สนค. เผยไทยต้องพร้อมรับ EUDR เมื่ออียูเตรียมแบนสินค้าเข้าข่ายทำลายป่า

สนค. แนะผู้ประกอบการจัดเตรียมข้อมูลตามเงื่อนไขของกฎหมาย EUDR ให้พร้อม หลัง อียู ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 และจะมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2567

4 มี.ค. 2567 – นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรไทยภายใต้กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR (EU Deforestation Regulation) ของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 และจะมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2567

สำหรับมาตรการ EUDR ครอบคลุม 7 กลุ่มสินค้า คือ โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โค และไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปของสินค้าเหล่านี้ โดยในปี 2565 ไทยมีการส่งออกสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการ EUDR ไปอียู รวมมูลค่า 724.73 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.34% จากปีก่อนหน้า เรียงตามมูลค่าการส่งออกสูงสุด ดังนี้ 1. ยางพารา 657.02 ล้านเหรียญสหรัฐ 2. ไม้ 43.11 ล้านเหรียญสหรัฐ 3. ปาล์มน้ำมัน 21.39 ล้านเหรียญสหรัฐ 4. โกโก้ 2.89 ล้านเหรียญสหรัฐ 5. กาแฟ 0.32 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 6. ถั่วเหลือง 0.002 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนโคเป็นสินค้าที่ไทยไม่มีการส่งออกไปอียู (จัดกลุ่มสินค้าตามพิกัดศุลกากรที่ระบุใน Regulation (EU) 2023/1115) 

ขณะที่ในปี 2566 การส่งออกสินค้าภายใต้มาตรการ EUDR จากไทยไป EU มีมูลค่า 455.58 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 37.14% จากปีก่อนหน้า โดยเรียงตามมูลค่าการส่งออกสูงสุด ดังนี้ 1. ยางพารา 386.55 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วน 84.85% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าภายใต้มาตรการ EUDR ทั้งหมด 2. ไม้ 61.53 ล้านเหรียญสหรัฐ 3. ปาล์มน้ำมัน 3.63 ล้านเหรียญสหรัฐ 4. โกโก้ 3.48 ล้านเหรียญสหรัฐ 5. กาแฟ 0.36 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 6. ถั่วเหลือง 0.02 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกไปอียูมากที่สุดในกลุ่ม คือ ยางพารา และไม้ ซึ่งในปี 2566 การส่งออกยางพารา หดตัว 41.17% สอดคล้องกับการส่งออกยางพาราจากไทยไปโลกที่หดตัวเช่นกัน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากอุปสงค์โลกชะลอตัว ขณะที่ การส่งออกไม้จากไทยไปอียู ขยายตัว 42.73%

มาตรการ EUDR ใช้กับผู้ประกอบการ (Operators) และผู้ค้า (Traders) ที่จะวางจำหน่ายสินค้าในตลาดอียู โดยสินค้าต้องผ่านเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1. สินค้าต้องไม่มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า 2. สินค้าต้องมีกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต และ 3. ต้องมีการตรวจสอบและประเมินสินค้า (Due Diligence)

ในส่วนของการทำ Due Diligence ต้องมีการดำเนินการใน 3 ส่วน คือ 1. การรวบรวมข้อมูลของสินค้า (Data Collection) (เช่น รายละเอียดสินค้า ประเทศผู้ผลิต พิกัดภูมิศาสตร์ของที่ดินที่ใช้เพาะปลูก ข้อมูลที่ยืนยันว่าสินค้าไม่ได้มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า และข้อมูลที่ยืนยันว่าสินค้าผลิตถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต) 2. การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) บนพื้นฐานของข้อมูลที่รวบรวม เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าที่จะวางจำหน่ายในตลาดอียูเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งประเมินความเสี่ยงจากการมีสินค้าที่ไม่เป็นไปเงื่อนไขที่อาจปะปนมา และ 3. การลดความเสี่ยง (Risk Mitigation) โดยหากพบความเสี่ยง จะต้องดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงลงมาให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ (เช่น หาข้อมูล และสำรวจตรวจสอบเพิ่มเติม และต้องจัดทำเอกสารเกี่ยวกับกระบวนการและมาตรการลดความเสี่ยง) 

สำหรับการดำเนินการของไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้า ต้องจัดเตรียมข้อมูลตามเงื่อนไขของกฎหมาย EUDR ให้พร้อม เนื่องจากผู้ประกอบการและผู้ค้าอียู จะซื้อสินค้าจากผู้ผลิตที่สามารถให้ข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งข้อมูลสำคัญที่จะต้องเตรียมให้มี คือ ข้อมูลเพื่อยืนยันว่าสินค้าไม่ได้มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยมีระบบลงทะเบียนที่สามารถนำมาใช้เป็นพื้นฐานรองรับมาตรการ EUDR ได้แก่ ระบบลงทะเบียนแหล่งปลูกไม้ ผ่านแอปพลิเคชันอี-ทรี (e-TREE) ของกรมป่าไม้ และระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Rubber Authority of Thailand (RAOT) GIS) ของการยางแห่งประเทศไทย

นายพูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าภายใต้มาตรการ EUDR จากไทยไปอียู ประมาณ 85-90% คือ ยางพารา รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์ไม้ ส่วนสินค้าอื่นยังมีสัดส่วนน้อย ดังนั้น ในระยะแรก ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้ายางพารา และผลิตภัณฑ์ไม้ มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากกว่า ขณะเดียวกันสินค้าสองกลุ่มนี้ มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมปลายน้ำจำนวนมาก ซึ่งอาจสร้างความซับซ้อน และก่อให้เกิดต้นทุนในการตรวจสอบย้อนกลับของห่วงโซ่การผลิตสินค้าปลายน้ำตามมา อียูถือเป็นผู้นำและเป็นต้นแบบของโลกด้านการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งการออกกฎหมายของอียู จะเป็นตัวอย่างให้หลาย ๆ ประเทศออกกฎหมายในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือกับกฎหมายกฎระเบียบใหม่ ๆ เพื่อรักษาตลาดและแสวงหาโอกาสได้ทันท่วงที

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลแนะผู้ประกอบการไทยปรับตัว ปฏิบัติตามกฎตลาดโลก

รัฐบาลเสริมความเข้มแข็งสินค้าไทย ให้เท่าทันกฎระเบียบของทุกตลาด แนะผู้ประกอบการปรับตัว หลังสเปนจ่อออกกฎใหม่ เครื่องดื่มพสาสติกต้องใช้ฝาแแบยึดกับขวด

สนค. ชี้ทุกหน่วยงานนโยบายรัฐบาลดิจิทัล เร่งทุกหน่วยงานเชื่อมข้อมูล

นโยบายรัฐบาลดิจิทัลจะประสบความสำเร็จต้องช่วยกันอย่างจริงจัง แนะเร่งหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงินเชื่อมข้อมูลระหว่างกัน