หยุดซื้อ’ทองแดงเผา’ตัดวงจรมลพิษ’ขยะอิเล็กทรอนิกส์’

จากปัญหาการลักลอบเผาและจัดการเศษซากอุปกรณ์ไฟฟ้าและขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่ถูกต้องในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศและมลพิษทางน้ำ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

 มีบทเรียนกรณีขยะอิเล็กทรอนิกส์ตำบลโคกสะอาด จ.กาฬสินธุ์ ชาวบ้านประกอบอาชีพหลักถอดแยกซากคอมพิวเตอร์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า โทรทัศน์ เครื่องยนต์ โทรศัพท์มือถือ สูดดมสารอันตรายและสัมผัสกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยตรง ตรวจพบสารตะกั่วในเลือด เสี่ยงเจ็บป่วยล้มตายด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือด จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งช่วยเหลือก่อนสายเกินแก้

แม้จะมีกฎหมายควบคุมการถอดแยกซากไม่ถูกต้องเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบยังไร้ประสิทธิภาพ  ส่วนร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  พ.ศ. .… ซึ่งจะเป็นกฎหมายควบคุมดูแลกำจัดซากยังไม่มีทีท่าว่าจะคลอด ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เตรียมนำเสนอร่าง กม.ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

ขณะที่ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษรายงานปี 2564 ปริมาณซากขยะอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นกว่า 435,000 ตัน แต่ถูกเก็บรวบรวมไปกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 70 ตันเท่านั้น  สะท้อนขยะอันตรายปริมาณมหาศาลที่สะสมกลายเป็นระเบิดเวลาชุมชนและสิ่งแวดล้อม

วิกฤตนี้มาสู่ความพยายามแสวงหาความร่วมมือในการหยุดยั้งมลพิษจากการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างจริงจัง ภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การไม่รับซื้อวัสดุมีค่าจากการเผาซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์”   ระหว่างกรมควบคุมมลพิษ ทส. และภาคีเครือข่าย จำนวน 118 แห่ง ประกอบด้วยผู้ประกอบการร้านรับซื้อของเก่า ศูนย์รับซื้อ โรงหลอมโลหะ  โรงงานรีไซเคิลทั่วประเทศ สมาคมซาเล้ง  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ณ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม  โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. เป็นประธานพิธี

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากของเสียต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งการประกอบกิจการที่ไม่ถูกต้อง ทั้งการกองทิ้งซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะทำให้สารเคมีและโลหะหนักจากชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ปนเปื้อนลงสู่พื้นดิน เมื่อดินปนเปื้อนถูกชะด้วยน้ำฝนและไหลตามทางน้ำไปสะสมในพื้นที่ หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือตะกอนดิน ทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม การเผาสายไฟ โฟม และพลาสติก ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศแพร่กระจายไปตามลม ส่งผลต่อชุมชนข้างเคียง สำหรับผู้ถอดแยกเองมีความเสี่ยงได้รับไอระเหยสารเคมีหรือฝุ่นที่ปนเปื้อนโลหะหนักอันตรายเข้าสู่ร่างกาย

จากการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง อธิบดี คพ.ยอมรับการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ดำเนินการไม่ถูกต้องยังมีข้อจำกัด ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร นำมาสู่ MOU นี้   ผู้ประกอบการยินดีร่วมมือไม่รับซื้อวัสดุมีค่าที่มาจากการเผา 

“ การหยุดมลพิษเริ่มจากผลิตภัณฑ์ทองแดงที่มาจากการเผาสายไฟ เพราะการไม่รับซื้อจะเป็นการตัดวงจรการเผาที่ดีที่สุด เป็นการใช้ความร่วมมือแทนการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมกันนี้ ผู้ประกอบการจะร่วมเป็นหูเป็นตาไม่ให้มีการแตกแถว ไม่ให้ยังมีการแอบซื้อ  ถ้าผู้ประกอบการร่วมมือกันจะไม่มีผู้เผา “ นายอรรถพล กล่าว

ภายใต้ MOU นี้ อธิบดี คพ. ย้ำจะมีความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอื่นต่อเนื่องที่จะสนับสนุนชุมชน ผู้ถอดแยกในเรื่ององค์ความรู้ เครื่องมือ เทคโนโลยี เพื่อให้การประกอบกิจการถอดแยกซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นห้ามเผาในที่โล่ง ออกข้อบังคับการประกอบกิจการที่ถูกต้องแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 จากการเผา ป้องกันมลพิษอากาศและการแพร่กระจายสารอันตรายที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของผู้ถอดแยกและประชาชน 

ส่วนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะซักซ้อมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ และสนับสนุนการยกระดับอาชีพให้กับชุมชน อาทิ ชุมชนตำบลโคกสะอาด ตำบลโนนศิลาเลิง จ.กาฬสินธุ์ ตำบลแดงใหญ่ ตำบลบ้านเป้า จ.บุรีรัมย์ และตำบลบ้านกอก จ.อุบลราชธานี ที่ประชาชนมีอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์

หัวใจสำคัญ MOU ครั้งนี้ วางแนวทางปฏิบัติชัดเจน โดยให้ท้องถิ่นควบคุมการเผาในที่โล่งและให้ประกอบกิจการถอดแยกอย่างถูกต้อง ,จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนและสนับสนุนเครื่องจักรบดย่อยสายไฟเพื่อใช้คัดแยกทองแดงแทนการเผา ,ประชาสัมพันธ์ถึงอันตรายที่เกิดจากการเผาสายไฟและขยะอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ ห้ามการเผาสายไฟในที่โล่งอย่างเด็ดขาด ฝ่าฝืนปรับ 5 หมื่นบาท , ให้ผู้ประกอบกิจการร้านรับซื้อของเก่าและโรงงานรีไซเคิลทองแดงส่งขายทองแดงที่ได้จากการเผาที่รับซื้อหรือมีครอบครองไว้ภายใน 60 วัน และให้ยกเลิกการรับซื้อทองแดงจากการเผาอย่างเด็ดขาดต่อไป และผู้ที่มีสายไฟขนาดเล็กให้ระบายไปสู่โรงงานหลอมทองแดง

ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไอทีถือว่าเป็ยขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังมีวัสดุมีค่า สามารถนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า พระเอกของงานนี้ คือ ทองแดง เมื่อรีไซเคิลหรือหลอม จะฟื้นคืนชีพกลายเป็นวัตถุดิบในการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า ธุรกิจก่อสร้าง เครื่องจักร และยานยนต์ แต่วิธีการให้ได้มาต้องถูกต้อง ถ้าเผาจะสร้างมลพิษซ้ำเติมสิ่งแวดล้อม จาก MOU โรงงานรีไซเคิลยืนกรานไม่รับซื้อวัสดุมีค่าจากการเผาซาก

หนึ่งในภาคีเครือข่าย ดร.สมไทย วงษ์เจริญ  ประธานบริหารกลุ่ม วงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้เกิดประโยชน์มาก เนื่องจากการเผาสายไฟก่อให้เกิดมลพิษที่เป็นสารก่อมะเร็ง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กลุ่มวงษ์พาณิชย์มีเครือข่ายทั่วประเทศไทย  2,222 ราย  ภาพรวมรีไซเคิลวัสดุต่างๆ  2.5 ล้านตันต่อปี  เราจะดำเนินการหยุดไม่รับซื้อทองแดงที่มาจากการเผาเด็ดขาด   

“ ลักษณะทองแดงที่มาจากการเผาจะเกิดสนิมเขียวจากการใช้น้ำราด วิธีการนี้สะดวกและไม่มีต้นทุนค่าแรงการปอกสายไฟ แต่อีกมุมสร้างมลพิษอากาศ มีสารอันตราย  ทำลายต้นทุนสิ่งแวดล้อม ซึ่ง MOU นี้ ทั้งกลุ่มวงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป และสมาคมการค้าผู้ประกอบการรีไซเคิลไทย ถือเป็นตลาดใหญ่ ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนหยุดรับซื้อ ก่อนหน้านี้ มีปริมาณการรับซื้อ 3,000 ตันต่อปี มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท แม้หยุดซื้อก็ไม่มีปัญหา เพราะยังมีการถอดแยกอย่างถูกต้อง ซึ่งคุณภาพและราคารับซื้อดีกว่าทองแดงจากการเผาอีกด้วย ตกกิโลกรัมละ 310 บาท ก็จะสนับสนุนความรู้ให้ชุมชน ซาเล้ง “ ดร.สมไทย กล่าว

นอกจากนี้ ประธานบริหาร กลุ่มวงษ์พาณิชย์ ระบุจะเร่งทำความเข้าใจและติดป้ายหยุดรับซื้อทองแดงจากการเผา  และป้ายประกาศไม่รับซื้อทองแดงผิดกฎหมายจากการโจรกรรม  ขณะเดียวกันสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคจะดำเนินการตรวจสอบกิจการคู่ขนานกันไป นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเริ่มออกเทศบัญญัติท้องถิ่นห้ามเผาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ภาพรวมในอนาคตสถานการณ์จะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ล้นประเทศ  คือ กลไกและมาตรการของภาครัฐ โครงสร้างภาษีที่ไม่เอื้อต่อการประกอบกิกจารร้านขายของเก่า โรงงานรีไซเคิล  และกฎหมายผังเมืองที่ไม่อนุญาตให้ตั้งโรงงานรีไซเคิลในเมือง ซึ่งล้าสมัย  และไม่เอื้ออำนวยต่อการรวบรวมจัดส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ หากภาครัฐส่งเสริมภาคเอกชนดำเนินการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มที่ แผ่นดินไทยจะสะอาดปราศจากมลพิษ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คพ.-กรอ.เร่งทำแผนพัฒนาระบบ PRTR โรงงาน

3 ก.พ.2567 -  นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้เดินทางเข้าพบและร่วมหารือกับนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ณ กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยหารือถึงบทบาทและภารกิจของ

จับตาทิศทางแก้ฝุ่น PM2.5 ปี 2567

ปัญหาสิ่งแวดล้อมอันดับต้นๆ ที่คนไทย โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และหลายจังหวัดภาคเหนือตอนบนเผชิญทุกปี และรับรู้ได้ชัดเจน คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ลอยปะปนในอากาศ หายใจเอาฝุ่นพิษเข้าไป  แม้อนุภาคจะเล็กมาก แต่เชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพมากมาย