เผยผลการสำรวจดัชนีค่าครองชีพโลก ไทยอยู่อันดับที่ 94 จาก 146 ประเทศทั่วโลก

พาณิชย์ เผยผลการสำรวจดัชนีค่าครองชีพโลก ต้นปี 67 ที่สำรวจโดยเว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพโลกที่มีชื่อเสียง พบไทยอยู่อันดับที่ 94 จาก 146 ประเทศทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 5 ในอาเซียน เหตุได้รับผลดีจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐ และราคาสินค้าปรับลดลง จับตาราคาน้ำมัน ขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ และบางมาตรการช่วยเหลือสิ้นสุด อาจกระทบต่อค่าครองชีพ แนะปรับตัว วางแผนใช้เงิน  

29 มี.ค. 2567 – นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า Numbeo ซึ่งเป็นเว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพโลกที่มีชื่อเสียง ได้จัดทำดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกช่วงต้นปี 2567 พบว่า ดัชนีค่าครองชีพของไทยอยู่ที่ 36%  ต่ำกว่าดัชนีเมืองนิวยอร์ก สหรัฐฯ ที่ใช้เป็นฐานเท่ากับ 100%  โดยอยู่อันดับที่ 94 จาก 146 ประเทศทั่วโลก ถือว่าอยู่ระดับต่ำ โดยลดลงจาก 40.7 % หรืออยู่อันดับที่ 79 จาก 140 ประเทศทั่วโลกในปี 2566

สาเหตุที่ทำให้ดัชนีค่าครองชีพของไทยลดลง มาจากดัชนีสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายในร้านขายของชำ (Groceries Index) อยู่ที่ 41% ลดลงจาก 42% ในปี 2566 ซึ่งใช้สินค้าในตะกร้าในการคำนวณดัชนี อาทิ เนื้อสัตว์ นม ไข่ ขนมปัง ผัก และผลไม้ โดยสินค้าในตะกร้าดังกล่าวมีน้ำหนักมากที่สุดในการใช้คำนวณดัชนี ราคาปรับลดลง และมีทิศทางที่สอดคล้องกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร อาทิ เนื้อสัตว์ และผักและผลไม้ ที่ใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในช่วง 2 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) ที่ลดลง 0.94% และดัชนีราคาอาหารในร้านอาหาร (Restaurant Price Index) อยู่ที่18.4% ลดลงจาก 21% ในปี 2566 ซึ่งใช้สินค้าในตะกร้าในการคำนวณดัชนี อาทิ เซ็ตอาหารฟาสต์ฟู้ด เบียร์ท้องถิ่น เบียร์นำเข้า และน้ำอัดลม รวมทั้งยังมีสินค้าในหมวดการเดินทาง เสื้อผ้าและรองเท้า กีฬาและสันทนาการ และสาธารณูปโภค ที่นำมาใช้คำนวณดัชนีค่าครองชีพลดลง แต่ Numbeo ไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลตัวเลขดัชนี

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่า ดัชนีค่าครองชีพของไทย อยู่ที่ 36%  สูงเป็นอันดับที่ 5 จาก 9 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ โดยค่าครองชีพของไทยสูงกว่าฟิลิปปินส์ 33.6%  อันดับ 104 จาก 146 ประเทศทั่วโลก เวียดนาม 30.8% อันดับ 113 มาเลเซีย 30.5% อันดับ 115 และอินโดนีเซีย 28.5% อันดับ 126 ขณะที่ค่าครองชีพของไทยต่ำกว่ากัมพูชา 38.5% อันดับ 88 เมียนมา 38.6% อันดับ 87 บรูไน 50.5% อันดับ 48 และสิงคโปร์ ซึ่งมีค่าครองชีพสูงที่สุดในอาเซียนอยู่ที่ 81.9% สูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ลดลงจาก 85.9% ในปี 2566 โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีเนื้อที่ขนาดเล็ก และมีจำนวนประชากรหนาแน่น ประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ ส่งผลให้ค่าครองชีพอยู่ระดับสูง โดยประชากรในสิงคโปร์มีค่าใช้จ่ายรายบุคคลเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 1,510.8 ดอลลาร์สิงคโปร์  (ประมาณ 40,000 บาท)

สำหรับประเทศที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.เบอร์มิวดา สูงขึ้น 133.6% ชะลอตัวจาก 141.8% ในปี 2566 คาดว่าด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีข้อจำกัดเรื่องการเพาะปลูก การผลิต และต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ ประกอบกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงทำให้ราคาสินค้าและบริการแพงที่สุดในโลก 2.สวิตเซอร์แลนด์ 112.2% ชะลอตัวจาก 114.2% ในปี 2566 ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์เป็นหนึ่งประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง  มีชื่อเสียงด้านบริการทางการเงิน การผลิตเภสัชภัณฑ์ นาฬิกา เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มีระบบสวัสดิการที่ดี ทัศนียภาพของประเทศมีความโดดเด่นและสวยงาม อีกทั้งการเมืองและเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ จึงเป็นที่ดึงดูดของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ค่าครองชีพจึงอยู่ในระดับสูง และ 3.หมู่เกาะเคย์แมน สูงถึง 111.7% จาก 103.4% ในปี 2566 โดยหมู่เกาะเคย์แมนเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ถูกจัดว่าร่ำรวยที่สุดในโลก มีชื่อเสียงด้านบริการทางการเงิน และด้วยภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับชาวต่างชาติ จึงทำให้ราคาสินค้าและบริการอยู่ในระดับสูง

ส่วนประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำที่สุดในโลก 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ปากีสถาน อยู่ที่ 18.5% จาก 18% ในปี 2566 เนื่องจากปากีสถานเผชิญปัจจัยท้าทายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ ปัญหาหนี้สินที่อยู่ระดับสูง การคอร์รัปชัน และความไม่มั่นคงทางอาหาร ปัญหาดังกล่าวได้กดดันต่อกำลังซื้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าครองชีพอยู่ในระดับต่ำ 2.ไนจีเรีย 19.3% ลดลงค่อนข้างมากจาก 30.9% ในปี 2566 โดยไนจีเรีย เป็นประเทศกำลังพัฒนา ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างอ่อนแรงลงจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ โควิด-19 การขาดแคลนอาหาร และปัญหาความยากจนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จึงกดดันให้ค่าครองชีพอยู่ในระดับต่ำ และ 3.ลิเบีย 21.2%  ลดลงจาก 24.2% ในปี 2566 เป็นที่น่าสังเกตว่าลิเบียมีความเปราะบางทางการเมือง โดยถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยระดับสูงสุด และเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ ซึ่งอาจเป็นผลให้ค่าครองชีพในประเทศอยู่ระดับต่ำ

“ระดับค่าครองชีพของไทยเมื่อเทียบกับ 146 ประเทศทั่วโลก ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยได้รับผลดีจากมาจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊สหุงต้ม และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ และยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งมาตรการเพิ่มรายได้ และการขยายโอกาสในการประกอบอาชีพ แต่ก็ต้องจับตาราคาน้ำมัน ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐของไทยที่จะสิ้นสุดลง ซึ่งอาจกระทบให้ค่าครองชีพของไทยเพิ่มสูงขึ้นได้ ผู้บริโภค รวมถึงผู้ประกอบการควรเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น โดยวางแผนทางการเงินอย่างรัดกุม ประหยัด และพอเพียง”นายพูนพงษ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม การจัดทำดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ดังกล่าว คำนวณจากค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เสื้อผ้าและรองเท้า กีฬาและสันทนาการ และค่าสาธารณูปโภค (ไม่รวมค่าเช่าที่อยู่อาศัย) ซึ่งสำรวจข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ อาทิ หน่วยงานภาครัฐ ซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยเปรียบเทียบกับดัชนีค่าครองชีพของเมืองนิวยอร์ก สหรัฐฯ ซึ่งใช้เป็นฐานอยู่ที่ 100%

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

”ภูมิธรรม“ ประกาศสุดยอดข้าวหอมมะลิ และข้าวสารไทยแห่งปี หนุนเกษตรกรและโรงสีรักษาคุณภาพขั้นสูง ขยายตลาดทั่วโลก

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัลการประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย ประจำปี 2566 (ครั้งที่ 41) และรางวัลการประกวดข้าวสารคุณภาพดีเด่นแห่งประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งจัดโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในวันนี้ (24 เมษายน 2567)

'ชัย' ฟุ้งแค่ไตรมาสแรกต่างชาติลงทุนในไทยกว่า 3 หมื่นล้าน!

โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ ชื่นชมผลจากความสำเร็จรัฐบาล ไตรมาสแรกปี 2567 ต่างชาติลงทุนในไทยกว่า 3 หมื่นล้านบาท ส่งเสริมโอกาสการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ให้คนไทย

พาณิชย์ตรวจเข้ม จับตาผู้ประกอบการรับซื้อข้าวเปลือกอย่างใกล้ชิด

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตามที่อธิบดีได้สั่งการให้ตรวจเข้มการรับซื้อสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายภูมิธรรม เวชยชัย

ต่างชาติขนเงินลงทุนในไทย 3.5 หมื่นล้าน ญี่ปุ่นยังเป็นอันดับ 1

พาณิชย์โชว์ไตรมาสแรกปี 2567 ต่างชาติลงทุนในไทย 35,902 ล้านบาท ญี่ปุ่นลงทุนอันดับหนึ่ง 19,006 ล้านบาท ตามด้วย สิงคโปร์ 3,294 ล้านบาท และฝรั่งเศส 3,236 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 849 คน

พาณิชย์ แนะผู้ส่งออกศึกษา 5 เทรนด์บริโภคชาวจีนปี 67 ก่อนวางแผนผลิตสินค้าไปขาย

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผย 5 เทรนด์การบริโภคของชาวจีนที่มาแรงในปี 67 เน้นใช้จ่ายอย่างฉลาด สุขนิยมเติมอารมณ์ฟิน แพงได้แต่อย่าแพงเกิน คอมเมิร์ซสตรีมมิ่งพลิกโฉมช่องทางธุรกิจ เศรษฐกิจระดับอำเภอเติบโตขึ้น แนะผู้ส่งออกไทยศึกษา และวางแผนในการผลิตสินค้าและบริการไปขาย