การดึงนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาช่วยเป็นที่ปรึกษาเรื่องกฎหมาย ซ่อนนัยทางการเมือง
แม้แต่การที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าไปพบกับนายวิษณุเมื่อช่วงวันหยุดที่ผ่านมา เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการต่อสู้คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ กรณีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็เช่นกัน
โดยมีรายงานว่า นายเศรษฐาติดต่อขอคำปรึกษาเจ้าของฉายาเนติบริกร ตั้งแต่ตนเองปฏิบัติภารกิจอยู่ต่างประเทศ หรือแม้แต่กลับมาถึงประเทศไทยในวันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคมแล้ว ก็พยายามติดต่อเพื่อไปพบ
ตามรายงานระบุว่า นายเศรษฐาไปหานายวิษณุเมื่อช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พร้อมกับชักชวนให้มาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย รวมไปถึงที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แต่ฝ่ายผู้ถูกชักชวนปฏิเสธตำแหน่งดังกล่าว กระทั่งลงเอยที่ตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)
ไม่เพียงให้เป็นที่ปรึกษาเท่านั้น นายเศรษฐายังขอให้นายวิษณุเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย เพื่อช่วยดูระเบียบ วาระ ข้อกฎหมายต่างๆ ให้ถูกต้อง
ต้องยอมรับว่า รัฐบาลชุดนี้อาจจะมีมือกฎหมาย มีอดีตอัยการสูงสุด ทนายความ นักวิชาการหลายคน แต่ไม่มีมือกฎหมายที่มีความเจนจัดในเรื่องรัฐศาสตร์ สามารถพลิกแพลงกฎหมายได้อย่างแยบยลและมีเครดิต ตลอดจนคอนเนกชันเหมือนกับนายวิษณุ
ในทางการเมือง นายวิษณุถือว่ายังเป็นเต้ยในด้านนี้
แต่อย่างไรก็ดี การมาครั้งนี้ เรื่องฝีมือของนายวิษณุถูกมองว่าเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะบางฝ่ายให้น้ำหนักในมิติทางการเมืองมากกว่า โดยเฉพาะคดีของนายเศรษฐาในศาลรัฐธรรมนูญ
นายวิษณุมีส่วนกับการดีไซน์รัฐธรรมนูญกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ปี 2557 ทั้งฉบับชั่วคราว ทั้งฉบับถาวร รู้เห็นกับการแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระมาตลอด 9 ปี
ซึ่งหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การที่นายเศรษฐาเลือกที่จะปรึกษานายวิษณุ คงไม่ได้อยู่ๆ จะเดินเข้าไปหาเอง แต่น่าจะมีคนชี้นิ้วส่งสัญญาณ หรือเบิกทางให้
เช่นเดียวกัน นายวิษณุคงไม่ตอบรับมาช่วยงานง่ายๆ เพียงเพราะนายเศรษฐาใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือใครติดต่อไปเพื่อขอให้ช่วย แต่ต้องได้รับสัญญาณมาเหมือนกันว่าให้มาช่วย
อย่าลืมว่า ระดับนายวิษณุไม่ได้จะมาช่วยงานใครสุ่มสี่สุ่มห้า ต่อให้ใครจะมองว่าเป็นเนติบริกรที่ผ่านการทำงานกับรัฐบาลมาหลายชุดหลายขั้วก็ตาม
โดยตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นายวิษณุระมัดระวังตัวในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ไม่เอาตัวเองลงไปเสี่ยงในเรื่องอะไรที่มันล่อแหลมหรือเข้าเนื้อ
และต่อให้จะเคยร่วมงานกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่นายวิษณุลงมาช่วยแน่ๆ
อีกทั้งนับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ภาพของนายวิษณุคือมือกฎหมายของฝ่ายอนุรักษนิยม แทบจะไม่เหลือภาพอดีตเสนาบดีในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยแล้ว
การลงมาช่วยนายเศรษฐาจึงเหมือนมีคนบอกให้มา และคนที่ส่งให้มาคงไม่ใช่ระดับนักการเมืองทั่วไป แต่ต้องระดับบิ๊กที่สามารถปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยของรัฐบาลชุดนี้ได้
และอาจจะเป็นคนคนเดียวกับที่ไฟเขียวให้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
