คพ.-กรอ.เร่งทำแผนพัฒนาระบบ PRTR โรงงาน

คพ.-กรอ.หารือทิศทางแก้มลพิษ เร่งทำแผนพัฒนาระบบ PRTRของโรงงาน จับมือตรวจโรงงานที่เสี่ยงมลพิษ 22 ประเภท

3 ก.พ.2567 –  นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้เดินทางเข้าพบและร่วมหารือกับนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ณ กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยหารือถึงบทบาทและภารกิจของ 2 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษในทุกด้านทั้ง น้ำ อากาศ กากของเสีย และสารอันตราย

นางสาวปรีญาพร กล่าวว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ แต่การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมต้องควบคู่ไปกับการกำกับดูแลไม่ให้เกิดมลพิษ จนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน คพ. และ กรอ. ต่างมีภารกิจและบทบาทที่เกี่ยวข้องกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทั้งภายในประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศจึงหารือกันเพื่อที่จะยกระดับการทำงานให้มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาประเทศและคงไว้ซึ่งคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยทั้ง 2 หน่วยงานมีความเห็นพ้องต้องกันที่จะดำเนินงานร่วมกันในประเด็นต่างๆ ดังนี้

แผนการพัฒนาระบบทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (ระบบ PRTR) ของโรงงาน การกำหนดผู้ควบคุมระบบบำบัดน้ำเสีย ตามมาตรา 73 และการใช้ข้อมูลจากระบบการรายงานข้อมูลระบบบำบัดน้ำเสียโรงงาน ของ กรอ. เพื่อการรายงานข้อมูลภายใต้มาตรา 80 ของ พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 การกำหนดค่าควบคุมก๊าซคาร์บอนไดซัลไฟด์จากโรงงานผลิตเส้นใย และนำร่องระบบตรวจวัดกลิ่นอัตโนมัติมาใช้เพื่อเฝ้าระวังปัญหากลิ่นจากโรงงาน การจัดทำข้อเสนอแนวทางการขอใช้เงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมและกองทุนน้ำบาดาลเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนที่จำเป็น ระหว่างรอกระบวนการฟ้องร้องทางคดี ร่วมกันตรวจสอบเชิงป้องกันโรงงานที่มีความเสี่ยงมลพิษ 22 ประเภท

นอกจากนี้ ปรับปรุงข้อกำหนดเพื่อให้โรงงานประเภท 105 สามารถรองรับการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน การกำหนดแนวทางการควบคุมของเสียพลาสติก แผงโซล่าเซลล์ และแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้แล้ว จากการนำเข้า-ส่งออก ภายใต้อนุสัญญาบาเซล และการออกมาตรการและระเบียบเพื่อการจัดการซากรถยนต์ ในการหารือ ผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงาน ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนการจัดการมลพิษในทุกมิติ โดยใช้หลักวิชาการ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อความยั่งยืนของคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง