงินเดือน จะเพิ่มภาระงานเจ้าหน้าที่การเงินและค่าตอบแทน

แต่นายกฯ ยังยืนยันว่าจะไม่ล้มเลิกโครงการดังกล่าว ในที่สุดก็เปลี่ยนให้เป็นทางเลือกด้วยความสมัครใจ โดยข้าราชการยังสามารถเลือกได้ว่าต้องการอยู่ในระบบการจ่ายเงินเดือนละครั้งเช่นเดิม หรือ 2 ครั้งต่อเดือนก็ได้

เป็นที่น่าสังเกตว่านโยบายดังกล่าวไม่ได้เป็นมติ ครม.แต่อย่างใด เป็นเพียงข้อสั่งการของนายกฯ ให้เตรียมการ โดยอ้างว่าเนื่องจากก่อนหน้านี้มีข้อร้องเรียนจาก ขรก.เรื่องปัญหาหนี้สินที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง

ด้าน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า นายกฯ ได้สั่งการให้ไปทบทวนว่าคําสั่ง คสช.อันไหนที่ยังมีความจำเป็นต้องคงไว้หรือไม่ หากไม่เสนอมาในวันที่ 9 ต.ค. ให้ถือว่ายกเลิก โดยยืนยันว่ามติ ครม.ยกเลิกคำสั่ง คสช.ได้ ตอนนี้รัฐบาลนี้เป็น รัฏฐาธิปัตย์ ยกเลิกได้อยู่แล้ว

ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าโฆษกรัฐบาลไม่มีพื้นฐานทางรัฐศาสตร์และกฎหมาย เพราะประกาศและคำสั่ง คสช.ถูกรับรองไว้ในมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า “การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทำเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศหรือคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร ให้กระทำโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีหรือมติ ครม.แล้วแต่กรณี”

ในทางกฎหมาย “คำสั่ง คสช.” จึงมีฐานะเทียบเท่า “พระราชบัญญัติ” การจะแก้หรือยกเลิกคำสั่ง คสช. ต้องเสนอเป็นกฎหมายเข้าสภา ไม่สามารถใช้มติ ครม.ได้ ส่วนข้อสังการนายกฯ ก็ไม่เทียบเท่ามติ ครม.

ส่วน รัฏฐาธิปัตย์ หรือการเป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่สุดในรัฐแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้น คือ คณะรัฐประหาร ที่รวม 3 อำนาจอธิปไตย คือ อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ไว้ที่เดียว สถานะปัจจุบันของรัฐบาลเป็นแค่ 1 ใน 3 ของอำนาจอธิปไตยเท่านั้น

ทำให้นึกถึง นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ซึ่งในช่วงจัดโผ ครม.มีชื่อเป็นรองนายกฯ ด้านกฎหมาย แต่ต่อมามีชื่อ นายพิชิต ชื่นบาน หัวหน้าทีมทนายความของตระกูลชินวัตร หรือ ทนายถุงขนม 2 ล้าน โผล่มาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแทน

ต่อมานายพิชิตประกาศถอนตัว คาดว่าเนื่องจากการตรวจสอบคุณสมบัติไม่ผ่าน จากกรณีเคยติดคุก 6 เดือน ข้อหาละเมิดอำนาจศาล ขัดกับ ม.160 แต่ในที่สุด นายพิชิต ก็ไปโผล่เป็น 1 ใน 9 ตำแหน่ง ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เข้าทำเนียบฯ จนได้ ไม่หวั่้นข้อครหาแต่อย่างใด และยังมีชื่อ นายศุภนิจ จัยวัฒน์ คณะกรรมการบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาอีกด้วย

การบริหารราชการแผ่นดินมีความสลับซับซ้อนกว่าการบริหารธุรกิจ มีระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายมากมาย จึงน่าเป็นห่วงว่าหากรัฐบาลชุดนี้ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย การผลักดันนโยบาย การออกกฎหมาย ข้อสั่งการของนายกฯ ต่างๆ สุ่มเสี่ยงที่จะตกม้าตายเอาได้ง่ายๆ

นอกจากนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้ง นางนลินี ทวีสิน เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย ทั้งที่นางนลินีมีชื่อติดอยู่ในบัญชีดำของสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติ กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ประเทศสหรัฐอเมริกา

