ยกแรก The Battle ฝ่ายค้านVSรัฐบาล มิ่งขวัญลาออก-จะไปอยู่พรรคไหน?

ผ่านไปแล้วสำหรับแมตช์แรกสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ก.พ. และจะมาต่อกันแมตช์ที่ 2 วันสุดท้าย ศุกร์ที่ 18 ก.พ.

การประชุมที่ดำเนินมาต่อเนื่องจนถึงช่วงเย็นของวันที่ 17 ก.พ. ภาพรวมก็เป็นอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์คือ เพราะเป็นการ อภิปรายทั่วไป ไม่ใช่ ศึกซักฟอก-อภิปรายไม่ไว้วางใจ         

ดังนั้นแม้ก่อนหน้านี้ฝ่ายค้านจะโหมโรงเรียกน้ำย่อยว่าการอภิปรายครั้งนี้จะ เข้มข้น-เปิดแผล รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ยังไงดีกรีความเข้มข้นย่อมน้อยกว่าศึกซักฟอกแน่นอน

ผนวกกับฝ่ายค้านเองก็เพิ่งอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลไปเมื่อกันยายนปีที่แล้ว ตอนนี้ผ่านมาแค่ 4 เดือนกว่า ขนาดศึกซักฟอกรอบที่แล้วยังไม่ค่อยมีประเด็นอะไรเปิดแผลรัฐบาลจนเป็นแผลอักเสบ จึงทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะรัฐบาลประเมินไว้ก่อนแล้วว่า ภาพรวมการอภิปรายคงไม่ได้ส่งผลสะเทือนรัฐบาลถึงกับทำให้สั่นคลอน

ซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามคาด เพราะภาพรวมการอภิปรายหลายชั่วโมงที่ผ่านไปเมื่อ 17 ก.พ. ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการพูดถึงการบริหารราชการแผ่นดินที่ฝ่ายค้านพยายามบอกว่า "รัฐบาลผิดพลาดบกพร่องในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ-สาธารณสุข-สังคม จนทำให้ประชาชนเดือดร้อน" รวมถึงพยายามจะบอกว่า การที่พลเอกประยุทธ์ยังเป็นนายกฯ อยู่ต่อไป มีแต่จะสร้างความเสียหายให้ชาติบ้านเมือง

อันเป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายค้านต้องอภิปรายไปในแนวทางนี้ ที่ต้องยอมรับว่าก็มี ส.ส.ฝ่ายค้านหลายคนอภิปรายภาพรวมได้ค่อนข้างดี แม้จะพบว่าก็ไม่ได้มีข้อมูล-ประเด็นอะไรใหม่ ยังเป็นเรื่องเดิมๆ ที่ฝ่ายค้านเคยอภิปรายหรือออกมาแสดงความเห็นก่อนหน้านี้ไปแล้ว

ไฮไลต์สำคัญๆ ของการอภิปรายที่ผ่านไปวันแรก ก็มีอย่างเช่น การเปิดหัวการประชุมด้วยการอภิปรายของผู้นำฝ่ายค้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ระบุตอนหนึ่งว่า ญัตตินี้เป็นญัตติแพงทั้งแผ่นดิน จนทั้งแผ่นดิน พังทั้งแผ่นดิน สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างรุนแรง เข้าทำนองข้าวของแพง ค่าแรงถูก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลวผิดพลาดในทุกด้านของรัฐบาลนี้

"เชื่อว่านายกฯ รักประชาชน ขอให้เอาหัวใจมามองสิ่งดีๆ เพื่อทำประโยชน์ให้ประชาชน ด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อมี ครม.ใหม่ หรือประกาศยุบสภา มอบอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจ" ผู้นำฝ่ายค้านระบุทิ้งท้าย

ส่วนการหักล้าง-ชี้แจงจากฝ่ายรัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี" ชี้แจงกลางที่ประชุมสภา ตอนหนึ่งว่า อะไรที่ต้องนำไปแก้ไขก็จะดำเนินการ รัฐบาลพยายามดำเนินการมาตลอด ทุกประเด็นชี้แจงได้หมด ทั้งเศรษฐกิจ-วัคซีน-โรคระบาด-ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด-ความคืบหน้าการปฏิรูปการเมือง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