รวมไปถึงเป็นคนคนเดียวที่ให้นายวิษณุดำเนินการเกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษของนายทักษิณ ตอนป็นรองนายกรัฐมนตรี และรักษาการ รมว.ยุติธรรม ในช่วงท้ายรัฐบาลก่อน
ที่สำคัญต้องใหญ่ระดับที่สามารถต่อกรกับขบวนการที่พยายามจะเขย่ารัฐบาลนายเศรษฐาอยู่ในเวลานี้ได้
ซึ่งมีการมองว่า การส่งนายวิษณุมาอาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกได้อย่างหนึ่งว่า ผู้กุมอำนาจยังไว้วางใจให้นายเศรษฐาบริหารประเทศอยู่
ขณะที่ในแง่การทำงาน รัฐบาลจะได้ความรัดกุมมากขึ้น นอกจากเรื่องวาระ ครม.ที่จะละเอียดรอบคอบขึ้น นายวิษณุยังเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 ดูเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งหลายเรื่องที่รัฐบาลปรึกษาได้ถูกส่งไปในคณะนี้ อย่างเช่น เรื่องให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกจากราชการ
อย่างเรื่องคุณสมบัตินายพิชิต ที่รัฐบาลส่งไปปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็เป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ที่ตั้งขึ้นมา โดยมีนายวิษณุเป็นประธานพิจารณา
และต้องยอมรับว่า การทำงานของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในช่วงก่อนหน้านี้ หลายเรื่องให้ความเห็นที่ไม่พอใจรัฐบาลนัก ทั้งเรื่องการให้ความเห็นเรื่องการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หรือความเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัตินายพิชิต โดยเฉพาะตัวนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่มีข่าวว่าทำให้นายเศรษฐาหงุดหงิดบ่อยครั้ง จนครั้งหนึ่งมีข่าวว่าจะไม่ต่อวาระการดำรงตำแหน่งให้
แต่เมื่อนายวิษณุมา ท่าทีอาจจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะนายปกรณ์ถือเป็นศิษย์ก้นกุฏิของนายวิษณุ เป็นนักกฎหมายในเครือข่ายเนติบริกร
ออปชันในตัวนายวิษณุมีมากมาย รัฐบาลชุดนี้จะได้ประโยชน์อย่างมาก
นายวิษณุคัมแบ็กครั้งนี้ไม่ได้มาด้วยเหตุผลพิศวาส แต่มาเพื่อภารกิจ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยุทธศาสตร์ ‘กล้าธรรมนัส’ พรรคที่มี ‘พลัง’ ทางการเมือง
แม้จะเป็นเพียงแค่การเลือกตั้งซ่อม สส.กลางเทอมเท่านั้น แต่สำหรับพรรคกล้าธรรมแล้ว ชัยชนะของ ‘บิ๊กโอ’ นายก้องเกียรติ เกตุสมบัติ ที่เขต 8 นครศรีธรรมราช ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่
สัมพันธ์การ(เ)ปิดประตูร่วมรัฐบาล ‘พท.-ปชน.-ภท.’ผันตามคณิตศาสตร์การเมือง
วิวาทะ ระหว่าง ‘พรรคเพื่อไทย’ และ ‘พรรคประชาชน’ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งหลัก ‘ในการแย่งจัดตั้งรัฐบาล’ เมื่อครั้งการเลือกตั้งปี 66 วนกลับอีกครั้ง
ชั้น 14 ป่วยทิพย์ รูปคดี "ศาลฎีกา-ศาลปกครองฯ" ทำ “ทักษิณ” นั่งไม่ติด
ปมตรวจสอบ ชั้น 14 ป่วยทิพย์ ทักษิณ ชินวัตร ที่หลายฝ่ายกำลังเฝ้าติดตามว่า การสอบสวน-ไต่สวนขององค์กรอิสระ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ แพทยสภา องค์กรวิชาชีพของแพทย์ทั่วประเทศจะออกมาอย่างไร?
พท.-ภท.ไปกันต่อ ปี70แดงจับมือส้ม?
กระแสข่าวปรับ ครม.เขี่ยพรรคภูมิใจไทยออกจากรัฐบาล และเตรียมดึงพรรคพลังประชารัฐมา เสียบแทน รวมถึงกระแสสั่งสอนโดยริบโควตากระทรวงมหาดไทย
จับแก๊ง 'พล.ต.อ.' ฉกข้อสอบ โยงเครือข่ายเว็บพนัน 'มินนี่'
ตำรวจไซเบอร์ นำโดย ไซเบอร์อรรถ-พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ยังคงเดินหน้าสนองนโยบายรัฐบาล น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร นายกฯ ในการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์อย่างเข้มข้นทุกรูปแบบจนเป็นที่น่าพอใจ
กางตัวเลขเขี่ยภท. พท.ถูกรุมกินโต๊ะ?
กระแสข่าวปรับ ครม.เขี่ยพรรคภูมิใจไทยออกจากรัฐบาล และเตรียมดึงพรรคพลังประชารัฐมาเสียบแทน หรือสั่งสอน โดยริบโควตากระทรวงมหาดไทย