20 ก.ย.2567- วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า
สองวันนี้ได้ยินคนเปรยว่า ผู้ว่าฯแบงก์ชาติเรียนจบจากไหน จึงบอกว่าไม่ต้องไปเน้นจีดีพี
คำถามที่น่าสนใจคือ จีดีพีสำคัญขนาดนั้นจริงๆ หรือ
จีดีพี (GDP - Gross Domestic Product) วัดความสำเร็จและความเจริญของชาติด้วยตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจโดยคำนวณจากมูลค่าตลาดของสินค้าและบริการที่ประเทศหนึ่ง ๆ ผลิตขึ้น เราใช้ จ.ด.พ. วัดมาตรฐานการครองชีพของประชากรในประเทศนั้น ๆ
ผู้นำประเทศต่าง ๆ มักบอกประชาชนให้เข้าใจโดยนัยว่า ค่า จ.ด.พ. ยิ่งสูง คุณภาพชีวิตยิ่งดี แต่ค่า จ.ด.พ. สูงไม่ได้มีความหมายอะไรนอกจากจะบอกว่าประเทศนั้นมีเงิน
ปัญหาคือ จ.ด.พ. ไม่สนใจว่าผลผลิตนั้นใช้ทรัพยากรของชาติใด ไม่แคร์ว่ากระบวนการได้ตัวเลขสูง ๆ ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ มันไม่ได้วัดว่าธรรมชาติเสื่อมโทรมลงเท่าไร ส่งผลกระทบต่อโลกในด้านลบแค่ไหน เช่น ปลดปล่อยธาตุคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศจนทำให้โลกร้อนมากน้อยเพียงใด หรือไก่ที่ยืนในกรงแคบ ๆ ตลอดชีวิตจะทนทุกข์ทรมานแค่ไหน
จ.ด.พ. จึงเป็นเพียงค่าทางตัวเงิน ไม่ใช่ค่าทางจิตใจ ไม่ใช่ค่าคุณภาพชีวิต มันไม่อาจวัดได้ว่าคนมีความสุขหรือไม่
GDP โดยตัวมันเองไม่ใช่เรื่องดีหรือเรื่องร้าย มันเป็นแค่ตัวเลข เหมือนตัวเลขในบัญชีธนาคารของเรา ตัวเลขเหล่านี้ไม่มีความหมายอะไรเลยจนกระทั่งเราเชื่อว่าต้องมีตัวเลขสูง ๆ จึงจะมีความสุข
เมื่อมองทุกอย่างเป็นตัวเงิน ก็ได้คำตอบแบบตัวเลข ดูเหมือนว่าเราพูดแต่เรื่องเศรษฐกิจ ไม่เคยพูดถึงเรื่องความสุขทางใจเลย
หากมนุษยชาติต้องการจะเหลือโลกที่ลูกหลานเราพออยู่อาศัยได้อย่างมีความสุข และเหลือพื้นที่ให้สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วย เราอาจต้องคิดไปไกลกว่าแค่ประกวดตัวเลข GDP เหมือนกับที่เราใช้ตัวเลขประกวดสิ่งอื่น ๆ ทั้งหลาย ตั้งแต่สัดส่วนนางงาม, ‘ความใหญ่ที่สุดในโลก’
บางทีเราควรหันไปแข่งขันตัวเลขของความสุขหรือ จ.ด.พ. หัวใจมากกว่า
จ.ด.พ. = จิตดีพี่
จ.ด.พ. = เจริญ(ทางใจ)ดีพี่
จ.ด.พ. = แจ่มดีพี่
เพราะ จ.ด.พ. ทางเศรษฐกิจหรือจะสู้ จ.ด.พ. ของความสุข
ภูฏานน่าจะเป็นประเทศแรกที่ใช้หลัก ‘จิตดีพี่’ เป็นวาระแห่งชาติ เรียกว่า GDH - Gross Domestic Happiness
จ.ด.ฮ.
จิตดี-แฮปปี้
มันก็คือ GDP ของหัวใจนั่นเอง ตัวเลขยิ่งมาก คนยิ่งมีความสุข
นี่ไม่ใช่ความคิดใหม่ คนโบราณก็ทำอย่างนี้มานานแล้ว อยู่อย่างง่าย ๆ พอเพียง และมีความสุข
เมื่อผูกความพอเพียงเข้ากับเศรษฐกิจ มันก็กลายเป็นปรัชญา ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ปรัชญาการใช้ชีวิตของปู่ย่าตายายของเรา
น่าเสียดายที่คนส่วนมากใช้คำว่า ‘พอเพียง’ ตามแฟชั่น ไม่ได้ใช้เพราะเชื่อปรัชญานี้จริง ๆ หรือเห็นประโยชน์ของมันจริง
พอเพียงก็คือวิถีแห่งพุทธ พอเพียงคือการปล่อยวาง พอเพียงคือรู้จักหยุด
พอเพียงเมื่อไรก็เย็น
เมื่อใช้หลักนี้ในทางโลกและวิถีชีวิต ก็จะได้ชีวิตที่ตัวเลข GDP ให้ไม่ได้ นั่นคือความสุขเย็น
อ่านบทความนี้แล้ว ถ้าถามว่าเรียนจบจากไหน คำตอบก็คือมหาวิทยาลัยชีวิตจ้ะ
วินทร์ เลียววาริณ
19-9-24
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ศิริกัญญา' งง รอมา 2 เดือน นโยบายกระตุ้นศก.ไม่มีอะไรชัดเจน ย้อนถามแจกเงินหมื่นช่วยอะไรได้
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า