ส่องศก.ไทยปี67โตได้แน่..แต่ไม่สุด?!?! พาเหรดตัดเกรดจีดีพีชี้งบอืด-ส่งออกเบา/เอกชนหวังดอกเบี้ยลด

เปิดปีมังกรทอง 2567 มาอย่างสวยงาม แต่เมื่อผ่านระยะเวลาไปจึงเริ่มเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่น่าพอใจอย่างที่หวัง แม้หลายสถาบันจะมีเครื่องชี้วัดเป็นตัวเลขชัดเจน แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงหรือผลกระทบต่างๆ เข้ามากดดันอยู่มากมาย และเมื่อผ่านไตรมาสแรกของปีนี้มาแล้วก็สามารถสรุปได้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ เศรษฐกิจไทยต้องการแรงกระตุ้นเพิ่มเติม จากทั้งนโยบายการคลังในการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ มาตรการด้านการเงิน และมาตรการกระตุ้นอื่นๆ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามยืนยันมาโดยตลอดว่า “เศรษฐกิจไทยในขณะนี้เข้าสู่ช่วงวิกฤต” สะท้อนจากปัจจัยกดดันหลายอย่าง และพยายามยกน้ำหนักของประเด็นที่กดดันการเติบโตของเศรษฐกิจว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก “อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง” โดยก่อนหน้านี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ได้เคยกล่าวภายหลังจากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2566 ว่าขยายตัวเพียง 1.7% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า

ส่วนทั้งปี 2566 นั้น เศรษฐกิจไทยเติบโตแค่ 1.9% โดยกล่าวว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมาจีดีพีของเราเฉลี่ยโตต่ำกว่า 2% ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เทียบกับลำดับจีดีพีโลกไทยก็ต่ำลงเรื่อยๆ และอย่าลืมว่าตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามายังไม่สามารถใช้งบประมาณได้เลย แม้ว่าทุกกระทรวงจะใช้นโยบายเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น แต่วันนี้ต้องยอมรับว่า “ไม่มีเม็ดเงินใหม่เข้ามาในระบบเลย”

“หลายสำนักมีการปรับลดประมาณการจีดีพีลงอย่างต่อเนื่องทุกเดือน ซึ่งรัฐบาลได้พยายามดำเนินทุกมาตรการที่มีอยู่ และส่วนตัวขอฝากไว้ว่านโยบายดอกเบี้ยไม่ต้องใช้งบประมาณ ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5% ต่อปี หากลดลงเหลือ 2.25% ต่อปี เพียงสลึงเดียว ก็จะช่วยบรรเทาภาระของพี่น้องประชาชนทุกคนได้ แต่เขาไม่ลดกัน”

อย่างไรก็ดีจากข้อมูลของ “กระทรวงการคลัง” ที่ตัดเกรดจีดีพีปี 2566 ว่าโตไม่เกินจริงที่ 1.8% แน่นอน ซึ่งเป็นการปรับลดลงมาจากคาดการณ์ก่อนหน้าที่ระดับ 2.7% เลยทีเดียว ขณะที่ปีนี้ 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ 2.8% ซึ่งก็เป็นการปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 3.2% ซึ่งยืนยันหนักแน่นชัดเจนว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่กระทรวงการคลังได้พิจารณาออกมานั้นเป็นไปด้วยความรอบคอบ ถี่ถ้วน คิดมาอย่างดีแล้ว

ส่วนเศรษฐกิจในมุมมองของ “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2567 ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี รวมทั้งประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราสูง โดยคาดการณ์ว่าในปี 2567 ตัวเลขเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ระดับ 2.6% ต่อปี และในปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มเป็น 3% ต่อปี

เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นจากปีก่อน โดยได้แรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว รวมทั้งมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

ขณะที่ “ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)” ก็ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยในปี 2567 ลงเหลือ 2.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.2% เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนของภาครัฐที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลมาจากความล่าช้าของงบประมาณปี 2567 โดยตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวยังไม่รวมผลของโครงการ Digital Wallet แต่หากมีการดำเนินโครงการดังกล่าวก็จะทำให้จีดีพีของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 1% ขณะเดียวกันก็จะส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันอีกราว 2%

คาดการณ์ระยะกลาง ไทยจะเผชิญความท้าทายในการแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ปัญหาโลกร้อน และความจำเป็นในการกำหนดนโยบายป้องกันวิกฤตการณ์ต่างๆ ในอนาคต

ส่วนในมุมมองของภาคเอกชนนั้น ต้องยอมรับว่าเกือบร้อยทั้งร้อยต่างคาดหวังที่จะได้เห็นภาพ “การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” หรือ “การปรับลดค่าธรรมเนียมนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)” อย่างที่เคยทำในอดีต เพราะมองว่าจะช่วยลดภาระทางการเงินให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยความต้องการดังกล่าวนี้สะท้อนมาจากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย โดยล่าสุด เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. ในฐานะประธานการประชุม เปิดเผยว่า ที่ประชุมประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตได้ในกรอบประมาณการที่ 2.8-3.3% การส่งออกคาดอยู่ที่ 2-3% และเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.7-1.2% ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงเติบโตได้ต่ำลง

ขณะเดียวกัน มองว่าเศรษฐกิจไทยต้องการแรงกระตุ้นเพิ่มจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยลดภาระทางการเงินให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว เพราะต้นทุนดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้ประกอบการทุกคน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีรายเล็กๆ ซึ่งมองว่าการลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% หรือ 0.50% นั้น มีความหมายสำหรับเอสเอ็มอี เพราะจะช่วยให้พวกเขารอดตายได้

