สสว.โชว์จีดีพีเอสเอ็มอีไตรมาส 3 ยังโตอานิสงส์โครงการคนละครึ่งเฟส 3

สสว.โชว์ จีดีพีเอสเอ็มอี Q3/64 ยังโต ย้ำสัญญาณดีต่อ หนุนทำมูลค่า 1,356,720 ล้านบาท รับอานิสงส์โครงการคนละครึ่งเฟส 3 และปัจจัยเสริมจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ยันมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเดินหน้าส่งผลสำเร็จ

20 ธ.ค. 2564 นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ดำเนินการวิเคราะห์สถานการณ์เอสเอ็มอี ไตรมาส 3/2564 (ก.ค.-ก.ย.) พบว่า จีดีพี เอสเอ็มอี ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2/2564 (เม.ย.-มิ.ย.) ที่ผ่านมา คิดเป็น 0.2% หรือมีมูลค่ารวม 1,356,720 ล้านบาท โดยคิดเป็นสัดส่วน 34.5% ของจีดีพีรวมของประเทศ และเมื่อพิจารณาจีดีพีตามขนาดวิสาหกิจ พบว่า วิสาหกิจรายย่อย (Micro) มีการขยายตัวสูงสุดคือ 8.0% รองลงมาคือ วิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) 2.2% ส่วนวิสาหกิจขนาดย่อม (Small) หดตัวลง 3.8%

“การฟื้นตัวของเอสเอ็มอีที่เริ่มมาตั้งแต่ไตรมาส 2 และต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 3 นี้ มีผลสำคัญมาจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐคือโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ที่กลับมาดำเนินการอีกครั้งในไตรมาสนี้จนถึงสิ้นปี 2564 นอกจากนี้ยังมาจากความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบการโดยเฉพาะในกลุ่มขนาดกลาง และมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคส่งออกที่กลับมาเติบโต รวมถึงมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี ได้เริ่มส่งผลอย่างต่อเนื่อง”นายวีระพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงตัวเลขเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ปัจจุบันมีจำนวน 3,176,055 ราย เป็นกลุ่มวิสาหกิจรายย่อย (Micro) มากที่สุดคิดเป็น 85.47% รองลงมาคือวิสาหกิจขนาดย่อม (Small) คิดเป็น 13.18% และวิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) คิดเป็น 1.35% โดยเอสเอ็มอียังคงเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจประเทศ แต่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ขีดความสามารถของเอสเอ็มอีลดลง รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยพลิกฟื้นหรือฟื้นฟูรวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ

โดยมีมาตรการสำคัญที่ สสว. ร่วมกับกรมบัญชีกลาง สนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2563 และเริ่มส่งผลตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา โดย สสว. ได้พัฒนาระบบขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ SME เพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ www.thaismegp.com เพื่อเป็นช่องทางหลักให้ SME ที่ต้องการเข้าถึงตลาดภาครัฐ ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ช่วยให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการอื่นๆ ได้มากขึ้น

ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ขึ้นทะเบียนในระบบรวม 115,200 ราย มีรายการสินค้าและบริการ รวม 898,000 รายการ ที่สำคัญผู้ประกอบที่ขึ้นทะเบียน ได้รับการจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานภาครัฐคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 551,306 ล้านบาท ขณะเดียวกัน สสว. ได้พัฒนาระบบทะเบียนสมาชิก สสว. เพื่อเป็นช่องทางในการเชื่อมต่อกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ให้ได้รับข้อมูล องค์ความรู้ สิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาจาก สสว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขึ้นทะเบียนในระบบนี้ไม่น้อยกว่า 1,500,000 ราย

อย่างไรก็ตามส่วนการดำเนินโครงการในปี 2564 ที่ผ่านมา เพื่อให้ความช่วยเหลือส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างสังคมผู้ประกอบการให้เติบโตและก้าวสู่สากล สสว. ได้ทำการพัฒนาผู้ประกอบการ ด้วยการส่งเสริมการเริ่มต้นธุรกิจ การพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย ให้ประกอบธุรกิจอย่างมืออาชีพ และพัฒนาวิสาหกิจขนาดย่อม ให้ก้าวสู่ธุรกิจสมัยใหม่ โดยมีผู้ประกอบการได้รับการพัฒนารวมทั้งสิ้น 25,578 ราย สนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงบริการทั้ง Online และ Offline รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 206,557 ราย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"สสว." จับมือ "โอเพนเอเชีย " จัดเต็มสิทธิประโยชน์เอสเอ็มอี ลุยส่งออกตลาดจีน

สสว. ร่วมกับ โอเพนเอเชีย สร้างโอกาสเอสเอ็มอีไทย ผลักดันสิทธิประโยชน์เสริมศักยภาพมุ่งเน้นส่งออกสินค้าจำหน่ายยังสาธารณรัฐประชาชนจีน

สสว. จับมือ ทรูสเปซ เพิ่มสิทธิประโยชน์ เสริมความคล่องตัว SME ไทยรุ่นใหม่ ใช้พื้นที่สร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พร้อมต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

สสว. ร่วมกับ ทรูสเปซ พื้นที่ทำงานยุคใหม่ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ เพิ่มโอกาสให้เอสเอ็มอีชูงานพัฒนาสิทธิประโยชน์ เดินหน้าผลักดันสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่

ประเดิมวันแรก! สแกนใบหน้า ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เพื่อให้การรับชำระค่าสินค้าและบริการผ่านสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐจากแอปพลิเคชันถุงเงินเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและโปร่งใส

สสว. เผยภาคธุรกิจการเกษตรนำโด่งครองแชมป์นำเข้าสินค้ามากสุด

สสว. เผยผลสำรวจการนำเข้าสินค้าของเอสเอ็มอีไทย พบว่า ภาคธุรกิจเกษตร นำเข้าสินค้ามากที่สุด ส่วนกลุ่มสินค้าที่ครองแชมป์นำเข้าสูงสุด ได้แก่ กลุ่มเคมีภัณฑ์ เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าศัตรูพืช น้ำยาทำความสะอาด และกลุ่มสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค แหล่งนำเข้าหลักมาจาก จีน ญี่ปุ่น อเมริกา เกาหลีใต้ และ เวียดนาม ฯลฯ โดยนำเข้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นหลัก แต่อุปสรรคสำคัญอยู่ที่ราคาขนส่งและความล่าช้าในการขนส่ง ผู้ประกอบการ SME จึงต้องการให้ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องสนับสนุนการพัฒนาสินค้าในประเทศให้ได้คุณภาพมาตรฐานเพื่อทดแทนการนำเข้า