ส่วนเหตุการณ์สะเทือนวงการสีกากี กรณี พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว หรือ สารวัตรแบงก์ สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล ถูกยิงเสียชีวิตในงานเลี้ยงภายในบ้าน นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก ที่ จ.นครปฐม ต่อหน้าตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์กว่า 28 นาย จากมูลเหตุการรับ ส่วยรถบรรทุก นายกฯ ได้สั่งการปราบปรามผู้มีอิทธิพลอย่างเด็ดขาดแบบถอนรากถอนโคน 

แต่ปัญหาความเฟะในวงการตำรวจเรื้อรังมานาน ในยุค พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจ 9 ปี ยังไม่สามารถปฏิรูปตำรวจให้สำเร็จได้ มีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นมากมายต่อเนื่อง ประจานระบบและโครงสร้างตำรวจไทยที่ล้าหลัง เนื่องจากเป็นระบบที่ขาดการตรวจสอบจากหน่วยงานอื่น การแต่งตั้งโยกย้ายก็มีการซื้อขายตำแหน่งแทบทุกระดับ เมื่อมีเรื่องอื้อฉาวขึ้นมาก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวน แล้วก็เลือนหายไปเหมือนไฟไหม้ฟาง  

หากนายกฯ ไม่เข้าใจปัญหาตำรวจอย่างถ่องแท้ และไม่มีภาวะผู้นำในการแก้ปัญหา ก็ไม่สามารถปฏิรูปตำรวจได้ และจะเกิดเหตุอื้อฉาวไม่รู้จักจบสิ้น กระทบความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม และความสงบสุขและชีวิตความปลอดภัยของประชาชน

รวมทั้งกรณี น.ช.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นักโทษหนีคดีทุจริต กลับมาเข้าเรือนจำไม่กี่ชั่วโมงก็ไปนอน รพ.ตำรวจ ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษจาก 8 ปี เหลือจำคุก 1 ปี เมื่อได้รับพระราชทานอภัยลดโทษแล้วควรจะมีสำนึก กลับเข้าสู่เรือนจำตามปกติ การใช้อภิสิทธิ์ชนเหนือนักโทษคนอื่นและประชาชนทั่วไป ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางกระบวนการยุติธรรม เกิดการเปรียบเทียบกับคดีอื่นๆ โดยเฉพาะคดีทางการเมืองทั้ง กลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อส้ม ที่ต่อสู้คดีด้วยความยากลำบาก บางรายก็ไม่ได้รับการประกันตัว

ขณะที่นายกฯ เศรษฐาแถลงนโยบายว่า จะฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และให้สัมภาษณ์ว่า "นักโทษทางการเมืองก็เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม" แต่สังคมกังขาว่า น.ช.ทักษิณ อยู่เหนือกระบวนการยุติธรรม การเอาประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวจะเกิดความสามัคคีปรองดองได้อย่างไร และยังคาดหวังการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม จะเป็นคลื่นใต้น้ำหรือระเบิดเวลารอวันปะทุ!

ส่วนแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการฟื้นนโยบายประชานิยม ลดแลกแจกแถม โดยเฉพาะการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้คนอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 1 หมื่นบาท จำนวน 56 ล้านคน รวมเป็นเงิน 5.6 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดคำถามว่าจะเอาเงินมาจากไหน สุดท้ายก็ต้องกู้

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย วิจารณ์นโยบายแจกเงินดิจิทัลว่า การไปกระตุกเศรษฐกิจมากๆ มีความเสี่ยง เพราะการบริโภคของคนไทยจะมีการนำเข้ามากถึง 50% ของ GDP ถ้าใส่เงินเข้าไปเป็นไปได้มากว่าเงินจะไหลออกนอกประเทศครึ่งหนึ่ง ควรกระตุ้นด้านอุปทาน (Supply) ไม่ใช่ด้านอุปสงค์ (Demand) เพราะการกระตุ้นอุปสงค์จะทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น อีกทั้งยังจะเป็นการขาดดุลงบประมาณ และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดพร้อมกัน เหมือนในยุค วิกฤตต้มยำกุ้ง

สำหรับ ดร.ศุภวุฒิ ถือว่าเป็นมือขวานายเศรษฐา ทวีสิน ถูกวางตัวให้นั่ง รมว.การคลัง แต่เมื่อไม่เห็นด้วยกับการแจกเงินดิจิทัล จึงหลุดออกจากโผ ครม.