"เรื่องการบริหารที่ส่อทุจริต อย่าพูดคำนี้กับผมหากไม่มีหลักฐาน ยืนยันผมจะไม่มีการทุจริตโดยเด็ดขาดทั้งด้านนโยบายและตัวผม"

ขณะที่ประเด็นเรื่องที่ฝ่ายค้านพยายามชี้ว่ามีรัฐมนตรีหรือคนในรัฐบาลมีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจ ที่น่าสนใจก็มี เช่น การอภิปรายของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ติดตามตรวจสอบเรื่อง ที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ของตระกูลชิดชอบ-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมและเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย มาตลอด รอบนี้พรรคประชาชาติก็ใช้เวทีนี้อภิปรายประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง โดยเน้นไปที่การที่ยังไม่มีความคืบหน้าในการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดิน เนื้อที่ 5,083 ไร่ แม้ศาลฎีกาจะตัดสินแล้วว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่ก็มีการทำให้ปมปัญหาดังกล่าวยืดเยื้อออกไปอีก เพราะการรถไฟฯ ไปยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ทั้งที่คดีดังกล่าวศาลฎีกาได้ตัดสินไปแล้ว

"ขอตั้งข้อสังเกตว่าอาจเพราะในที่ดินดังกล่าว นายศักดิ์สยามที่ยอมรับว่าเป็นที่ที่ตัวเองและญาติพี่น้องอยู่ อีกทั้งเป็นพื้นที่สนามฟุตบอลช้างอารีน่า และบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ผู้ว่าฯ การรถไฟจึงไม่กล้าฟ้องเจ้านายของตัวเอง"

อย่างไรก็ตาม ขณะที่การอภิปรายของฝ่ายค้านดำเนินไปเรื่อยๆ มีเข้มข้นบางช่วง มีฉายหนังซ้ำบ้างหลายคน ก็ปรากฏว่าในช่วงเย็น บรรยากาศก็กลับมาเป็นที่สนใจของคนในห้องประชุม และคนที่ติดตามการอภิปราย

เมื่อปรากฏว่า มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่เป็นอดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่ตอนเลือกตั้งปี 2562 มิ่งขวัญฉายเดี่ยว พา ส.ส.เศรษฐกิจใหม่เข้าสภารวมกันถึง 6 คน โดยเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด แต่ในช่วงจัดตั้งรัฐบาล มิ่งขวัญไม่ยอมเอาพรรคเข้าร่วมรัฐบาลตั้งแต่แรก แม้จะมีข่าวว่าพลังประชารัฐเสนอโควตา รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาให้พรรคเศรษฐกิจใหม่ ทำให้ ส.ส. 5 คนของพรรคเศรษฐกิจใหม่และคนในพรรคไม่พอใจ เลยจัดการ ยึดอำนาจทั้งหมดในพรรคจากมิ่งขวัญ แล้วลอยแพ มิ่งขวัญ จนมิ่งขวัญกับพรรคเศรษฐกิจใหม่แยกทางกันเดินมาร่วม 2 ปีเศษ

ท่ามกลางกระแสข่าวที่ออกมาตลอดก่อนหน้านี้ว่า มิ่งขวัญจะไปทำการเมืองกับพรรคการเมืองใหม่ หลังมีคนมาทาบทามหลายกลุ่ม เช่น พรรคสร้างอนาคตไทยของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, ไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, พรรครวมไทยยูไนเต็ดของวินท์ สุธีรชัย หลังลาออกจากพรรคก้าวไกล เมื่อปีที่แล้ว แม้แต่กับ พรรคก้าวไกลก็เคยมีข่าวลือว่า มีคนโยนชื่อมิ่งขวัญให้ส่งลงชิงผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคก้าวไกลมาแล้ว

