18 มิ.ย.ลุ้น 4 คดีร้อน จับตาใครจะพินาศ?

“การเปลี่ยนขั้วการเมืองต้องไปดูความสำคัญในคดีของนายเศรษฐาด้วย ถ้าต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ จะทำให้ต้องเลือกนายกฯ ใหม่และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ถ้าถึงตอนนั้นโอกาสที่จะสลับขั้ว ข้ามขั้วอาจเกิดขึ้น”

จับตาว่าในวันที่ 18 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป จะมีการพิจารณาคดีทางการเมือง 4 ประเด็นร้อน ที่จะส่งผลสะเทือนไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาล การเมืองไทยในระยะเวลาต่อไป และจะมีใครต้องพินาศหรือไม่ 

สำหรับ 4 คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ 3 คดี และ 1 คดีในศาลอาญา  

คดีแรกศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ขาดคำร้องกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภาผ่าน พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ประกอบไปด้วย มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือไม่

วันนั้นเป็นคดีเดียวที่ตัดสินเด็ดขาด ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าศาลท่านจะยกฟ้องผ่าน เนื่องจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ก่อนจะมีการถวายทูลเกล้าฯ ประกาศเป็นกฎหมาย ได้มีการตรวจสอบจากศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว ฉะนั้นคงไม่กลับมติที่ตัวเองเคยพิจารณาเห็นชอบ 

คดีที่สอง “ยุบพรรคก้าวไกล” ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ กกต.ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันจันทร์ที่ 17 มิ.ย.2567 และให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป กำหนดนัดพิจารณาต่อไปวันอังคารที่ 18 มิ.ย.2567

คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะยังไม่ตัดสิน โดยพรรคก้าวไกลได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ทั้ง 9 ประเด็น ล่าสุดยังอ้างว่าประธาน กกต.ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบในการยื่นยุบพรรค ที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้ต่อสู้คดี    

แต่ปลายทางฟันธงกันว่า พรรคก้าวไกลไม่น่ารอดถูกยุบ และตัดสิทธิ์การเมืองคณะกรรมการบริหารพรรค นำโดย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคส้ม    

เบื้องต้นจะไม่กระทบต่อการเมืองระยะสั้น อาจมีบ้างเรื่องการชุมนุม หรือเกิดความวุ่นวายในโลกโซเชียล แต่จะจุดไม่ติด เพราะรอหวังผลระยะยาว บ่มเพาะคะแนนความสงสาร และถูกกลั่นแกล้ง เพื่อหวังชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า  

คดีที่สาม ศาลรัฐธรรมนูญนำเรื่องการถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ก่อนหน้านี้ได้ตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม โดยมีคำสั่งให้คู่กรณียื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันจันทร์ที่ 17 มิ.ย.2567 และให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป กำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันอังคารที่ 18 มิ.ย.2567

ในวันดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ตัดสินเช่นกัน แต่ก็ต้องดูคำสั่งว่าศาลจะดำเนินการพิจารณาคดีอย่างไร และเปิดห้องไต่สวนหรือไม่

โดยฝ่ายหนึ่งมี 40 สว. ที่ได้รับการสนับสนุนจากคนบ้านป่า และอีกด้านหนึ่งคือ นายกฯ ที่ได้ “เนติบริกร” หรือ “วิษณุ เครืองาม” มาเป็นที่ปรึกษา ที่มีผลงานในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งไม่เคยแพ้คดีในศาลรัฐธรรมนูญ ล่าสุดนายกฯ ได้แสดงความมั่นใจ ไม่คิดลาออก-ยุบสภา ไม่ใช้วิธีพิสดารในการหนี  

คดีนี้มีการกำหนดฉากทัศน์ หากสมมุติว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินในเวลาต่อมาให้นายกฯ มีความผิด ครม.ทั้งหมดก็จะสิ้นสภาพ เปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกฯ คนใหม่ สิ่งที่ต้องจับตาคือจะมีการพลิกขั้วหรือไม่  

อีกด้านก็มองว่า “เศรษฐา” จะรอดเพราะผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองในเวลานี้ และต้องการปิดประตูโอกาสที่จะเกิดการพลิกขั้ว อีกทั้งแคนดิเดตนายกฯ คนอื่นๆ ยังไม่มีความพร้อม โดยเฉพาะ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ถูกเย้ยเป็นมะม่วงบ่มแก๊ส และคุณพ่อคุณแม่ยังไม่อยากให้ลูกสาวตกไปอยู่ในพื้นที่อันตราย     

คดีการเมืองที่สี่ อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดมาตรา 112 กรณีให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้เมื่อปี 2558 พาดพิงสถาบัน โดย ทางพนักงานอัยการได้นัดให้นายทักษิณมาพบอีกครั้งวันที่ 18 มิ.ย.2567 เพื่อนำตัวฟ้องศาลอาญา 

จับตาดูว่า "ทักษิณ" จะมาตามนัดหรือไม่ หรืออัยการสูงสุดรับพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมครั้งที่สองเพื่อยืดระยะเวลาสั่งฟ้องออกไป หรือหนีคดีอีกครั้ง    

หลายฝ่ายมองว่า “ทักษิณ” จะไม่มีหนีไปไหน เพราะมีวิธีเอาตัวรอดไม่ต้องนอนคุก ทั้งการประกันตัวในชั้นศาล หรือหากไม่ได้รับการประกันตัว ก็มีกลไกผ่านกระทรวงยุติธรรม ทั้งนอนโรงพยาบาล หรือบ้านจันทร์ส่องหล้า ตามระเบียบ "เฮาส์อาร์เรสต์" ที่ออกประกาศมารองรับไว้หมดแล้ว

