'สินิตย์' โชว์ผลสำเร็จการขึ้นทะเบียน GI ปี 65 ทำได้ 25 รายการ

“พาณิชย์”โชว์ผลสำเร็จการขึ้นทะเบียน GI ปี 65 ทำได้รวม 25 รายการ ส่งผลให้มีสินค้า GI ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วรวม 177 สินค้า สร้างมูลค่าการตลาดรวมกว่า 48,000 ล้านบาท เผยปี 66 เตรียมลุยผลักดันขึ้นทะเบียนต่อ ตั้งเป้า 20 สินค้า พร้อมเดินหน้าควบคุมคุณภาพ เพิ่มช่องทางขายทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ ดันแหล่งผลิตเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

19 ม.ค. 2566 – นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ได้ตามเป้าหมายจำนวน 25 รายการ เช่น ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา ข้าวหอมกระดังงานราธิวาส ไชโป้วโพธาราม พุทรานมบ้านโพน และผ้าไหมปักธงชัย เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันมีสินค้าท้องถิ่นไทยที่ขึ้นทะเบียน GI แล้วทั้งสิ้น 177 สินค้า สร้างมูลค่าการตลาดรวมกว่า 48,000 ล้านบาท และยังสามารถผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ในต่างประเทศ ได้แก่ มะขามหวานเพชรบูรณ์ และลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ในประเทศเวียดนาม

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้จัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า GI และช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า GI เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI ตอบสนองความต้องการของตลาด ตลอดจนขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้า GI ได้อย่างกว้างขวางด้วย

นายสินิตย์กล่าวว่า ผลงานสำคัญอีกผลงานหนึ่ง คือ การร่วมมือกับมิชลินไกด์ประเทศไทย พาเชฟระดับมิชลิน นำโดยเชฟชาลี กาเดอร์ จากร้าน 100 มหาเศรษฐ์ ร้านอาหารอีสานที่ได้รางวัลบิบ กูร์มองด์ จากมิชลินไกด์ประเทศไทย และเชฟเดวิด ฮาร์ตวิก จากร้าน IGNIV Bangkok ที่ได้รับรางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประจำปี 2565 ลงพื้นที่คัดสรรวัตถุดิบ GI จากแหล่งผลิตในภาคอีสาน 4 สินค้า คือ ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ หอมแดงศรีสะเกษ กระเทียมศรีสะเกษ และเนื้อโคขุนโพนยางคำ เพื่อนำมารังสรรค์เป็นเมนูอาหารฟิวชันที่ผสมผสานความเป็นไทยและสากลได้อย่างลงตัว และถ่ายทอดอัตลักษณ์สินค้า GI เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ช่วยยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นไทยสู่สากล อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจในการนำวัตถุดิบ GI มาสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ ให้นักท่องเที่ยวและผู้บริโภคได้ลิ้มลอง

สำหรับเป้าหมายการส่งเสริมสินค้า GI ไทยในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ไทยอีก 20 สินค้า เร่งรัดคำขอขึ้นทะเบียน GI ในต่างประเทศ จัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 15 สินค้า รวมถึงจัดงานส่งเสริมและขยายช่องทางการตลาดทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI ไทยตามแนวนโยบาย GI Plus เช่น การเผยแพร่อัตลักษณ์สินค้า GI ผ่านเมนูอาหารไทย การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามทันสมัย การส่งเสริมแหล่งผลิตสินค้า GI ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างการรับรู้ทั้งในและต่างประเทศ ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการดึงทรัพยากรที่มีศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์มาใช้ในการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมพัฒน์ฯ จับมือ Biz Club Thailand ศูนย์การค้าซีคอน บางแค และพันธมิตรภาคธุรกิจ ช่วยเหลือผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอี เปิดพื้นที่จัดงาน Biz Club Fair 2023 By DBD ครั้งที่ 1: 30 มีนาคม-3 เมษายน 2566 และครั้งที่ 2: 6-10 เมษายน 2566

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือ Biz Club Thailand ศูนย์การค้าซีคอน บางแค และพันธมิตรภาคธุรกิจ เปิดพื้นที่จัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้า Biz Club Fair 2023 By DBD ช่วยเหลือผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอี กว่า 100 ราย สินค้ามากกว่า 300 รายการ ในราคาสุดพิเศษต่ำกว่าปกติร้อยละ 10-20 เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้ประชาชน

พาณิชย์ชี้ ‘ฮ่องกงฟิล์มมาร์ท’ ยอดขายคอนเทนต์ไทย พุ่งทะลุ 1,300 ล้านบาท 

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เผยผลหลังเข้าร่วมเจรจาการค้างาน Hong Kong International Film & TV Market (FILMART) 2023 มหกรรมตลาดซื้อขายภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเอเชียที่ฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 13 - 16 มีนาคม 2566 ผู้ประกอบการคอนเทนต์ไทย 21 บริษัท สร้างมูลค่าทะลุเป้าโกยรายได้เข้าประเทศกว่า 1,300 ล้านบาท นับเป็นนิมิตหมายอันดีในการเจรจาการค้าแบบออนไซต์อีกครั้ง หลังจีนกลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

“พาณิชย์” ยิ้มกว้าง “Andaman Craft Festival” ดึงดูดนักท่องเที่ยวล้นลานมังกร กว่า 30,000 ราย ชูงานหัตถศิลป์ไทยสร้างพลัง Soft Power

กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) เผยความสำเร็จ“Andaman Craft Festival” ปลุกพลัง Soft Power