เผยวิจัยคุณแม่ยุคใหม่รับข้อมูลจากสื่อทีวีมากสุด พร้อมมองหาการนำเสนอที่ไม่เกินจริง

แพทย์หญิงกิติมา ยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก (Pediatric Nutrition Manufacturer Association : PNMA) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งมานานกว่า 39 ปีจากการรวมตัวของธุรกิจผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก เปิดเผยถึงงานวิจัยที่ได้ร่วมมือกับบริษัทวิจัยระดับโลก สำรวจคุณแม่อายุ 18-50 ปี ที่มีลูกอายุ 1-3 ปี ทั่วประเทศกว่า 800 คนทั้งในเขตเมืองและนอกเมือง ในทุกระดับการศึกษา พบว่าแม่จำนวน 63% เลี้ยงลูกอายุ 0-6 เดือนด้วยนมแม่ และนมผสมสูตรสำหรับทารก ส่วนใหญ่เป็นคุณแม่ในกรุงเทพฯ และตัวเมืองในต่างจังหวัด หลังจากนั้นเมื่อลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไป คุณแม่ 45% จึงเริ่มให้อาหารตามวัยเพิ่มเติมจากการให้นมเพียงอย่างเดียว

ส่วนปัจจัยสำคัญที่ขัดขวางการให้นมแม่คือต้องกลับไปทำงานและคุณแม่ส่วนหนึ่งมีน้ำนมไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อย โดยส่วนใหญ่มักจะหยุดให้นมลูกช่วงอายุ 6 เดือนขึ้นไปด้วยสาเหตุดังกล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ดี ค่าเฉลี่ยของการให้นมแม่ของกลุ่มตัวอย่างอยู่ที่ 10 เดือน

โดยตัวเลขที่น่าสนใจชุดหนึ่งคือคุณแม่ที่อาศัยในตัวเมืองและอายุน้อย มีการให้นมบุตรที่ยาวนานกว่าคุณแม่ที่อาศัยอยู่นอกเมืองแต่อายุเยอะ ซึ่งอาจเป็นเพราะมีโอกาสรับข้อมูลข่าวสารด้านโภชนาการ ประกอบกับสภาพร่างกายที่แข็งแรงเนื่องจากมีอายุน้อยกว่า จึงช่วยส่งเสริมเรื่องการให้นมแม่

“จากผลการวิจัยพบว่ามากกว่า 80% ของคุณแม่ ในทุกพื้นที่ ทุกช่วงอายุ ทุกรายได้ และทุกระดับการศึกษา เห็นตรงกันว่าการมีข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ ช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพเกี่ยวกับสารอาหารในเด็กได้ดีขึ้น โดยสื่อหลักที่เลือกใช้หาข้อมูลคือสื่อโทรทัศน์เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook YouTube เป็นช่องทางในการให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และการดูแลลูกได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะความรู้ด้านการโภชนาการสำหรับเด็กอายุ 1-3 ขวบ ที่เริ่มใช้นมวัวเสริมอาหาร และมีองค์ความรู้ด้านโภชนาการหลายอย่าง ที่คุณแม่อาจไม่เคยรู้มาก่อน ก็จะได้ทราบถึงสารอาหารที่จำเป็น และจัดการด้านโภชนาการให้กับลูกอย่างเหมาะสม” แพทย์หญิงกิติมา กล่าว

ขณะเดียวกันผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่าคุณแม่ในปัจจุบันมีความรู้และทักษะ ในการเลือกค้นหาข้อมูลด้านโภชนาการจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ และมีความเป็นกลางเช่นเพจของคุณหมอที่ให้คำแนะนำในการดูแลเด็ก สื่อโทรทัศน์ที่ให้คำแนะนำในการดูแลด้านโภชนาการสำหรับเด็ก และสามารถแยกแยะได้ว่าสื่อไหนที่มีความเอนเอียง หรือมีแนวโน้มที่จะเชียร์สินค้าเกินจริง

นอกจากนี้ กิจกรรมหรืออีเวนท์ของแบรนด์ต่างๆ ได้ผลความน่าเชื่อถือจากคุณแม่ในกลุ่มกลุ่มเพียง 5–14% ในขณะที่ กลุ่ม Facebook การแจกของแถม รีวิวสินค้าจากอินฟลูเอนเซอร์ กิจกรรม หรืออีเวนท์ของสินค้ายี่ห้อต่างๆ มีผลวิจัยความน่าเชื่อถือของคุณแม่อยู่ในระดับเฉลี่ยเพียง 5-20% เท่านั้น

“ช่องทางและเนื้อหาที่มีความน่าเชื่อถือ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและจรรยาบรรณ จึงมีความจำเป็นในการเป็นแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือของคุณแม่ เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่า คุณแม่จะมีข้อมูลที่เหมาะสมในการดูแลด้านโภชนาการสำหรับเด็ก อย่างไรก็ดี เด็กแต่ละคนนั้นมีปัญหาและความต้องการด้านโภชนาการที่แตกต่างกัน นอกจากแหล่งความรู้จากสื่อที่มีความน่าเชื่อถือแล้ว การเข้ารับคำปรึกษาจากกุมารแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์จะช่วยให้คุณแม่ได้ความรู้และแนวทางการดูแลโภชนาการสำหรับลูกได้อย่างเหมาะสมมากที่สุด” พญ.กิติมา กล่าว

เพิ่มเพื่อน