ธ.ก.ส.ลุยปั้นภาคเกษตรไทย ปลุกหัวขบวนต่อยอดแนวคิดขับเคลื่อนสู่ "เกษตรมูลค่าสูง"

28 ต.ค. 2566 – ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในวงจรของภาคการเกษตรมาอย่างยาวนาน ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ จนได้ฉายา “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” และด้วยความยาวนานนี้เอง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังติดอยู่กับวิถีชีวิตและกรรมวิธีการเพาะปลูกแบบดั้งเดิม จนทำให้ผลิตภาพต่ำ มูลค่าทางเศรษฐกิจน้อย บางส่วนอาจถึงขั้นแข่งขันไม่ได้ จึงอาจไม่น่าแปลกใจมากนักที่เรายังเห็นเกษตรกรไทยอยู่ในภาวะยากจนและเต็มไปด้วยหนี้สิน!!

ที่ผ่านมา รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามผลักดันนโยบาย มาตรการ และแนวทางต่างๆ เพื่อเพิ่มผลิตภาพในภาคการเกษตร ยกระดับสินค้าเกษตร เสริมศักยภาพเกษตรกรไทย จัดการทรัพยากรทางการเกษตรอย่างมีระบบระเบียบมากขึ้น เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ จากรูปธรรมไปสู่การนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ในการขับเคลื่อนและสนับสนุนภาคเกษตรของไทยให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ มีศักยภาพและมีคุณภาพเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันในตลาดที่กว้างขึ้น ทั้งการสนับสนุนในด้านความรู้ ความเข้าใจ นวัตกรรม ตลอดจนเงินทุน เพื่อช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้เกษตรกรไทยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เป็นเกษตรกรยุคใหม่ที่สามารถแข่งขันได้ สามารถช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดจากมูลค่าสินค้าที่ถูกพัฒนามาอย่างมีประสิทธิภาพ จากผลิตภาพการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้นนั่นเอง

โดย ล่าสุดเมื่อวันที่ 20-24 ต.ค.2566 ธ.ก.ส.ได้พาคณะเกษตรกรหัวขบวนซึ่งเป็นผู้ประกอบการสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เดินทางไปศึกษาดูงานที่จังหวัดฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น อาทิ ศึกษาดูงานเรื่องการแปรรูปไวน์ การทำเครื่องปั้นดินเผา การทำนาแบบขั้นบันไดที่ Hamanoura Rice Terraces เป็นต้น ซึ่งต้องยอมรับว่าภาคเกษตรของญี่ปุ่นเป็นภาคเกษตรที่เน้นไปในเรื่องของ “เกษตรมูลค่าสูง” มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์จนสามารถสร้างส่วนต่างให้กับสินค้าได้อย่างน่าสนใจ

ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า การพาเกษตรกรหัวขบวนมาศึกษาดูงานในครั้งนี้ เพราะ ธ.ก.ส.ต้องการให้เขาได้เห็นของจริง ได้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนแนวคิดกับเกษตรกรของญี่ปุ่นว่ามีแนวคิดอย่างไร มีการบริหารจัดการอย่างไร มีการเพิ่มศักยภาพให้สินค้า ให้บรรจุภัณฑ์หรือหีบห่อ (Packaging) ที่สำคัญ ธ.ก.ส.ต้องการให้ได้มาเห็นของจริงซึ่งดีกว่าการเล่าให้ฟัง การดูวีดิทัศน์ หรือการนั่งอ่านหนังสือ

“ธ.ก.ส.ให้ความสำคัญกับการยกระดับภาคเกษตรของไทยให้เป็นเกษตรมูลค่าสูง ซึ่งการมาศึกษาดูงานในครั้งนี้ได้เห็นในหลากหลายมุมมอง และหลากหลายมิติของเกษตรกรญี่ปุ่น ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกษตรกรของญี่ปุ่นจะผลิตสินค้าไม่มาก ทำแค่พอประมาณ แต่ที่น่าสนใจและสำคัญคือ เขาสามารถมีส่วนต่าง (มาร์จิ้น) ที่สูงมาก แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีทรัพยากรจำกัดและประเทศได้เข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยเหมือนกับไทย”

