GC มุ่งสร้างความสมดุลผ่านความร่วมมือ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกดันไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

จากคำว่า “ยั่งยืนไม่ยาก” จนนำไปสู่การสร้างความสมดุลด้านความยั่งยืนผ่านการประยุกต์ใช้ หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนใน 3 มิติ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นหนึ่งในแนวคิดของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่ดำเนินการมาเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี และในปี 2564 GC ได้กำหนดเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 มุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ ผ่านการกำหนดแผนงาน การวัดผลและการตรวจสอบที่ชัดเจน

และที่ผ่านมา GC ดำเนินการตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ผ่านการดำเนินโครงการมากกว่า 200 โครงการ มีการใช้หลัก 5R ใช้พลังงานหมุนเวียน นำเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงสู่เทรนด์ดิจิทัล เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพโรงงาน รวมถึงแผนการบริหารจัดการคาร์บอน ภายใต้ความร่วมมือในกลุ่ม ปตท. ทั้งการศึกษาการกักเก็บ การใช้ประโยชน์จากคาร์บอน และการแสวงหาโอกาสในธุรกิจไฮโดรเจน ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่จะนำไปสู่ Net Zero ของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย

นอกจากนี้ GC ยังมีความร่วมมือครอบคลุมภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการปลูกและดูแลป่า ทั้งป่าบก ป่าชายเลน ป่าชุมชน จนมาถึงการศึกษาการปลูกข้าวนาเปียกสลับแห้ง และในทุกๆ ปีก็ได้มีการจัดงานเพื่อฉายภาพความสำเร็จของความมุ่งมั่นให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผ่านการจัดงาน GC Saturable Living Symposium และในปี 2567 นี้ได้เปิดเวทีเป็นครั้งที่ 5 ภายใต้ธีม GEN S GATHERING ที่มีแนวคิด “ยั่งยืนไม่ยาก” โดยเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาความร่วมมือ เพื่อบรรเทาปัญหาโลกเดือด และสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ พร้อมชวนทุกคนมาเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบ Net Zero Lifestyles รวมถึงจัดนิทรรศการผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยภายในงานได้มีการนำเสนอเคมีภัณฑ์เคลือบผิวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์การใช้งานในหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่สีเคลือบผิวรถยนต์ สีพ่นตู้คอนเทนเนอร์ สีเฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ Coating Resins จาก allnex ผู้นำด้านเคมีภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนระดับโลก ที่มีความปลอดภัยต่อการใช้งาน ลดการปล่อยของเสียในกระบวนการผลิต จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และยังมีผลิตภัณฑ์ไบโอเคมิคอล ไบโอพลาสติก หรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เช่น แคปซูลกาแฟ บรรจุภัณฑ์ และเส้นใยสำหรับการพิมพ์ 3 มิติ

นอกจากนี้ GC เป็นบริษัทไทยรายแรกที่ปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันดิบ ด้วยเทคโนโลยีการกลั่นขั้นสูงให้สามารถรองรับวัตถุดิบเหลือใช้จากการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำมันพืชใช้แล้ว สู่การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF ซึ่งถือเป็นพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable & Sustainable Energy ที่มีวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนจะผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค.2568 ซึ่งผลิตภัณฑ์ได้รับมาตรฐานด้านความยั่งยืนและการลดการปล่อยคาร์บอน ISSC Plus และ ISSC Corsia ซึ่งรับรองว่าผลิตภัณฑ์จากโครงการนี้ได้รับการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้ง Value Chain

นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC เปิดเผยว่า GC มีเป้าหมายในการเป็นองค์กรต้นแบบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในระดับสากล ภายใต้วิสัยทัศน์ “การเป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล เพื่่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต” พร้อมสร้างสมดุุลด้านความยั่งยืน ผ่านการกำหนดแผนงาน การวัดผลและการตรวจสอบที่ชัดเจน ซึ่งสิ่งที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนี้ สอดคล้องกับข้อตกลงสำคัญหลายประการจากการประชุมผู้นำระดับโลกในหลายๆ เวที ผู้นำทั่วโลกต่างก็หยิบยกประเด็นความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาความยั่งยืน

“เรามีความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นอย่างจริงจัง ก็เลยเป็นที่มาของคำว่า ไม่ได้เป็น Generation ของเรื่องอายุ แต่เป็น Generation ที่ต้องอยู่ร่วมกันเพื่อการสร้างความยั่งยืน วันนี้เราทำตัวอย่างให้เห็น แต่ต่อให้เราทำทั้งหมดแค่ในงานนี้ก็ยังไม่พอ เพราะทุกคนต้องช่วยกันทำให้มากกว่านี้ ช่วยกันขยายความร่วมมือและก็ดึงคนเข้ามาร่วมให้มากขึ้น เพราะต้องพูดตามตรงว่าเราไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง แต่เราพร้อมที่จะสนับสนุนแล้วก็เป็นแกนกลางเพื่อให้เกิดการต่อยอดไปเรื่อย ๆ” นายณะรงค์ศักดิ์กล่าว

นายณะรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ด้านธุรกิจของ allnex เป็นธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ แต่มีมูลค่าทางผลิตภัณฑ์สูง โดยเน้นการใช้นวัตกรรมมาพัฒนาธุรกิจปลายน้ำ โดยสิ่งที่ allnex ทำคือ ธุรกิจในการเคลือบอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง  อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ทุกๆ อย่างที่เราเห็นรอบตัวเราต้องมีการเคลือบผิวทั้งหมด เพื่อยืดอายุการใช้งาน

รวมถึงมีการแบ่งเฉพาะว่าพื้นผิวนั้นๆ ต้องการสารเคลือบที่มีคุณสมบัติแบบใด บางอย่างต้องการความทนทานแข็งแรง บางอย่างต้องการความเงาสว่าง และต้องการความมีสีสันที่สวยงาม หรือต้องการการป้องกันความชื้น โดย GC ได้ทำงานร่วมกับลูกค้า เพื่อพัฒนานวัตกรรม และออกแบบสูตรในการใช้สารเคลือบ หรือเรซิ่นต่างๆ เพื่อให้มีพื้นผิวเหมาะสมกับงานนั้นๆ และพัฒนาด้านความยั่งยืน โดยทำอย่างไรให้ใช้สารเคมีแบบไม่มีพิษกับสิ่งแวดล้อมรวมถึงยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ

ขณะที่ GC ที่อยู่ในธุรกิจของปิโตรเลียมอยู่แล้วคือเรื่องน้ำมันเครื่องบิน จึงได้เริ่มศึกษาเรื่องการพัฒนาน้ำมัน SAF อย่างจริงจัง แล้วก็พบว่าเราเองมีส่วนสำคัญในการที่จะเดินหน้าผลิตน้ำมันตัวนี้ได้ ซึ่งในเร็วๆ นี้ จะเริ่มทดลองใช้จริง และในเดือน ม.ค.2568 จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โดยเบื้องต้นจะผลิต 500,000 ลิตร และจะเพิ่มปริมาณขึ้นต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าว่าจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 20,000 ตันต่อปี

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าทางภาคของสายการบินในประเทศหลายรายก็มีความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน เนื่องจากน้ำมันเครื่องบินที่ผลิตจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว คุณสมบัติจะเหมือนกับน้ำมันเครื่องบินทุกประการ จึงทำให้ในส่วนของตัวเครื่องยนต์แทบจะไม่ต้องดำเนินการอะไรเพิ่มเติม ขณะเดียวกันในบางประเทศก็เริ่มมีการกำหนดกฎระเบียบออกมาบ้างแล้วให้สายการบินที่จะบินเข้าพื้นที่ประเทศจะต้องมีสัดส่วนของน้ำมัน SAF ผสมอยู่ในนั้น เบื้องต้นจะเป็นสัดส่วน 1% จากการผสมน้ำมันทั้งหมด สำหรับประเทศไทยอาจจะเป็นภาคสมัครใจอยู่ ไม่ว่าสายการบินใดก็ตาม แต่ก็ต้องบอกว่าเป็นการเดินหน้าที่จะสร้างระบบนิเวศที่ดีในการเดินหน้า

ส่วนด้านผลิตภัณฑ์ไบโอเคมิคอลและไบโอพลาสติกที่นำมาพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลกนั้น จุดเริ่มต้นมาจากความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้เป็นพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ทั้งหมด โดยจุดเริ่มต้นจากความร่วมมือของ GC และ บริษัท Cargill Incorporated (Cargill) ก่อตั้งบริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพคาร์บอนต่ำ Polylactic acid (PLA) ที่ทําจากทรัพยากรหมุนเวียนชั้นนําของโลก มีต้นแบบในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ใช้น้ำตาลจากข้าวโพดมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ และเมื่อเกิดการพูดคุยแล้ว ทาง GC พยายามเสนอว่าควรจะมาตั้งในประเทศไทย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีวัตถุดิบทางธรรมชาติมากมาย และสุดท้ายก็ประสบผลสำเร็จ

ขณะที่การเลือกใช้อ้อยมาเป็นวัตถุดิบ เนื่องจากส่งออกอ้อยเป็นอันดับ 2 ของโลก และมองว่าแทนที่จะใช้อ้อยเพื่อผลิตเป็นน้ำตาลและส่งออกในรูปของน้ำตาลเพียงอย่างเดียว ก็ควรจะเพิ่มมูลค่าให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ และเกิดนวัตกรรมใหม่ สามารถสร้างงาน สร้างตลาดอื่นๆ ได้ เพื่อเสริมความเป็นผู้นำของประเทศไทยในภูมิภาคนี้ โดยล่าสุดเนเชอร์เวิร์คส์ อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานขึ้น ในจังหวัดนครสวรรค์ จะแล้วเสร็จในปลายปี 2568 ซึ่งก็จะเป็นโรงงานแรกที่มีพื้นที่ตั้งอยู่นอกสหรัฐอเมริกา

“เรามองเห็นอนาคตที่ชัดเจนว่า ภาคการผลิตจะเปลี่ยนกระบวนการไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่เพียงแค่การตอบสนองต่อความต้องการของตลาด แต่เป็นการลงทุนเพิ่มขึ้นในโซลูชันที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะทำให้ภาคการผลิตสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ไปด้วยกัน” นายณะรงค์ศักดิ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน