FETCO เชื่อมั่นนักลงทุนพุ่งเข้าสู่เกณฑ์ ‘ร้อนแรงอย่างมาก'

FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 160.07 เพิ่มขึ้น 31.5% จากเดือนก่อน เข้าสู่เกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” หลังภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือเงินทุนไหลเข้าและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ แนะจับตาการนับถอยหลังสู่การยุบสภาและผลการเลือกตั้งใหญ่ ชี้สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 2566

 9 ก.พ. 2566 – นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า หรือเดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ระดับ 160.07 ปรับเพิ่มขึ้น 31.5% จากเดือนก่อนหน้าเข้าสู่เกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือเงินทุนไหลเข้าและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ นโยบายการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการประกาศจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับเพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 29.8% อยู่ที่ระดับ 166.67 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 60.4% อยู่ที่ระดับ 137.50 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 42.1% อยู่ที่ระดับ 150.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับเพิ่ม 28.0% อยู่ที่ระดับ 160.00

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคม 2566 ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบระหว่าง 1,663.86—1,691.41 จุด โดยมีปัจจัยหนุนภายนอกจากแนวโน้มการชะลอตัวในการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศเศรษฐกิจสำคัญ และการเปิดประเทศของจีน ส่งผลให้นักลงทุนคลายกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่วนของปัจจัยในประเทศแม้ได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว แต่นักลงทุนยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในรัสเซีย—ยูเครนที่ยืดเยื้อมากว่า 1 ปี ขณะที่ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 4 ปี 2565 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด และความกังวลต่อการประกาศจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้านนักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิในเดือนมกราคม 2566 กว่า 18,997 ล้านบาท

“ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น แนวโน้มการเลิกจ้างงานโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศจีนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่วนปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้าที่อาจจะชะลอลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าสำคัญ โอกาสในการเป็นฐานการผลิตหลังหลายประเทศเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีน รวมถึงจับตามองการนับถอยหลังสู่การยุบสภาและผลการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งจะสะท้อนทิศทางเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 2566”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สภาธุรกิจตลาดทุนไทย' ค้านเก็บภาษีขายหุ้นในห้วงเวลานี้!

'ดร.กอบศักดิ์' ตอกย้ำไม่เห็นด้วยมติคณะรัฐมนตรีเรื่องเก็บภาษีขายหุ้น ชี้ FETCO ยังเห็นเหมือนที่เคยส่งจดหมายเปิดผนึกให้ขุนคลังเมื่อ พ.ค. ระบุเศรษฐกิจยังสุ่มเสี่ยงเวลานี้จึงไม่เหมาะสม

FETCO ชี้ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนเริ่มดิ่ง ห่วงเรื่องดอกเบี้ยเฟด-โควิด

FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นอีก 3 เดือนข้างหน้าทรุดลง 27.5% หลังกังวลความไม่แน่นอนของนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด เศรษฐกิจในประเทศ และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