จากนั้นจะต่อสู้ผ่านกระบวนการยุติธรรมต่อไป ที่มีถึง 3 ชั้นศาล โดยมีทั้งโอกาสชนะคดีและรอลงอาญา   

หรือหากยังไม่เข็ดก็สั่งให้ลิ่วล้อในพรรคเพื่อไทยเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมโดยรวมคดีมาตรา 112 เข้าสภาอีกครั้ง แม้ไม่กี่วันผลการเปิดรับฟังคิดเห็นของสภา จะพบว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ก็ตาม    

ด้านนายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงปรากฏการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ว่า ในเดือน มิ.ย.มีหลายเรื่องที่มาบรรจบกันพอดี เกิดกระแสข่าวจำนวนมาก เช่น อาจเกิดรัฐประหาร ผนวกกับการเลือก สว.ที่กำลังดำเนินการ คิดว่าคงไม่ถึงขั้นรัฐประหาร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภายใต้สถานการณ์สังคมบริบททางการเมืองแบบประเทศไทย ที่ประชาธิปไตยยังไม่ตั้งมั่น 

“ถามว่าสถานการณ์เหล่านี้มีโอกาสนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ายังมีโอกาส แต่ผมคิดว่าสุดท้ายการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นล้มรัฐบาล ล้มพรรคก้าวไกล หรือล้ม สว. คงไม่ถึงขนาดนั้น แม้ว่าตอนนี้จะมีทฤษฎี 3 ล้ม แต่ผมขอเสนอล้มที่ 4 คือขอให้คนที่คิดแบบนี้ยกเลิกความคิดนี้ เพื่อให้บ้านเมืองได้ไปต่อ เพราะถ้าล้มนายกฯ พรรคก้าวไกล หรือล้ม สว. สุดท้ายผลที่เกิดขึ้นคือความขัดแย้งทางการเมือง” นายยุทธพรกล่าว

นักวิชาการรัฐศาสตร์ผู้นี้กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนขั้วการเมืองต้องไปดูความสำคัญในคดีของนายเศรษฐาด้วย ถ้าต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ จะทำให้ต้องเลือกนายกฯ ใหม่และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ถ้าถึงตอนนั้นโอกาสที่จะสลับขั้ว ข้ามขั้ว และเกิดกรณียุบพรรคก้าวไกลในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน ก็เป็นไปได้ที่จะเห็นเรื่องการย้ายพรรค ซึ่งอาจนำไปสู่พรรคใหม่และอาจไปจับขั้ว ฉะนั้น เดือน มิ.ย. ทั้ง 3 เรื่องนี้มีความสัมพันธ์กันหมด

ถามถึงกรณีนายทักษิณพาดพิงถึงคนในป่า ไม่ใช่สัญญาณจะเปลี่ยนขั้วการเมืองใช่หรือไม่ นายยุทธพรกล่าวว่า เป็นการโต้ตอบของนายทักษิณที่เกิดขึ้นกับกรณีที่ 40 สว.ร้องศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบนายเศรษฐา ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา 40 สว. เป็น สว.ที่เกิดจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าที่มาที่ไปแต่ละ สว.มาอย่างไร 

“คิดว่าถ้าปรับก็ไม่ใช่ทั้งพรรค เพราะพรรคดังกล่าวมีแกนนำบางคนใกล้ชิดสนิทสนมกับพรรคเพื่อไทยอยู่ และอาจดึงพรรคบางพรรคซึ่งอยู่ในฝ่ายค้านเข้ามาไม่ทั้งพรรคเช่นเดียวกัน เราจะได้เห็นปรากฏการณ์แปลกๆ ในการเมืองไทย คือร่วมรัฐบาลครึ่งพรรค และเป็นฝ่ายค้านครึ่งพรรค เรียกว่าเป็นรัฐบาลคนละครึ่ง ฝ่ายค้านคนละครึ่ง” นักวิชาการกล่าวปิดท้าย 

นี่คือทิศทางการเมืองของ 4 คดีสำคัญ ที่จะส่งผลต่อทิศทางการเมืองไทยในเวลาต่อไป ส่วนบ้านเมืองลุกเป็นไฟ-พลิกขั้ว-ข้ามขั้ว หรือท้ายสุดใคร-พรรคไหนจะพินาศหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลรธน. ถามอัยการสูงสุด ปมคำร้องทักษิณครอบงำเพื่อไทย ขีดเส้นตอบกลับใน 15 วัน

ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาในคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กล่าวอ้างว่ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ

สื่อถึงใคร? 'ดิเรกฤทธิ์' ซัดถ้ายอมให้มีคนไม่รับโทษตามความผิด กฎหมายจะมีความหมายได้อย่างไร

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อดีต สว. ที่ปรึกษาด้านการเมืองการปกครองและกฎหมายมหาชน สถาบันสุจริตไทย

เปิดขั้นตอน 'กกต.-ศาลรธน.' ก่อนเชือด"เพื่อไทย-พรรคร่วม"

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดสำหรับ "พรรคเพื่อไทย" เข้ามาแบบไม่ให้เว้นวรรคได้พักกัน โดยล่าสุด นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีมีผู้มายื่นร้องขอให้พิจารณายุบพรรคเพื่อไทยและ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม