
กทม.เตรียมเสนอ คจร.โอนสารพัดโครงการรถไฟฟ้าให้ รฟม.เดินหน้าลงทุน รวมเม็ดเงินกว่า 1.5 แสนล้านบาท ชี้ภาครัฐมีความพร้อมผลักดันโครงการเชื่อมโครงข่ายสะดวก ขณะที่ กทม.หันลงทุนบริการด้านอื่น
23 พ.ย. 2566 – นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า ปัจจุบัน กทม.มีแนวคิดจะมอบโครงการลงทุนใหม่เพื่อพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบการลงทุน เนื่องจาก กทม.เล็งเห็นว่าชณะนี้มีปัจจัยด้านอื่นที่ต้องเร่งนำงบประมาณไปดำเนินการเพื่อประชาชน อาทิ ด้านการศึกษา และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
อย่างไรก็ตามขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรถไฟฟ้า นับเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ส่วนนี้จึงเชื่อว่าภาครัฐจะมีงบประมาณเร่งดำเนินการอยู่แล้ว การมอบให้ รฟม.กลับไปผลักดันต่อจึงถือเป็นเรื่องที่ดีกว่า เพราะ รฟม.จะสามารถวางแผนการพัฒนาโครงขายระบบรางให้เป็นระบบเชื่อมกันอย่างไร้รอยต่อ เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในการใช้บริการ เนื่องจากรถไฟฟ้าที่ กทม.ศึกษาอยู่นั้น ก็มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าหลายสายที่อยู่ภายใต้การดูแลของ รฟม. และเปิดให้บริการแล้วในปัจจุบัน อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง รถไฟฟ้าสายสีชมพู รวมไปถึงรถไฟฟ้าสายสีส้ม
“กทม.เรามีเรื่องอื่นเยอะที่ต้องทำ การมอบให้ รฟม.ไปดำเนินการด้ายรถไฟฟ้าก็เป็นเรื่องที่ทำได้ดีกว่า สร้างระบบรถไฟที่เชื่อมต่อกันได้ แต่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นก็คงต้องหารือในระดับนโยบายระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคม ก่อนจะเสนอแนวคิดไปยังนายกรัฐมนตรี ในคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)”นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า โครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ กทม. และมีแนวคิดจะมอบให้ รฟม.นำไปดำเนินการลงทุนนั้น อาทิ โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ, โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (LRT-Light Rail Transit) สายสีเงิน ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมไปถึงโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า – ตลิ่งชัน โดย กทม.จะเสนอ คจร. เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ รฟม.รับผิดชอบการลงทุนรวมไปถึงบริหารสัญญาโครงการดังกล่าวทั้งหมด
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าที่ กทม.ดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ พบว่าต้องจัดใช้วงเงินลงทุนมากกว่า 1.5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โครงการโมโนเรลสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ มีระยะทาง 16.3 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 2.75 หมื่นล้านบาท ผลการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น จะใช้การร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยเอกชนเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านรายได้ และเป็นผู้จ่ายค่าสัมปทานหรือส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ภาครัฐ ในระยะเวลา 30 ปี ซึ่ง กทม.เคยคาดการณ์จะเสนอกระทรวงมหาดไทย และขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในปี 2566 พร้อมคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร จะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการในปี 2573 ซึ่งเป็นปีที่เปิดให้บริการ จำนวน 97,000 คนเที่ยวต่อวัน
นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายสีเงิน ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผลการศึกษามีระยะทาง 19.7 กิโลเมตร ประเมินใช้วงเงินลงทุน 1.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างงานโยธาและระบบรถไฟฟ้า วงเงิน 36,020 ล้านบาท ค่างานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า วงเงิน 6,720 ล้านบาท ค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา วงเงิน 91,767 ล้านบาท ค่างานเกี่ยวกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 1,186 ล้านบาท ซึ่งเดิม กทม.คาดการณ์ว่าจสนอกระทรวงมหาดไทยพิจารณาและนำเสนอต่อ ครม.อนุมัติโครงการภายในปี 2566 เช่นเดียวกัน
สำหรับผลการศึกษารูปแบบลงทุนจะจัดทำลักษณะ PPP Net Cost อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี พร้อมทั้งคาดว่าปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายนี้ในปี 2572 ที่เปิดใช้บริการจะสูงถึง 82,695 คนเที่ยวต่อวัน และปี 2576 จะเพิ่มสูงขึ้นราว 138,744 คนเที่ยวต่อวัน และในปี 2578 กรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ จะทำให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 165,363 คนเที่ยวต่อวัน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างศึกษา คือ โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า – ตลิ่งชัน โดยก่อนหน้านี้ กทม.ทำการศึกษาความคุ้มค่าทางการลงทุน พบว่าโครงการจะมีประชาชนมาใช้บริการประมาณ 35,000 คนเที่ยวต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่สูงนัก จึงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาดำเนินการ แต่ยอมรับว่าโครงการรถไฟฟ้าสายนี้จะสร้างความสะดวกแก่ประชาชน เพราะแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายสายสีลม ตากสิน-เพชรเกษม ที่สถานีบางหว้า จากนั้นไปตามแนวเกาะกลางถนนราชพฤกษ์ มาสิ้นสุดบริเวณทางลาดลงของสะพานข้ามรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่สถานีตลิ่งชัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอเดชา' ชวนคนกรุงตรวจการบ้าน 'ชัชชาติ' ที่บอกได้ 5 คะแนนนั้นทำเรื่องหาเสียงสำเร็จแล้ว 107 ข้อหรือ
อาจารย์เดชา ศิริภัทร หมอพื้นบ้านจังหวัดสุพรรณบุรี
ผู้ว่าฯกทม. เผยเดินหน้าเจาะปล่องลิฟต์ ตึกสตง. หาผู้ติดค้างเพิ่ม
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าสถานการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหว ว่า วานนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกตนพร้อมด้วย พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร
'ผู้ว่าชัชชาติ' ยอมรับมีปัญหาสื่อสารหน้างานกู้ซากตึกถล่ม หน่วยงานอื่นเข้าพื้นที่ยาก
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเข้าพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานกรณีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม
‘บีโอไอ’เพิกถอนสิทธิ‘ซินเคอหยวน’
“ชัชชาติ” ยังมีความหวัง หลังกู้ภัยพบสัญญาณโซนบี “อนุทิน” ปรับเงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิตรายละแสน “ทีมสุดซอย”
ทำบุญตึกถล่ม ฟื้นขวัญกำลังใจ DSIไล่ล่านอมินี
กทม.ลุยขนซากตึกถล่ม คาดปลายเดือนเคลียร์ด้านบนออกได้หมด "ชัชชาติ"