ดิจิทัลวอลเล็ตไม่ตรงปก เศรษฐา-เพื่อไทยถอยร่น เพราะจำนนทางการเมือง

มีปฏิกิริยา-ความเห็นทางการเมืองและทางเศรษฐศาสตร์ตามมาหลากหลาย หลัง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี-รมว.การคลัง แถลงความชัดเจนการเดินหน้านโยบาย

"ดิจิทัลวอลเล็ต-หนึ่งหมื่นบาท"

เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยแม้เศรษฐาและแกนนำพรรคเพื่อไทยที่อยู่ในทีมทำนโยบายดังกล่าวจะ ยอมถอย ด้วยการยอมปรับ

"หลักเกณฑ์-กติกา-กระบวนการ"

ในการทำดิจิทัลวอลเล็ตจากเดิมที่เคยประกาศตอนหาเสียงเลือกตั้ง และช่วงแรกๆ ของการเป็นรัฐบาล ที่บอกคนไทยทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี จะได้ดิจิทัลวอลเล็ตทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจน มีเงินเดือนเท่าไหร่ มีเงินฝากหรือไม่มีเงินฝากในธนาคารก็ได้หมด และจะให้ใช้ภายในรัศมีไม่เกิน 4 กิโลเมตร และให้ใช้ในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน โดยการขับเคลื่อนนโยบายจะใช้บล็อกเชน ไม่ใช่แอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยตัวเศรษฐายืนกรานหลายครั้ง ได้แน่ 1 ก.พ.2567 พร้อมกับแสดงความมั่นใจว่าจะสามารถหาแหล่งเงินงบประมาณมาทำนโยบายดังกล่าวได้ 560,000 ล้านบาท โดยจะไม่มีการกู้เงินมาทำ

แต่สุดท้าย หลังเข้ามาบริหารประเทศจริงๆ สิ่งที่บ้าน้ำลาย หาเสียงไว้ ถึงเวลาก็ทำไม่ได้อย่างที่พูดแบบมักง่าย เพียงเพราะต้องการคะแนนเสียงตอนเลือกตั้ง เพราะเจอข้อจำกัดมากมายเต็มไปหมด โดยเฉพาะเรื่อง แหล่งเงินงบประมาณ และข้อจำกัดด้านกฎหมายต่างๆ เช่น พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

จนสุดท้ายต้อง ยอมถอยร่น-ยอมเสียหน้า เปลี่ยนหลักเกณฑ์หลายอย่าง จากที่เพื่อไทยและเศรษฐาเคยหาเสียงและประกาศมาตลอด เข้าทำนอง ไม่ตรงปก-โฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง

เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ เป็นว่าคนที่จะได้ดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องอายุ 16 ปีขึ้นไปเหมือนเดิม แต่เพิ่มหลักเกณฑ์ใหม่เข้ามาคือ ต้องรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน มีเงินฝากต่ำกว่า 500,000 บาท และขยายจากให้ใช้ภายในไม่เกินรัศมี 4 กิโลเมตรตามภูมิลำเนาในบัตรประชาชน เป็นภายในอำเภอ 

เปลี่ยนจากที่บอกจะได้ใช้ 1 ก.พ.2567 หรือช้าสุดไม่เกินไตรมาสแรกของปี 2567 ก็ขยับไปเป็นเริ่มใช้เดือนพฤษภาคม 2567 โดยใช้ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เพื่อไทยเคยตั้งข้อรังเกียจทางการเมือง และจากที่เคยให้ใช้ภายในไม่เกิน 6 เดือนก็สิ้นสุดโครงการ ก็เปลี่ยนเป็นโครงการสิ้นสุดในเดือนเมษายน พ.ศ.2570 แต่ต้องใช้เงินครั้งแรกหลังได้สิทธิ์ใน 6 เดือน ที่ก็สวนทางกับหลักการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเป็นการทำนโยบายระยะยาว 

แน่นอนว่าการที่ เศรษฐา-เพื่อไทย ยอมถอย ไม่ดันทุรัง จะเข็นดิจิทัลวอลเล็ตแบบหัวชนฝา จะเอาให้ได้ โดยมีการยอมปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ที่สำคัญหลายอย่าง ตามที่มีข้อเสนอแนะจากหลายฝ่ายออกมา การถอยดังกล่าวมันก็เป็นเรื่องดี

เพียงแต่อย่างที่เห็น การถอยของเศรษฐาและเพื่อไทย มันเป็นการถอยแบบ

"จำนนทางการเมือง"

เพราะรู้ดีว่าหากไม่ยอมปรับเปลี่ยนบ้าง นโยบายดังกล่าวจะประสบปัญหามากมาย ไปต่อลำบาก

โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณที่จะบานปลาย เพราะอย่างการยอมใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง ก็ทำให้ประหยัดเงินงบประมาณไปได้หลายพันล้านบาท อีกทั้งยังป้องกันข้อครหาว่า การที่จะใช้บล็อกเชนเพื่อเอื้อประโยชน์อะไรให้กับบริษัทที่จะมาพัฒนาระบบดังกล่าวหรือไม่

อีกทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์ที่จากเดิมใครอายุเกิน 16 ปีก็ได้หมด คนละหนึ่งหมื่นบาท เป็นต้องมีเงินเดือนไม่เกินเจ็ดหมื่นบาท และมีเงินฝากในธนาคารทุกบัญชีรวมกันไม่เกินห้าแสนบาท ก็ทำให้ตัวเลขลดจากเดิม คือ 54.8 (ล้านคน) เหลือ 50 (ล้านคน) และเมื่อได้คนละหนึ่งหมื่นบาท จึงต้องใช้งบทั้งสิ้นประมาณ 5 แสนล้านบาท

โดย เศรษฐา-นายกฯ และ รมว.การคลัง ได้ประกาศแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ 5 แสนล้านบาทแล้วว่าจะมาจากการออก

"พระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านบาท"

เพื่อเอามาทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งที่เคยประกาศมาตลอดว่า รัฐบาลหาเงินได้ ไม่ต้องมีการกู้เงิน โดยจะนำงบมาจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ ปกติ รวมถึงเงินภาษีที่จะจัดเก็บได้ในระบบหลังมีการใช้ดิจิทัลวอลเล็ตไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ต้อง

"กลืนน้ำลาย"

ตัวเองด้วยการกู้เงินมาทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่เป็นนโยบายหาเสียงทางการเมืองเพื่อสร้างคะแนนนิยมให้กับตัวเอง และยังเป็นการดำเนินการโดยไม่ได้เป็นไปตามที่พรรคเพื่อไทยแจ้งไว้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตอนที่ส่งเอกสารเรื่องแหล่งที่มาของเงินงบประมาณในการทำตามนโยบายที่หาเสียงเลือกตั้ง

ซึ่งได้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาจากฝ่ายต่างๆ ถึงกรอบการเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ที่เศรษฐา-เพื่อไทย เคาะออกมา

เช่น ความเห็นจาก คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ชี้ประเด็นไว้ว่า ที่มาของเงินก็คือการตรากฎหมายพิเศษ “กู้เงิน” 5 แสนล้านบาท หาใช่การบริหารระบบงบประมาณและระบบภาษีตามที่แจ้ง กกต.ไว้เมื่อปลายเดือนเมษายน 2566 แต่ประการใด ปัญหาต่อไปก็ตัองดูว่ากฎหมายพิเศษที่ว่านี้จะเข้าเงื่อนไขตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังมาตรา 53 หรือไม่อย่างไร เบื้องต้นก็ต้องดูว่ากฤษฎีกาจะให้ความเห็นอย่างไร

"มาตรา 53 บัญญัติไว้ว่าจะออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินได้นั้นต้อง…เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน” สว.คำนูณระบุ

ส่วนมุมมองด้านวิชาการ ดร. นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ทัศนะว่า ข้อที่น่าเป็นห่วงคือ พบว่าหลักการและรายละเอียดหลายอย่างที่นายกรัฐมนตรีแถลง วิธีการยังอยู่ในประเด็นที่กลุ่ม 99 นักเศรษฐศาสตร์ เคยออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับดิจิทัลวอลเล็ต ที่ก็พบว่าเนื้อหาที่นายกฯ แถลงยังอยู่ในข้อห่วงใยดังกล่าว

การที่ยังคงจะใช้งบประมาณในการทำนโยบายถึงห้าแสนล้านบาท ยังถือว่าสูงอยู่มาก ตัวเลขแม้ลดลงจากเดิม แต่ก็ไม่แตกต่างกันมาก เพราะอย่างคนไทยที่จะมีเงินเดือนเกิน 7 หมื่นบาท ก็มีไม่มาก ยังถือว่าเป็นการให้แบบค่อนข้างถ้วนหน้าอยู่ ยังมีการกันคนที่จะได้รับสิทธิ์ออกไปน้อย ทั้งที่ควรกันออกได้มากกว่านี้ ทำให้ยังใช้งบสูง ทั้งที่ลักษณะนโยบายน่าจะไม่เกิน 1-2 แสนล้านบาทก็น่าจะเพียงพอแล้ว ไม่ควรใช้งบประมาณในการดำเนินการที่สูงถึงห้าแสนล้านบาท” นักวิชาการทีดีอาร์ไอระบุ

ฟาก ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล-อดีต รมว.การคลัง ที่ติดตามเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตอย่างใกล้ชิด ชี้ชัดๆ ว่า ที่จะมีการออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ มาทำดิจิทัลวอลเล็ต ขอตั้งข้อสังเกตว่าอาจฝ่าฝืน พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ มาตรา 9 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า "คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว"

...เนื่องจากสถานะตัวเลขเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เลวร้าย ยังไม่มีปัญหาตัวเลขจีดีพีถึงขั้นติดลบ ยังไม่มีวิกฤตฟองสบู่แตกในตลาดโลก จึงมีความเห็นว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 500,000 ล้านบาท ที่ไม่ใช่โครงการเพื่อเพิ่มความสามารถของประเทศ ย่อมอาจถูกตีความได้ว่า เข้าข่ายมุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง อีกทั้งอาจฝ่าฝืน พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ

อีกหนึ่งประเด็นที่ ธีระชัย-อดีต รมว.การคลัง ชี้ไว้ก็คือ “การกู้เงินไม่ตรงกับที่ชี้แจง กกต.”เพราะพรรคเพื่อไทยชี้แจงแหล่งที่มาของเงิน สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่าจะมาจากงบประมาณ แต่บัดนี้เปลี่ยนไปเป็นการเสนอพระราชบัญญัติต่อรัฐสภาเพื่อกู้หนี้สาธารณะจึงเป็นการดำเนินการ ที่ไม่ตรงกับคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้แก่ประชาชน ไม่แน่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งหรือใหม่

ถ้าเรื่องไม่ผ่านคณะรัฐมนตรี หรือเรื่องไม่ผ่านรัฐสภา ก็อาจจะมีประชาชนเรียกร้องให้ท่านต้องแสดงความรับผิดชอบ” ธีระชัยระบุไว้

เบื้องต้นเศรษฐากางไทม์ไลน์ไว้ว่าจะส่งร่าง พ.ร.บ.กู้เงินห้าแสนล้านบาทดังกล่าวไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาว่า จะสามารถออกเป็น พ.ร.บ.เสนอต่อสภาได้หรือไม่ภายในเดือน พ.ย.นี้ จากนั้นหากไม่มีปัญหาก็จะส่งต่อไปยังสภาต่อไป เพื่อให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้วเสร็จมีผลบังคับใช้ จนมีการโอนดิจิทัลวอลเล็ตได้ภายใน พ.ค.2567 ตามที่แถลงไว้ ที่คาดว่าตอนนี้ เพื่อไทยและคนในกระทรวงการคลังมีการร่าง พ.ร.บ.ไว้เรียบร้อยแล้ว

หลังจากนี้คงมีการแสดงความเห็นเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตและการออก พ.ร.บ.กู้เงินห้าแสนล้านบาทของรัฐบาลเศรษฐาออกมาเรื่อยๆ

ซึ่งเชื่อได้ว่าฝ่ายเพื่อไทยและเศรษฐาจะใช้วิธีหลังพิงประชาชน 50 ล้านคน ที่จะได้หนึ่งหมื่นบาท มาเป็นกันชน สู้กับฝ่ายที่คัดค้าน-ต่อต้านดิจิทัลวอลเล็ต 

กระนั้น การเข็นดิจิทัลวอลเล็ตไปให้ถึงจุดหมายปลายทางจะสำเร็จหรือไม่ ยังไม่มีใครกล้ารับประกัน เพราะดูแล้ว ขวากหนาม-ระเบิดเวลาหลายลูก รออยู่ข้างหน้าพอสมควร จนไม่แน่ อาจตกม้าตาย เข้าทำนอง คิดได้ แถลงได้ แต่ทำออกมาไม่ได้!.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ในหลวง พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกฯ นำ ครม.ชุดใหม่ เฝ้าฯ ถวายสัตย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรี

'ดิจิทัลวอลเล็ต เสี่ยงได้ไม่คุ้มเสีย เหตุเพิ่มภาระหนี้ล้น กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวไม่ได้

อาจารย์ธรรมศาสตร์ หวั่น ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ได้ไม่คุ้มเสีย เหตุ ‘กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวไม่ได้’ แถมเพิ่มภาระหนี้ล้น สถานะการคลังน่าเป็นห่วง Worst-case scenario หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้ง แนะรัฐบาลพิจารณาให้รอบคอบ ยังมีอีกหลายวิธีที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่า

เลขาฯเพื่อไทย ชี้นายกอบจ.ทยอยลาออก เป็นยุทธศาสตร์ของแต่ละคน

นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหลายคน ทยอยยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งนายกอบจ. ที่ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทยจะมีใครลาออกหรือไม่นั้น