‘แบงก์ชาติ’ ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยช้าไปไม่ดี

‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ ชี้ขึ้นดอกเบี้ยช้าไปไม่ดี ต้องมองบริบทประเทศเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องขยับตามต่างชาติ รับห่วงเครื่องยนต์เงินเฟ้อติดกระทบกลุ่มรายได้น้อยอ่วม ทำเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ต่อเนื่อง พร้อมออกมาตรการอุ้มเพิ่มเติม

14 มิ.ย. 2565 – นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย จำเป็นต้องขึ้นกับบริบทของประเทศเป็นสำคัญ และคงไม่ใช่การปรับขึ้นดอกเบี้ยไปตามทิศทางของธนาคารกลางประเทศหลัก ๆ เนื่องจากบริบทของไทย แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมาจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากฝั่งอุปสงค์เป็นหลัก ไม่ใช่จากฝั่งอุปทาน โดยเงินเฟ้อปี 2565 น่าจะวิ่งไปสูงสุดที่ 6.2% ซึ่งจะพีคสูงสุดในไตรมาส 3/2565 ก่อนจะทยอยปรับลดลงมาในระยะต่อไป

ทั้้งนี้ โจทย์ด้านนโยบายการเงินที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรให้การฟื้นตัวไปอย่างต่อเนื่อง แม้จะฟื้นตัวไม่เร็ว แต่ต้องต่อเนื่อง โดยหากไม่ดูแลเรื่องเงินเฟ้อด้วย ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวไม่ต่อเนื่อง เกิดการสะดุด จึงเป็นที่มาว่าทำไมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงมีการพิจารณาบริบทของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน พิจารณาภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินฟ้อที่จะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งบริบทในปัจจุบันทำให้เห็นว่าความจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเหมือนในอดีตจึงน้อยลง และต้องเริ่มปรับโหมดคิดถึงการเข้าไปสู่ภาวะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ปกติมากขึ้น ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับปัญหา เป็นการสร้างกันชนให้เศรษฐกิจ

“การขึ้นดอกเบี้ยต้องดูบริบทของเรา ไม่ควรต้องตามต่างชาติ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย ก็ไม่จำเป็นว่าไทยต้องขึ้นตาม แม้ว่าจะเป็นเรื่องจริงที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย แล้วไทยไม่ขึ้น อาจกระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยไม่มีปัญหา เงินทุนเคลื่อนย้ายก็ไม่ได้ไหลออก ตอนนี้สุทธิแล้วยังไหลเข้า ดังนั้นสิ่งที่ไทยต้องดู คือเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เสถียรภาพทางการเงิน” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นอกจากนี้ มองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะต้องไม่ขึ้นช้าหรือเร็วจนเกินไป เพราะถ้าขึ้นช้าเกินไปจะไม่ดี นโยบายการเงิน หรือนโยบายดอกเบี้ย เทียบเคียงแล้วเหมือนการเหยียบคันเร่งกับการแตะเบรค ที่ผ่านมาไทยใช้นโยบายการเงินผ่อนปรนมาก และเป็นเวลานาน ซึ่งเมื่อเทียบกับภูมิภาคแล้ว ดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่ำสุดในภูมิภาค ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงติดอันดับในภูมิภาค

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า เป็นหน้าที่ของ กนง. ที่จะตัดสินใจว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ส่วนจะปรับขึ้นต่อเนื่องหรือไม่นั้น ก็ต้องติดตาม เพราะว่าไม่ได้มีเป้าหมายล็อกไว้ในใจ และต้องพิจารณาในทุก ๆ ปัจจัย รวมถึงค่าเงินบาทด้วย ส่วนผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น จะเกิดกับผู้มีรายได้น้อยมากกว่า แต่ก็ยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสูง โดย กนง. มีเครื่องมือในการเข้าไปดูแลผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ย เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ คลินิกแก้หนี้ เป็นต้น ถือเป็นมาตรการที่ยืดหยุ่นและครอบคลุม แต่ถ้ายังไม่พอก็พร้อมที่จะออกมาตรการเสริมเพิ่มเติมขึ้นมาอีก