ยกตัวอย่างเช่น โรงงานทำเครื่องปั้นดินเผา China on the Park และ Arita Porcelein Park ที่มีการดำเนินธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาและเซรามิกที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในญี่ปุ่น โดยได้เยี่ยมชมกระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผาและเซรามิกที่มีความละเอียดและประณีตในศูนย์หัตถกรรม การจัดแสดงสินค้าในแกลเลอรีเพื่อการตลาด จนถึงการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก จากนั้นได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาและเซรามิกในสมัยแรกที่ก่อตั้งบริษัทจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในแต่ละยุคสมัยลายเส้นก็จะมีความแตกต่างกัน อาทิ แจกัน เหยือก จาน ถ้วย และชาม เป็นต้น เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาต่อยอดและพัฒนาธุรกิจของเกษตรกรหัวขบวนให้มีศักยภาพมากขึ้น เพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์และสร้างโอกาสในการก้าวไปสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน

โดยจะเห็นได้ว่าโรงงานทำเครื่องปั้นดินเผาดังกล่าวมีคนงานหลักสินคน แต่เขาสามารถผสมผสานไปกับการทำเกษตรแบบปกติ และสามารถบริหารจัดสรรเวลามาทำเครื่องปั้นดินเผาที่สืบสาน สืบทอดศิลปวัฒนธรรม ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ของเขามีการพัฒนาตลอดเวลา ทั้งในเรื่องของแนวคิด การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าและของตลาด

สิ่งสำคัญเลยคือ ธ.ก.ส.อยากให้เกษตรกรไทยเห็นว่าขั้นตอนการทำภาคเกษตรในปัจจุบันไม่ควรเป็นการปลูกไปเรื่อยๆ อย่างพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่นที่มีจำกัด แต่สิ่งที่เราได้เห็นจาก 4-5 อุตสาหกรรมที่ได้มาศึกษาดูงานคือ เกษตรกรของญี่ปุ่นจะเริ่มต้นจากการคิดวางแผน ตั้งแต่วางแผนว่าจะขายใคร ที่สำคัญดูว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างไร และอีกแนวคิดหนึ่งที่สำคัญและตรงกับสิ่งที่ ธ.ก.ส.ได้ส่งเสริมมาโดยตลอด คือ การผลิตเพื่อการบริโภคในเมืองนั้นๆ (Local Consumption)

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีการส่งเสริมเรื่องเกษตรท่องเที่ยว จนทำให้มีคำพูดติดปากกันว่า “เกษตรกรญี่ปุ่นรวย” ธ.ก.ส.อยากให้มาดูถึงวิธีคิด วิธีการวางแผน วิธีการผลิต วิธีการเติมแหล่งรายได้ต่างๆ เพื่อนำไปต่อยอดให้กับภาคเกษตรของไทย อย่างเช่น การทำนาแบบขั้นบันไดที่ Hamanoura Rice Terraces ซึ่งครั้งนี้ได้เยี่ยมชมวิธีการและขั้นตอนในการทำนาแบบญี่ปุ่น การบริหารต้นทุนในการผลิต แนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ รวมถึงการยกระดับสถานที่ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เพื่อให้เกษตรกรหัวขบวนสามารถนำไอเดียที่ได้จากการศึกษาดูงานมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจของตนเอง และขยายผลไปยังชุมชน ซึ่ง ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรนำไปต่อยอดการดำเนินธุรกิจและมีรายได้อย่างยั่งยืน

“เกษตรท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ที่เห็นได้ชัดจากการศึกษาดูงานในครั้งนี้คือ นาขั้นบันได ที่นอกจากภาคเกษตรปกติ มีการปลูกข้าวปกติแล้ว เขายังมีการส่งเสริมการวางแผนและการจัดการให้เกษตรของเขาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างเต็มรูปแบบและเป็นระบบ ในชุมชนหรือหมู่บ้านยังมีการจัดสรรกันว่าบ้านไหนจะผลิตอะไรมาขาย โดยไม่ได้มีการขายแข่งกัน หรือขายตัดราคากันเอง ซึ่งทำให้สังคมหรือหมู่บ้าน หรือชุมชนของเขาพัฒนาไปด้วยกัน และสามารถดึงรายได้ทำให้ภาคเกษตรและเกษตรกรของญี่ปุ่นแข็งแรง” ฉัตรชัยระบุ