สำหรับประเด็นเรื่องราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้นหลังจากหมดมาตรการพยุงราคาไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรนั้น จะส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งของภาคเอกชน ทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงประมาณ 15% ของต้นทุนทั้งหมด แต่ก็เข้าใจว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตอนนี้ติดลบกว่าแสนล้านบาท คงไม่สามารถตรึงราคาดีเซลต่อไปได้มากกว่านี้ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการอื่นๆ อย่างการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน เพื่อรื้อโครงสร้างพลังงาน จะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่า

จากความกังวลและปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวสะท้อนมายังภาคอุตสาหกรรม โดยการวัดดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ.ปี 2567 อยู่ที่ระดับ 99.27 หดตัว 2.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการผลิตยานยนต์ลดลง เป็นการหดตัวจากภายในประเทศ เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้าจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น

วรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักที่หดตัวต่อเนื่องและมีน้ำหนักในการคำนวณดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยภาพรวมการผลิตเดือน ก.พ.67 ลดลง 19.28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงเป็นเดือนที่ 7 ขณะที่ระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ภาพรวมของไทยเดือน มี.ค.67 ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในทิศทางดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในระยะนี้ สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ยังคงต้องเฝ้าระวังในตลาดสหรัฐ และติดตามภาวะถดถอยในภาคการผลิตญี่ปุ่น

ขณะที่ มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 39 ในเดือน มี.ค.2567 ภายใต้หัวข้อ “มุมมองต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบัน” พบว่าผู้บริหาร ส.อ.ท.ประเมินภาพรวมขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันเฉลี่ยทั้ง 9 ด้าน ได้แก่ ความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ และการปฏิบัติตามกฎหมาย, ต้นทุนการผลิตและการประกอบการ, ผลิตภาพแรงงาน และกำลังคนรองรับความต้องการของอุตสาหกรรม

ตลอดจนความพร้อมด้านการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และส่งเสริม R&D, การส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนภายในประเทศ ทั้ง FDI, TDI และ SME, การค้า การส่งออก และศักยภาพการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ, ความสามารถในการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และ Net Zero, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับภาคอุตสาหกรรม และศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่ใน “ระดับปานกลาง”

ซึ่งท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่มีความเปราะบาง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ทำให้ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวรับมือกับการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม

แน่นอนว่า ด้วยภาวะกดดันโดยเฉพาะกับภาคธุรกิจ ผู้บริหาร ส.อ.ท.จึงมีข้อเสนอให้ภาครัฐเร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมทั้งระบบภายใน 1 ปี โดยเฉพาะการดูแลปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนการผลิตทั้งระบบให้เอกชนสามารถแข่งขันได้ มีการปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริมความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business รวมทั้งการพัฒนาระบบและมาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานที่มีหน้าที่อนุมัติอนุญาต ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญที่ฉุดรั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนอีกมุมมองจากภาคเอกชนในฝั่งค้าส่ง-ค้าปลีกนั้น ที่ยอมรับว่ายอดขายในช่วงล่าสุดได้หดหายไปบ้าง หลักๆ เป็นผลมาจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงรอความชัดเจนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลนั่นเอง โดย สมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ระบุว่า ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาราคาสินค้ามีการปรับตัวขึ้นไปเยอะ แต่กำลังซื้อของผู้บริโภคไม่มา เนื่องจากรายได้ไม่ดี ในขณะที่ของแพงขึ้น รวมถึงการสะสมภาระหนี้สินมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ตอนนี้ได้เงินมาก็จ่ายแค่หน้าถึงเอวแต่ไม่ถึงหลัง จะเห็นได้ว่าช่วงของการเกิดโควิด-19 ก็มีการใส่กำลังซื้อไปในสังคมระดับล่างด้วยการให้กู้ยืม แต่ไม่ได้มองถึงระยะยาว ทำให้ติดกับดักหนี้ที่ตัวเองได้ก่อไว้” สมชายระบุ

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธได้ยากว่าเศรษฐกิจในขณะนี้เหมือนโตแต่ไม่สุด เครื่องยนต์หลายตัว ทั้งงบประมาณภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่ดูเหมือนจะไปได้ แต่ก็ยังไม่เต็มกำลัง ส่วนถามว่ามันถึงขั้น “วิกฤต” แล้วหรือยัง คงเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก เหมือนกับทั้งรัฐบาลและหลายฝ่ายก็ยังไม่ชี้ชัด ความหวังของประชาชนหลังจากนี้คือการเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอัดมาตรการกระตุ้นในทุกมิติ เพราะต้องยอมรับว่า ค่าครองชีพเอย ภาระหนี้สินเอย อยู่ในช่วงขาขึ้นของจริง ขณะที่รายได้นั้นยังเป็นเรื่องที่เหมือนกลืนไม่เข้า คายไม่ออกกันอยู่ต่อไป!!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เซลล์แมนสแตนด์ชิน' ภารกิจเต็มวัน ไม่ได้เข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า ยกหูเบิร์ดเดย์ 'ทักษิณ'

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงวันคล้ายวันเกิดครบ 75 ปี ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

นายกฯ เดินทางไปนครพนม มอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุและบ้านโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต

นายกฯ บินนครพนม มอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุและมอบบ้าน ตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว