ETDA เผยคนไทยใช้เน็ตเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง Gen Z แซงเป็นแชมป์ใช้งานมากที่สุด

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเปิดผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2564

15 ธ.ค. 2564 นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า ETDA ดำเนินการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 (นับตั้งแต่ปี 2556) โดยในปี 2564 นี้ ETDA ได้ทำการสำรวจโดยการเก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามทางออนไลน์กับกลุ่มตัวอย่าง 44,545 คน ช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2564 และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ พบว่าเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้ปีนี้เป็นปีแรกที่กลุ่ม  Gen Z (อายุน้อยกว่า 21 ปี) ทุบสถิติใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุด เฉลี่ยวันละ 12 ชั่วโมง 5 นาที ชนะกลุ่ม Gen Y (อายุ 21-40 ปี) อดีตแชมป์ 6 สมัยที่ใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุด ซึ่งที่ปีนี้ Gen Y ใช้อินเทอร์เน็ต เฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 52 นาที ส่วน Gen X (อายุ 41-56 ปี) ใช้เฉลี่ยวันละ 9 ชั่วโมง 12 นาที และปิดท้ายด้วย Baby Boomer (อายุ 57-75 ปี) ใช้น้อยที่สุด เฉลี่ยวันละ 6 ชั่วโมง 21 นาที ตามลำดับ สำหรับกิจกรรมออนไลน์ที่กลุ่ม Gen Z ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือ เรียนออนไลน์ เฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง 23 นาที รองลงมาคือดูรายการโทรทัศน์ ดูคลิป ดูหนัง ฟังเพลงออนไลน์เฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมง 11 นาที และติดต่อสื่อสารออนไลน์ เฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง 39 นาที ตามลำดับ 

ขณะที่ ในภาพรวมพบว่าผู้ตอบแบบสอบสำรวจฯส่วนใหญ่มีการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง 36 นาที โดยวันทำการที่ต้องเรียนหรือทำงาน จะใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง 55 นาที มากกว่าวันหยุดที่ใช้ 9 ชั่วโมง 49 นาที โดยกิจกรรมออนไลน์ที่นิยมทำมากที่สุด 10 อันดับแรก คือการติดต่อสื่อสารสูงถึง 77.0% อาจเพราะช่วงที่ผ่านมาหลายองค์กรต่างมีมาตรการให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเรียนออนไลน์ เกือบ 100% จึงทำให้การสื่อสารอยู่ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น และรองลงมาคือ กิจกรรมดูรายการโทรทัศน์ ดูคลิป ดูหนัง ฟังเพลงออนไลน์  62.4% และเพื่อค้นหาข้อมูลออนไลน์ 60.1% ในขณะที่ลำดับถัดๆ ไป จะมีในส่วนของอ่านข่าว บทความ หรือหนังสือ 54.2% ซื้อสินค้า บริการ 47.7% รับ-ส่งอีเมล 45.0% และทำธุรกรรมทางการเงิน 41.7% สำหรับกิจกรรมใหม่ๆ ที่ติดอันดับ Top 10 ในครั้งนี้ คือ การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการช่วยเรื่องการออกกำลังกาย ติดตาม ประเมินเกี่ยวกับสุขภาพ 34.8% การสั่ง Food Delivery 34.1% และการเข้าร่วมกลุ่มที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน 32.7% ตามลำดับ ส่วนปัญหาในการใช้อินเทอร์เน็ตที่พบส่วนใหญ่มักเป็นประเด็นที่เคยพบเจอในช่วงที่ผ่านมา โดย 5 อันดับแรกที่พบมากที่สุด คือ ความล่าช้าในการเชื่อมต่อหรือใช้อินเทอร์เน็ต 70.1% ปริมาณโฆษณาออนไลน์ที่มารบกวน 65.2% ความไม่มั่นใจว่าข้อมูลที่ปรากฏบนอินเทอร์เน็ตเชื่อถือได้หรือไม่ 38.0% การให้บริการอินเทอร์เน็ตยังไม่ทั่วถึง 37.1% และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตยากหรือหลุดบ่อย 26.9% 

ในเรื่องของพฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์พบว่าช่องทางที่ผู้ซื้อนิยมซื้อสินค้า/บริการออนไลน์มากที่สุดคือ ผ่านแพลตฟอร์ม e-Marketplace สูงสุดจะเป็น Shopee 89.7% รองลงมาคือ Lazada 74.0% และ Facebook 61.2% โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่เลือกแพลตฟอร์มจากการที่สินค้ามีราคาถูก คุ้มค่ากับการซื้อ แพลตฟอร์มใช้งานง่าย สินค้ามีความหลากหลาย ผู้ซื้อมีความเชื่อมั่นในระบบชำระเงินของแพลตฟอร์ม รวมถึงการมี  โปรโมชันในช่วงวันสำคัญต่างๆ ในแต่ละเดือนอย่างต่อเนื่อง ส่วนช่องทางที่ผู้ขายนิยมขายสินค้าผ่าน Social Commerce มากที่สุดคือ Facebook 65.5% รองลงมาคือ Shopee 57.5% และ LINE 32.1% โดยผู้ขายส่วนใหญ่ให้เหตผุลว่าเลือกแพลตฟอร์มจากการที่แพลตฟอร์มใช้งานง่าย มีชื่อเสียง สามารถทำการตลาดได้ตรงตามวัตถุประสงค์/ตรงกลุ่มเป้าหมาย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการถูก และมีช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย เป็นต้น เมื่อมองในมุมของสิ่งที่กังวลหรือปัญหาที่เกิดขึ้นในการซื้อขายของออนไลน์ สำหรับผู้ซื้อแล้วหนีไม่พ้นในประเด็นสินค้าไม่ตรงตามที่สั่ง เช่น ผิดสี ผิดขนาด ไม่ตรงปก อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง นอกจากนี้จะมีประเด็นสินค้าที่ได้รับเกิดความเสียหาย ค่าขนส่งแพง สินค้าไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล และเรื่องความไม่เชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลในแพลตฟอร์ม         ส่วนปัญหาที่ผู้ขายพบมากสุด คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่สูง เช่น ค่าธรรมเนียมการขาย/ค่าคอมมิชชัน ค่าธรรมการชำระเงิน ค่าขนส่ง ปัญหาต่อมา คือ สินค้าชำรุด สูญหายระหว่างการขนส่ง นอกจากนี้ ยังมีในมุมของการแข่งขันที่สูง การที่ผู้ขายส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในการทำธุรกิจออนไลน์ และเรื่องอัตราค่าจัดส่งที่ค่อนข้างสูง 

สำหรับช่องทางการชำระเงินค่าสินค้าบริการออนไลน์ที่คนเลือกใช้มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ แอปพลิเคชันของธนาคาร (Mobile Banking) 59.9% รองลงมาคือ การชำระเงินปลายทาง (Cash on Delivery) 53.4% การใช้บัตรเครดิต/บัตรเดบิต 46.8% การโอนเงิน หรือชำระเงินผ่านบัญชีโดยไปที่ธนาคาร 38.4% และการใช้ Wallet ของแพลตฟอร์มที่เปิดให้บริการ เช่น Lazada Wallet, Shopee Wallet อยู่ที่ 34.7% เมื่อมีการใช้ช่องทางออนไลน์ในการชำระเงินเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในมุมของความกังวล พบว่าประเด็นที่คนทำธุรกรรมการเงินออนไลน์กังวลหรือเป็นปัญหามากที่สุดคือ ความไม่เชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของแพลตฟอร์ม รองลงมา คือ ความกังวลเรื่องการถูกหลอกลวง เช่น ในรูปแบบของการใช้อีเมลหรือหน้าเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกเอาข้อมูล และปัญหาที่อาจจะส่งผลต่อความไม่สะดวกในการซื้อของออนไลน์ในบางร้าน คือ การไม่มีบริการรับชำระเงินออนไลน์ไว้ให้บริการกับลูกค้า เป็นต้น