สำหรับประเทศไทย ต้องยอมรับว่าภาคเกษตรและเกษตรกรของไทยยังมีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ ธ.ก.ส.ได้เข้าไปส่งเสริมและให้การสนับสนุนโดยผ่าน “สินเชื่อ” และเมื่อเกษตรกรหัวขบวนได้มาเห็นโมเดลภาคการเกษตรของญี่ปุ่นในหลากหลายมิติ จะทำให้เห็นว่าจากนี้ไปการพัฒนาของภาคเกษตรไทยควรเป็นการพัฒนาแบบรวมกลุ่ม โดยแกนสำคัญที่จะต้องมีคือ “การวางแผน”

ที่ผ่านมา เกษตรกรไทยอาจมีปัญหาในเรื่องของการวางแผนที่ไม่สามารถทำเองได้ ดังนั้นการรวมกลุ่มกันสามารถทำได้ผ่านสหกรณ์ หรือผ่านหน่วยงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของ ธ.ก.ส. ที่พร้อมจะเข้าไปดูแลในส่วนนี้ เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ในการพัฒนาภาคการเกษตร ซึ่งไม่ใช่เพียงการส่งเสริมการผลิตเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเริ่มตั้งแต่การเข้าไปช่วยเกษตรกรไทยในการวางแผน ช่วยในเรื่องการขาย ช่วยในเรื่องการออกแบบ โดยอาจจะจับมือกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นในการสร้างมูลค่าเพิ่ม การแปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าทางการเกษตรทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการยกระดับให้กับสินค้าเกษตรไทยได้มากขึ้น

นอกจากนี้ฉัตรชัยกล่าวว่า ธ.ก.ส.ยังได้มีการตั้ง “สำนักกิจการต่างประเทศ” ขึ้นมา โดยมีภารกิจสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.การนำสินค้าของเกษตรกรไทย ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารไปจำหน่ายในต่างประเทศ โดยนำร่องกับธนาคารเกษตรของจีน 2.การให้ความร่วมมือทางด้านวิชาการ ด้านเงินทุน โดยดูว่าธนาคารเกษตรทั่วโลกหรือหน่วยงานด้านการต่างประเทศมีเงินทุนที่ต้นทุนต่ำเข้ามาให้ ธ.ก.ส.สามารถนำมาปล่อยกู้ให้กับเกษตรกรบางกลุ่มได้ เพื่อช่วยยกระดับนวัตกรรมในภาคการผลิต และช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับภาคเกษตรของไทย และ 3.การมีช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าระหว่าง ธ.ก.ส.เองโดยไม่ผ่านหน่วยงานอื่น ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรสามารถวิ่งตรงไปที่ลูกค้าในต่างประเทศได้ในระยะเวลาอันสั้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมต่างๆ จะเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่ “ภาคการเกษตร” ก็ยังถือว่าเป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักของเศรษฐกิจไทย การยกระดับภาคการเกษตรด้วยการส่งเสริมแนวคิด ผ่านการวางแผน การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ระเบียบ เชื่อว่าจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรไทยให้สามารถเติบโตควบคู่ไปพร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น และพร้อมจะดึงเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อต่อยอดการเติบโตให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นได้ด้วย!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลตีปี๊บ ประกวด 'ข้าวหอมมะลิไทย' ช่วยยกคุณภาพชีวิตเกษตรกร

รัฐบาลหนุนเกษตรกรและโรงสี จัดประกวดข้าวหอมมะลิไทยปี 2566 เฟ้นหาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยคุณภาพชั้นเลิศ พร้อมขยายช่องทางการจำหน่าย