ครั้งแรกในไทย คณะทันตแพทย์ ม.มหิดล ผ่าตัดสร้างขากรรไกร ใช้กระดูกน่อง และการต่อเส้นเลือด พร้อมใส่ฟันปลอมยึดด้วยรากเทียมสำเร็จในคราวเดียวกัน

8 มิ.ย.65 -คณะทันตแพทย์ ม.มหิดล แถลงข่าว “ผลสำเร็จการสร้างขากรรไกร โดยใช้กระดูกน่องและการต่อเส้นเลือด ร่วมกับการใส่ฟันปลอมยึดด้วยรากเทียม(Fibula Jaw in a Day)” ครั้งแรกในประเทศไทย โดยภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล นับเป็นการยกระดับการบูรณะขากรรไกรอย่างครบวงจรตั้งแต่ขั้นตอน การผ่าตัดนำกระดูกขากรรไกรออก ต่อเนื่องไปถึงการใช้ระบบคอมพิวเตอร์วางแผน 3 มิติ ในการนำกระดูกน่องมาบูรณะบริเวณช่องปาก ซึ่งได้ลดระยะเวลาการรักษาเป็นอย่างมาก ผลการรักษามีความแม่นยำ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีต่อผู้ป่วย นับเป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศไทยที่ยกระดับการผ่าตัดบูรณะใบหน้าและขากรรไกรให้สำเร็จเร็วขึ้นและปลอดภัย

ผศ.ดร.นพ.ทันตแพทย์บวร คลองน้อย หัวหน้าโครงการและทีมแพทย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การนำกระดูกน่องและเส้นเลือดมาบูรณะขากรรไกรถือเป็นหัตถการที่ทำเพื่อบูรณะรอยโรคในช่องปากที่ต้องได้รับการตัดขากรรไกรมาอย่างยาวนาน โดยมีการใช้ครั้งแรกเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ส่วนประเทศไทยเริ่มนำกระดูกน่องมาบูรณะขากรรไกร ในช่วงเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา การผ่าตัดขากรรไกรไม่ใช่เพียงตัดเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้องอก แต่ยังต้องผ่าตัดฟันออกด้วย จะมากน้อยขึ้นอยู่กับการลุกลามของโรค โดยหากไม่ได้รับการรักษาบูรณะและทำฟันปลอมในห้องผ่าตัดเลย อาจจะต้องรอ อย่างน้อย 1-2 ปี จึงจะได้รับการ ใส่ฟันเทียม หรือในบางครั้ง ด้วยความซับซ้อนของการรักษาผู้ป่วยอาจสูญเสียฟันไปเป็นการถาวร ส่งผลให้เค้าโครงใบหน้าเปลี่ยนไปจากเดิม และคุณภาพชีวิตไม่เหมือนเดิม

“จึงยังไม่มีการผ่าตัดครั้งใดที่สามารถบูรณะกระดูกขากรรไกรเชื่อมโยงไปถึงการบูรณะฟันปลอมให้คนไข้สำเร็จภายในการรักษาเพียงครั้งเดียว ซึ่งการผ่าตัดในครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการบูรณะขากรรไกรให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย ซึ่งในงบประมาณของการรักษาผู้ป่วยสามารถยื่นรักษาได้ตามสิทธิ ซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของรากเทียมที่ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละเคส” ผศ.ดร.นพ.ทันตแพทย์บวร กล่าว

อ.นพ.ทันตแพทย์คณิน อรุณากูร ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล แพทย์เจ้าของไข้ กล่าวว่า การเริ่มต้นวางแผนการรักษาผู้ป่วยเคสแรกอายุ 24 ปี เนื่องจากการตรวจพบเนื้องอก ตอนอายุ 15 ปี จนกระทั่งเข้ารับการรักษาพบว่าเนื้องอกโตตรงขากรรไกรล่างเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากเดิม และมีการลุกลามไปถึงกระดูกขากรรไกรจึงได้มีการประเมินทั้งอายุและความพร้อมของผู้ป่วยที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง จึงอยากวางแผนบูรณะขากรรไกรและการสบฟันให้ได้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุด ซึ่งการบูรณะการผ่าตัดลักษณะ Fibula Jaw in a Day เป็นครั้งแรกในไทย โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด19 ด้วย ดังนั้นการผ่าตัดในครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเคี้ยวอาหาร และใช้ชีวิตปกติได้เช่นเดิมอย่างรวดเร็ว เพื่อสภาวะจิตใจและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย

อ.นพ.ทันตแพทย์คณิน กล่าวต่อว่า โดยหลังผ่าตัดผู้ป่วยก็จะได้รับการผ่าตัดใส่ฟันปลอม ซึ่งในช่วงติดตามผลหลังผ่าตัดได้ 1 เดือน พบว่าคนไข้มีรอยยิ้มได้ใกล้เคียงปกติ เคี้ยวได้ และโดยรวมคือรูปหน้ามีความใกล้เคียงเดิม ซึ่งแผนการรักษาทั้งหมดได้รับการวางแผนมาอย่างจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา เพื่อให้การผ่าตัดประสบความสำเร็จ

อ.ทันตแพทย์หญิงวรุตตา เกษมศานติ์ กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยี 3 มิติมาใช้วางแผนการรักษาทางศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ได้กล่าวถึงขั้นตอนการวางแผนการผ่าตัดว่า โดยเริ่มต้นจากการตรวจใบหน้า การเอกซเรย์สามมิติของกะโหลกศีรษะ การใช้เทคโนโลยี สแกนช่องปาก เพื่อนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดเข้าวางแผนในโปรแกรม 3 มิติ จำลองการผ่าตัดขากรรไกรบริเวณที่มีรอยโรคออกไป และใช้เอกซเรย์ 3 มิติของกระดูกน่องมาทดแทน โดยวางแผนในโปรแกรมเพื่อให้เกิดความแม่นยำ และลดระยะเวลาการตัดแต่งในห้องผ่าตัด

อ.ทันตแพทย์หญิงวรุตตา เสริมว่า ได้มีการจัดทำแบบนำร่องการตัดกระดูกขากรรไกร และแบบนำร่องการตัดกระดูกน่อง (surgical guide) ให้มีความพอดีกัน เมื่อผ่าตัดกระดูกขากรรไกรที่มีรอยโรคออกไปจึงมีการวางตำแหน่งของกระดูกน่องให้เป็นไปตามแนวของรากเทียมและฟันเทียม เพื่อให้สามารถบูรณะการสบฟันของผู้ป่วยในห้องผ่าตัดได้ทันที โดยการทำวิธีนี้ต้องอาศัยความรู้ ความร่วมมือ และเทคโนโลยีด้านโปรแกรม 3 มิติ โดยจะมีการพิมพ์ชิ้นงาน surgical guide โมเดลขากรรไกรสามมิติ และเหล็กยึดกระดูกเฉพาะบุคคล การบูรณะโดยวิธีการดังกล่าวในต่างประเทศเริ่มนำมาใช้ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ในประเทศไทยเริ่มมีการนำมาใช้ช่วง 2-3 ปีนี้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายและอาจเป็นมาตรฐานใหม่ของการบูรณะขากรรไกร

ณัฐภัทร ทองจำรัส ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดด้วยการบูรณะแบบ Fibula Jaw is a Day) ได้เล่าว่า เริ่มจากมีอาการปวดในช่องปาก เมื่ออากาศหนาวเนื้องอกก็จะโตขึ้นส่งผลให้ไปดันลิ้น จึงพูดไม่ชัดและปวดมาก ซึ่งตรวจพบเนื้องอกในช่องปากช่วงอายุ 15 ปี ในตอนนั้นก็ยังไม่ได้ทำการรักษาที่ต่อเนื่อง เพราะด้วยวัยที่มีความกังวลต่างๆ จนตัดสินใจเข้ารับการรักษาเมื่อปี 2564 เมื่อได้พูดคุยกับแพทย์มีการทำความเข้าใจในการผ่าตัดและรักษา เพราะหากไม่ทำอาจจะลุกลามมากขึ้น หลังจากผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยก็ยังมีอาการไม่รู้สึกตรงริมฝีปากล่าง ทานอาหารได้ดีขึ้น นับว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ

เพิ่มเพื่อน