ทั้งนี้ มองว่าโอกาสที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศน้อยมาก ๆ โจทย์ใหญ่ตอนนี้คือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ภายใต้การทำนโยบายแบบสมดุล โดยต้องให้น้ำหนักที่สุดคือการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ถ้าท่องเที่ยวไม่ฟื้น เศรษฐกิจจะกลับมาในภาพเดิมเป็นไปได้ยาก แต่สถานการณ์ตอนนี้ดีขึ้นแล้วเพราะมีการเปิดประเทศก็จะช่วยให้กลับสู่ภาวะปกติได้ ส่วนส่งออกก็มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจมากที่สุด แต่ก็เป็นลักษณะการฟื้นตัวทางตัวเลข

“การผ่อนคลายนโยบายการเงินของเรา ก็เหมาะกับสิ่งที่เราเจอ คือเราโดนผลกระทบจากโควิดค่อนข้างมาก เมื่อมองไปข้างหน้า ความจำเป็นตรงนี้น้อยลง คือไม่ใช่การเหยียบเบรค แต่เป็นการถอนคันเร่ง เหตุผลที่บอกว่าทำช้าไปไม่ดี เพราะถ้าปล่อยไว้นานเกินไป ปล่อยให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด ตอนนี้จะมาถอนคันเร่งอย่างเดียวคงไม่พอแล้ว ต้องเหยียบเบรค และถ้ายิ่งคอยนาน ก็ต้องเหยียบเบรคแรงขึ้น ถ้าขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป โอกาสที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น ก็จะตามมา ซึ่งเป็นอะไรที่เราไม่อยากเห็น ดังนั้น แนวทางการปรับดอกเบี้ย ต้องทำอย่าช้าเกินไป เพื่อจะไม่ต้องทำแรงเกินไป” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

สำหรับภูมิคุ้มกันด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ดี มีด้วยกัน 5 ด้าน ได้แก่ 1.เสถียรภาพด้านต่างประเทศ ซึ่งของไทยตอนนี้ถือว่าค่อนข้างดี หนี้ต่างประเทศระยะสั้นไม่สูงมาก เงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น คิดเป็น 2 เกือบ 3 เท่า2. เสถียรภาพการคลัง แม้ว่าหนี้สาธารณะจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 60% ต่อจีดีพี จากเดิมที่ 40% ต่อจีดีพี เป็นผลจากโควิด-19 ทำให้ภาคการคลังต้องอัดเงินเข้าระบบ แต่หากไม่มีการดำเนินการในส่วนนี้เศรษฐกิจจะมีปัญหามากขึ้น โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มในปัจจุบันยังไม่ถึงจุดที่น่าเป็นห่วง แต่ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ชะล่าใจไม่ได้

3.เสถียรภาพด้านการเงิน โดยเฉพาะระบบสถาบันการเงินอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง แต่มีบางกลุ่มที่ต้องจับตา โดยเฉพาะภาคครัวเรือน สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มต่อเนื่อง และเร่งขึ้นในช่วงโควิด-19 ที่ล่าสุดอยู่ที่ 90% ของจีดีพี 4. เสถียรภาพด้านราคา โดยเงินเฟ้อปัจจุบันผันผวนมาก หลังปัญหาความขัดแย้งของยูเครนและรัสเซีย ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงเร็ว ทำให้มองว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้น่าจะเกินกรอบเป้าหมายทั้งปี และ 5.กลไกหรือกระบวนการดำเนินนโยบายที่ดี เป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด นโยบายที่คลอดออกมาอาจจะเหมาะสมกับสถานการณ์

