ภาคการผลิตทรุด! ดัชนีเอ็มพีไอหดตัว 18 เดือนรวด เหตุยอดผลิตยานยนต์ลด

สศอ.โอดดัชนีเอ็มพีไอหดตัว 18 เดือนรวด งวดมี.ค. อยู่ที่ระดับ 104.06 เผยการผลิตยานยนต์ลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 8 เผย รับเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้าหลังปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง

30 เม.ย. 2567 – นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มี.ค. 2567 อยู่ที่ระดับ 104.06 หดตัว 5.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 62.39% ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสแรกของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 100.85 หดตัวเฉลี่ย 3.65% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 60.45% ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 8 จากการหดตัวของการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย

ขณะเดียวกันการส่งออกลดลงเกิดจากความต้องการสินค้าในประเทศคู่ค้าในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) ปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัว เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียม รวมถึงการเร่งใช้งบประมาณปี 2567 ของรัฐบาล คาดว่าจะส่งผลบวกให้ดัชนี MPI หลังจากนี้ปรับตัวดีขึ้น

สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนมี.ค. 2567 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” จากปัจจัยภายในประเทศหลังปริมาณการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบลดลง ส่งสัญญาณดีขึ้นเมื่อเทียบกับ เดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ส่งสัญญาณฟื้นตัวระยะสั้น ตามภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มฟื้นตัว

“ประเด็นที่ต้องจับตามอง คือ การปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มดีเซลทุกชนิด 0.50 บาทต่อลิตร ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2567 ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นเป็น 30.94 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ต้นทุนผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซลค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การฟอกและย้อมผ้า และเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น อาจทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้นกระทบค่าครองชีพของประชาชน และเกิดภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากภาวะราคาสินค้าโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น โดยทาง สศอ. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป” นางวรวรรณ กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนมี.ค. 67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.32% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องบิน ก๊าซหุงต้ม และแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นหลัก ตามความต้องการใช้ในการเดินทางที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ , สตาร์ช และผลิตภัณฑ์จากสตาร์ช (แป้งมันสำปะหลัง) ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 47.65% จากผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง เป็นหลัก ตามปริมาณหัวมันสดที่เข้าสู่โรงงานมากกว่าปีก่อน หลังปัญหาโรคใบด่างเริ่มลดลง ประกอบกับหัวมันสดราคาดีส่งผลให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก

อย่างไรก็ดี อาหารสัตว์สำเร็จรูปขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.45% จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารสุกรสำเร็จรูป เป็นหลัก โดยอาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวจากตลาดส่งออกตามความนิยมในการเลี้ยงสุนัขและแมว สำหรับอาหารสุกรเพิ่มขึ้นตามปริมาณหมูเลี้ยงจากเกษตรกรที่มีปริมาณมากกว่าปกติ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สศอ.โอดดัชนี MPI งวด ส.ค.หดตัวจับตาเศรษฐกิจคู่ค้าขาลง

สศอ.โอดดัชนีเอ็มพีไอเดือน ส.ค. 2566 หดตัว 7.53% รับกำลังซื้อประเทศคู่ค้าอ่อนแอ ส่งสัญญาณจับตาเศรษฐกิจในช่วงขาลง หวังนโยบายรัฐบาลใหม่ดันกำลังซื้อ หนุนจีดีพีอุตฯ ขยายตัว

เศรษฐกิจโลกชะลอตัว กดดันดัชนี MPI ครึ่งปีแรก ปี 66 หดตัว 4.60%

สศอ.เผยเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กดดันดัชนี MPI 6 เดือนแรก ปี 66 หดตัว 4.60% งวดมิ.ย. อยู่ที่ระดับ 95.73 ชี้ยอดผลิตมอ’ไซค์ช่วยหนุน ขยายตัวต่อเนื่องหลังความต้องการทั้งในและต่างประเทศกำลังโต

เปิดแล้ว “แมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2023” ชมเครื่องจักรรุ่นใหม่กว่า 2,000 แบรนด์ พร้อมงาน “ออโตโมทีฟ ซัมมิท 2023” ยกเครื่ององค์ความรู้ยานยนต์สมัยใหม่

เปิดแล้ว มหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ครบครันที่สุดในอาเซียน “แมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป (Manufacturing Expo) 2023” พร้อมกับงาน “ออโตโมทีฟ ซัมมิท 2023”

สศอ.มึนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เม.ย.หดตัว 8.14% 

สศอ.มึน ดัชนี MPI เดือน เม.ย. หดตัว 8.14% สะท้อนเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ต้นทุนการผลิต - การเงินเพิ่มขึ้น พร้อมปรับประมาณการ GDP ภาคอุตสาหกรรมปีนี้ คาดขยายตัวในกรอบ 0.0 - 1.0%