ในปีนี้ทาง ETDA ได้มีการสำรวจเพิ่มเติม เพื่อดูความกังวลของคนเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ได้ส่งผลให้ทุกคนต้องการปรับวิถีชีวิตโดยการพึ่งพาออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือการเรียนหนังสือก็สามารถทำได้ทุกที่เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต แต่ก็ยังมีความกังวลในเรื่องการทำงานหรือการเรียนออนไลน์อยู่ ซึ่งจากผลสำรวจฯ พบว่า สิ่งที่คนกังวลมากที่สุดในการทำงานออนไลน์ คือ รู้สึกไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน 38.6% กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการทำงานที่บ้าน 37.5% รู้สึกอึดอัด และทำงานยากขึ้น เนื่องจากขาดอุปกรณ์ที่จำเป็น หรือการติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตไม่เสถียร 29.2% มีความกังวลกับวิถี/รูปแบบทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งในระดับพนักงานและระดับองค์กร 27.0% และสุดท้ายคือมีความเครียดที่ไม่สามารถแบ่งเวลาในการทำงานกับเวลาส่วนตัวได้เนื่องจากมีสิ่งรบกวนระหว่างการทำงาน 25.5% ส่วนประเด็นที่คนกังวลมากที่สุดในกลุ่มที่มีการเรียนผ่านออนไลน์ คือ กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่าย เนื่องจากเรียนในที่ที่ไม่ใช่สถานศึกษา 36.2% มีความรู้สึกอึดอัดและทำงานส่งได้ยากขึ้น เพราะขาดอุปกรณ์บางอย่างที่จำเป็นต้องใช้ในการเรียน 30.8%  มีความกังวลกับวิถีรูปแบบการเรียนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 29.3% คิดว่ารูปแบบการเรียนการสอนของหลักสูตรที่เรียน ยังไม่ตอบโจทย์รูปแบบการเรียนออนไลน์ 27.8% และมีความกังวลเรื่องความผิดพลาด ความคลาดเคลื่อนที่อาจจะเกิดจากการสื่อสาร 27.6% แม้จะมีสิ่งที่กังวลแต่จากการสอบถามความพึงพอใจ กลับพบว่า ส่วนใหญ่พึงพอใจมากถึงมากที่สุดกับการทำงานและการเรียนวิถีใหม่ สิ่งเหล่านี้เป็นการสะท้อนความคิดเห็นและวิธีคิดของคนในยุคปัจจุบันและเป็นประโยชน์ในการวางแผนในมิติต่างๆ เพื่อหาแนวทางเพื่อรองรับวิถีของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลต่อไป 

พร้อมกันนี้ปีนี้ ETDA ได้มีประเด็น Hot Issue เกี่ยวกับกิจกรรมออนไลน์ที่มีแนวโน้มจะกลายเป็น New Normal สูงที่สุด 10 อันดับแรกซึ่งถือเป็นกิจกรรมออนไลน์ที่จะมีการทำอย่างต่อเนื่องแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะลดลงแล้วก็ตามคือการซื้อขายสินทรัพย์เพื่อการลงทุนออนไลน์, การชำระค่าสาธารณูปโภคออนไลน์, การทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างบุคคลเช่นโอนให้ยืมเงิน, การชำระค่าสินค้าบริการออนไลน์, การอ่านโพสต์ข่าวบทความหนังสือออนไลน์ (e-Book), การโอนเงินบริจาคเงินออนไลน์ (e-Donation), การใช้บริการภาครัฐออนไลน์, การขายอาหารเครื่องดื่มออนไลน์, การค้นหาข้อมูลโดยการสั่งการด้วยเสียงผ่านอุปกรณ์ (Voice Command) และการเข้าร่วมกลุ่มที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันเป็นต้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทศกาลดนตรีฟรีที่ใหญ่สุดในประเทศ จัดเต็ม 5 เวที ศิลปินกว่า 100 เบอร์!

กลับมาอีกครั้ง! เทศกาลดนตรีฟรีที่ใหญ่ที่สุดในไทย Pepsi, PMCU, NYLON Thailand present ‘Siam Music Fest 2023’ ที่กำลังจะมาสร้างบรรยากาศความสุขส่งท้ายปี ฟังเพลงเพราะๆ ชมโชว์ดีๆ จากศิลปินคนโปรดครบทุกแนว ถึง 5 เวที และกิจกรรมเอาใจ Gen Z อีกเพียบ เตรียมจัดขึ้นทั่วสยามสแควร์ วันที่ 16-17 ธันวาคม 2566 ที่จะถึงนี้

'ฮาย Paper Planes' ดึงศิลปินรุ่นใหม่ทำเพลงสั้นอัลบั้มแรกค่าย 'GMM SAUCE'

หลังจากเปิดตัวค่ายไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา GMM SAUCE (จีเอ็มเอ็ม ซอส) ค่ายเพลงสั้น 55 วินาที ที่เน้นเรื่องนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์การทำเพลงใหม่ ที่ไม่ยึดกรอบธรรมเนียมปฎิบัติ หรือสูตรความสำเร็จเดิม ได้มีการปล่อยเพลงเนื้อหาสนุกๆ ออกมาสร้างสีสันในโลกโซเชียลกว่า 30 เพลงแล้ว ทั้งออริจินัลและคัฟเวอร์ ไม่ว่าจะเป็น เพลง แมวแมว, หวยแหลก, ลำพังดังกว่าลำโพง, ชาบูจะเยียวยา, เงินเดือนหรือเงินทอน เป็นต้น