อย่างไรก็ดี ยืนยันว่า ธปท.ไม่ได้ใส่ใจเงินเฟ้อเพียงเพราะเป็นตัวเลขหรือเคพีไอที่ต้องทำให้เข้าเป้าหมาย แต่เหตุผลที่เงินเฟ้อสำคัญ มี 2 ประเด็น คือ 1. เศรษฐกิจไทยใช้กลไกตลาดเป็นหลัก การพึ่งกลไกตลาดต้องดูเรื่องราคา ถ้าเงินเฟ้อสูง สัญญาณของราคาก็มีโอกาสจะผิดเพี้ยน การวางแผนธุรกิจลำบาก การลงทุนชะงัก 2. กระทบเรื่องปากท้อง เพราะท้ายที่สุดที่ให้ความสำคัญในการส่งสัญญาณทางเศรษฐกิจ นั่นคือ ความเป็นอยู่ของคนโดยรวม โดยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น กระทบกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมากที่สุดเพราะต้องพึ่งพาค่าจ้างเป็นหลัก ซึ่งค่าจ้างไม่ค่อยขึ้นตามเงินเฟ้อ และสัดส่วนการบริโภคของคนรายได้น้อย หนักไปทางอาหาร เครื่องดื่ม พลังงานเป็นหลัก ซึ่งสินค้าหมวดนี้เป็นหมวดที่เงินเฟ้อสูงสุด ผลกระทบเฟ้อจึงตกหนักกับครัวเรือนรายได้น้อยมากกว่าครัวเรือนรายได้สูง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สมาคมธนาคารไทย' ลดดอกเบี้ยตอกย้ำความขัดแย้งนายกฯกับผู้ว่าฯธปท.

'อดีตรมว.คลัง' ชี้สมาคมธนาคารไทยลดดอกเบี้ย ตอกย้ำความขัดแย้งระหว่างนายกฯ กับผู้ว่าฯแบงค์ชาติ กลยุทธ์ที่นายกฯ งัดมาใช้นั้นไม่สำเร็จ ไม่มีผลต่อการลงทุนภาคเอกชนเพราะเป็นเพียงระยะสั้น

'พิชัย' เซ็ง 'แบงก์ชาติ' ไม่ลดดอกเบี้ยถามสังคมแบบนี้ควรมีอิสระไหม!

'พิชัย' ผิดหวัง 'แบงก์ชาติ' ไม่ลดดอกเบี้ย ทั้งที่ภาพรวมเศรษฐกิจแย่ แต่กลับไม่เดือดร้อน ชี้ไม่ใช่หน้าที่แบงก์ชาติมากำหนดอัตราการเติบโต แนะอย่าอ้างว่าต้องอิสระบนความเดือนร้อนของประชาชน

'ผู้ว่าแบงก์ชาติ' รูดซิปปาก หลัง 'เศรษฐา' อ้างทุกภาคส่วนเห็นด้วยแจกเงินดิจิทัล

ภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ เป็นประธานการประชุม

นายกฯ แขวะ 'ธปท.' ชมคนพูดลดดอกเบี้ยจิตใต้สำนึกดี

'เศรษฐา' แขวะ 'แบงก์ชาติ' ไม่ยอมหั่นดอกเบี้ย ชมเปาะเหล่าทัพ-หน่วยงานรัฐ มีจิตสำนึกดีอยากให้ลด ขอบคุณเห็นความลำบากประชาชน ย้ำเรื่องหนี้สารตั้งต้นหายนะประเทศ

'กุนซือนายกฯ' กระทุ้งอีก! 'ธปท.' ต้องเร่งลดดอกเบี้ย

'พิชัย' ห่วงเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ หลังเงินเฟ้อติดลบ 5 เดือนซ้อนสวนทางโลก จี้ ธปท. หั่นดอกเบี้ยนโยบาย ลดช่วงห่างเงินกู้เงินฝาก ตามสภาพัฒน์ฯ แนะนำ

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ วันหยุดเพิ่มเป็นกรณีพิเศษของสถาบันการเงิน

ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส. 84/2567 เรื่อง การกำหนดวันหยุดทำการของสถาบันการเงินและสถาบันการ