สุดท้าย มิ่งขวัญ ก็มาแย่งซีนการอภิปรายเมื่อ 17 ก.พ.ในตอนเย็น เมื่อประกาศลาออกจาก ส.ส.กลางสภา แบบหลายคนคาดไม่ถึง เพราะไม่มีข่าวใดๆ ออกมาก่อน

"พรรคเศรษฐกิจใหม่เราเคยประกาศจุดยืนไม่ร่วมเป็นรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ทำให้เกิดศัพท์ขึ้นมาสองคำ คือคำว่างูเห่า และลิงกินกล้วย พล.อ.ประยุทธ์ว่า ท่านไปทำอะไร พวกเขาเหล่านั้นจึงเปลี่ยนจุดยืน สองปีกว่าผมไม่มีความสุขกับการทำงาน ขอลาออกตั้งแต่วันนี้ ให้มันจบ ผมยังคงทำกิจกรรมทางการเมือง จะออกไปเตรียมตัวเพื่อเตรียมการเลือกตั้งครั้งต่อไป" มิ่งขวัญประกาศกลางสภา

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า พรรคการเมืองใหม่-กลุ่มการเมืองใหม่ที่มิ่งขวัญจะไปอยู่ด้วย ขณะนี้มีการคุยกันเรียบร้อยหมดแล้ว กำลังรอความชัดเจนบางอย่างเพื่อเปิดตัวต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ 

  ทั้งหมดคือซีนการเมืองในห้องประชุมสภาที่ผ่านไปแล้วสำหรับแมตช์แรกของการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ที่จะสิ้นสุดศุกร์ที่ 18 ก.พ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หาก ‘ไผ่’ วืด ‘เบนซ์’ เต็งหนึ่งรมต. เสียบแทน ‘โควตากลาง’ พปชร.

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มั่นใจว่าคุณสมบัติของ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ยังนั่งเป็นรัฐมนตรีได้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไม่รับคำร้อง กรณีนายไผ่ขอร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ถูก 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ละเมิดจนไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ กรณีระบุว่า ขาดคุณสมบัติ

ครม.เศรษฐา 2 ทักษิณเคาะโผ ฉากทัศน์กองทัพยุค "บิ๊กนิด"

ชัดเจนแล้วว่า ครม.เศรษฐา 2 ที่จะเป็นการปรับ ครม.ครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะเกิดขึ้นแน่นอน โดยคาดว่า อาจจะเกิดขึ้นภายในปลายเมษายนนี้ หรือช้าสุดไม่เกินกลางเดือน พ.ค. เว้นแต่มีสถานการณ์แทรกซ้อนทำให้การปรับ ครม.อาจขยับออกไปได้

ลดความเสี่ยง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ปรับ ครม.เค้นผลงานรัฐบาล

เรือธง ล้มไม่ได้ เพราะมีผลต่อเครดิตของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรืออนาคต สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท

โละบ้าน...ค้างสต๊อก แผนลับทับซ้อนเสี่ยงคุก!

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมโลก ตามที่กระทรวงการคลังเป็นผู้เสนอ

เดินหน้า ดิจิทัลวอลเล็ต เดิมพันสำคัญ รัฐบาลเพื่อไทย

หลังรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อยู่ในสภาพชะงักงัน ไม่สามารถเดินหน้า”ดิจิทัลวอลเล็ต”ให้เป็นไปตามไทม์ไลน์เดิมที่เคยวางไว้คือ จะแจกเงินประชาชนคนละหนึ่งหมื่นบาท ได้ภายในวันที่ 1 พ.ค. 2567

จับตา10เมษาดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลเลื่อน(แจก)อีก เสียคน!

พอพรรคเพื่อไทยหาเสียงเมื่อครั้งเลือกตั้งหลังสุด บอกว่าจะแจกเงิน 1 หมื่นบาท ประชาชนหูผึ่งทันที แต่ผ่านมานับเป็นเวลา 7 เดือนที่เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ก็ยังไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ แบบนี้เสียเครดิต เพราะถือว่าเบี้ยวหนี้