สนค.ขานรับนโยบายรัฐบาลหนุนใช้รถยนต์ไฟฟ้า

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ติดตามสถานการณ์นโยบายและมาตรการสำคัญที่สนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ของประเทศสำคัญ พบว่ามียุทธศาสตร์และมาตรการสนับสนุนอย่างชัดเจน ทั้งด้านภาษีและความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้เพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับเป้าหมายการเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

15 พ.ย. 2566 – นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ติดตามสถานการณ์การใช้รถยนต์ไฟฟ้าของโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อ้างอิงจากการคาดการณ์ขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ว่าในปี 2023 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้านคัน จากยอดขาย 10 ล้านคันในปี 2022 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 โดยจีนเป็นประเทศที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดของโลกในปี 2022 จำนวน 5.9 ล้านคัน คิดเป็นร้อยละ 58 ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าโดยรวมของโลก ขณะที่ประเทศไทย ข้อมูลจากกรมขนส่งทางบก พบว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า (BEV: Battery Electric Vehicle) ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2023 อยู่ที่ 66,919 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 300 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ผอ.สนค. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปว่าหลายประเทศทั่วโลกสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์ที่สนับสนุนการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า อาทิ อินเดีย จัดทำแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าระดับชาติ (National Electric Mobility Mission Plan 2020: NEMMP) เพื่อส่งเสริมการซื้อยานยนต์ไฟฟ้า และการใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ ส่วนออสเตรเลีย จัดทำแผนยุทธศาสตร์รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle Strategy) เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาเข้าถึงได้ พร้อมสนับสนุนระบบและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และกระตุ้นความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่เวียดนาม จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนารถยนต์แห่งชาติ (2021-2050) เพื่อกระตุ้นการผลิตและเพิ่มปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าระหว่างปี 2030-2040

นอกจากนี้ ประเทศต่าง ๆ ได้ออกนโยบายและมาตรการด้านภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า อาทิ จีน ลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า นอร์เวย์ จูงใจผู้บริโภคด้วยการลดภาษี เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีจดทะเบียน ภาษีศุลกากร และภาษีถนน รวมถึงให้สิทธิพิเศษทางการเงินสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ไอซ์แลนด์ มีการจูงใจทางภาษีสำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและเชื้อเพลิงสะอาด และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้กับรถยนต์ไฟฟ้า และออสเตรเลีย สนับสนุน การยกเลิกภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า

ขณะที่บางประเทศส่งเสริมให้มีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอาทิ สหรัฐอเมริกา ใช้งบประมาณจากกฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Law) เพื่อสร้างสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าให้รถทุกยี่ห้อสามารถใช้ร่วมกันกว่า 500,000 จุดทั่วประเทศ รวมถึงนอร์เวย์และอินเดีย มีการสร้างสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และไอซ์แลนด์ สร้างสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และจะขยายไปยังพลังงานสะอาดและเชื้อเพลิงประเภทอื่น เช่น ไฮโดรเจน และมีเทน รวมถึงออกกฎระเบียบการก่อสร้างอาคาร เพื่อรองรับระบบและพื้นที่สำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 

สำหรับประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนโยบายและมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 และล่าสุด (1 พ.ย. 2023) คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ มาตรการ EV 3.5 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี (2024 – 2027) เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยลดอากรนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปไม่เกินร้อยละ 40 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับเงินอุดหนุนไม่เกิน100,000 บาท ตามประเภทของรถและขนาดของแบตเตอรี่ ส่วนผู้ผลิตจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเพื่อชดเชยการนำเข้า ซึ่งต้องผลิตชดเชย 2 คันต่อการนำเข้า 1 คัน ภายในปี 2026 และผลิตชดเชย 3 คันต่อการนำเข้า 1 คัน ภายในปี 2027

นอกจากนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันสร้างความพร้อมด้านสถานีชาร์จซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยร่วมกับพันธมิตรตั้งเป้าเปิดให้บริการสถานีชาร์จกว่า 150 สถานี ภายในปี 2023 ขณะที่การไฟฟ้านครหลวง ได้ติดตั้งหัวจ่ายชาร์จไฟในพื้นที่ส่วนราชการและเอกชน ครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ 

ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า จากแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้ภาครัฐและเอกชนของไทยจะต้องมีการปรับตัวทั้งในด้านนโยบาย/มาตรการต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสนับสนุน/ส่งเสริม อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ โดยอาจนำนโยบาย/มาตรการของประเทศสำคัญและประสบความสำเร็จมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยรวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตตามนโยบายที่สนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ พร้อมทั้งเร่งวางระบบและพื้นที่การให้บริการของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นและรองรับกับนโยบายของรัฐบาลที่จะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)ให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พาณิชย์' ชี้เป้าส่งออกอาหารเสริมเจาะตลาดสหรัฐฯ

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ชี้เป้าส่งออกอาหารเสริมเจาะตลาดผู้บริโภคสหรัฐฯ เน้นกลุ่มคนรักสุขภาพ และคนออกกำลังกาย เน้นสินค้าที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ ขายส่วนผสมจากสมุนไพรไทย มั่นใจมีโอกาสเติบโต

'ภูมิธรรม' รับลูก 'เศรษฐา' ดึงเจ้าสัวช่วยซื้อผลผลิตทางการเกษตรไปจำหน่าย

“ภูมิธรรม”รับลูก “เศรษฐา” ดึงเจ้าสัว ปตท. ซีพี ไทยเบฟ ห้าง ปั๊มน้ำมัน ช่วยซื้อผลผลิตทางการเกษตรไปจำหน่ายหรือนำไปทำตลาด เพื่อดูแลเกษตรกร 

ตั้ง“จ.อ.ยศสิงห์”เป็นผู้ช่วยเลขานุการ รมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ รมช.สุชาติ ช่วยดูแลปากท้องประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ/เห็นชอบแต่งตั้ง ข้าราชการและข้าราชการการเมืองหลายตำแหน่ง หลายกระทรวงนั้น

พาณิชย์ ยอมรับภาพรวมค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ปรับเพิ่มสูงขึ้น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ภาพรวมดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 หลังจากที่ชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 และปรับตัวลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2566