ขณะที่ ดร.ทนง พิทยะ อดีต รมว.การคลัง สมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว โดยบอกว่าไม่ควรแจกทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ควรแยกกลุ่มคนออกมา และเน้นการแจกไปที่กลุ่มคนจนหรือกองทุนหมู่บ้าน เพราะสำหรับคนรวย เงิน 1 หมื่นบาทจะไม่ได้นำไปใช้ลงทุน และไม่เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ จะภาระหนี้เป็นของรัฐ กระทบงบประมาณ วินัยการเงินก็เสียหาย เพราะการผลิตไม่เกิด

ที่สำคัญ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังหารือกับนายกฯ เศรษฐาว่า สิ่งที่เราขาดจริงๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องการบริโภค แต่เป็นเรื่องของการลงทุนมากกว่า การทำนโยบายต่างๆ ควรต้องเป็นเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะประหยัดงบประมาณได้มากกว่า จะทำอย่างไรให้นโยบายที่ออกมา ไม่ทำลายหรือกระทบเสถียรภาพเยอะเกินไป หรือเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น

เสียงเตือนจาก 3 กูรูเศรษฐกิจ คล้ายเสียงเตือนของ ดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถึงหายนะจาก โครงการรับจำนำข้าว จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับฟัง หากดันทุรังเดินหน้า ประชานิยม เพียงเพื่อหวังคะแนนเสียงอาจจะซ้ำรอยเดิม

แม้ประชาชนส่วนหนึ่งจะพึงพอใจที่เป็นเพียง ยาหอม แต่ประชาชนอีกจำนวนมากต้องการเห็นการปฏิรูปประเทศ เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมที่่อยุติธรรม เอื้อประโยชน์กับคนส่วนน้อยของสังคม หรือ กลุ่มชนชั้นนำอภิสิทธิ์ชน จึงเทคะแนนให้พรรคก้าวไกลที่ชูธงการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศ จนชนะการเลือกตั้งอันดับหนึ่ง ทำให้ กลุ่มอนุรักษนิยม จับมือกับพรรคเพื่อไทยเพื่อร่วมมือกันสกัดพรรคก้าวไกล  

แต่การจัดโผ ครม.ยังยึดตามโควตากลุ่มก๊วนการเมืองมากกว่าความรู้ ความสามารถ การฟื้นนโยบายประชานิยม ไม่ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง บริหารราชการแผ่นดินแบบ ซีอีโอ บริษัท จึงไม่ตอบโจทย์ทางการเมืองในบริบทปัจจุบัน

และหากแก้ปัญหาเศรษฐกิจล้มเหลว เกิดทุจริตคอร์รัปชัน ใช้อำนาจรัฐเอื้อพวกพ้อง ประชาชนลุกฮือต่อต้าน จะซ้ำรอย ระบอบทักษิณ ซ้ำเติมพรรคเพื่อไทย และกลุ่มอนุรักษนิยม จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เทคะแนนให้พรรคก้าวไกลมากกว่าเดิม!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' เตรียมจ้อ 'นายกฯพบประชาชน' เดือนละครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เตรียมจัดรายการ “นายกฯพบประชาชน” ซึ่งจะจัดเดือนละ 1 ครั้งในวันเสาร์ เพื่อสื่อสารการทำงานของรัฐบาล และพูดคุยกับประชาชน

พิสูจน์ฝีมือ ‘ครม.เศรษฐา2’ ปรับทัพใหม่ รอดหรือร่วง?

หลังปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียบร้อย โดยมีรัฐมนตรีเข้าใหม่ 7 คน และออก 4 คน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ กว่าจะได้คนที่ถูกฝาถูกตัว ก็ต้องมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจเป็นธรรมดา

'หมอนทองเขาบรรทัด' สินค้า GI รายการที่ 3 ของตราด

รัฐบาลมุ่งเพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่นไทย ขึ้นทะเบียนทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จังหวัดตราด เพื่อความเชื่อมั่นคุณภาพสินค้า ยกระดับรายได้ชุมชน