นักอุตุฯวิเคราะห์ไทยเจอ 'ภาวะโลกร้อนฝนรวน'

 ฝนตกหนักช่วงนี้ในประเทศไทยเกิดจากพายุ 2 ลูก พายุโซนร้อนกำลังแรง”โกนเซิน” กับพายุไต้ฝุ่น”จันทู” ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ประสบอุทกภัย เกิดน้ำท่วมฉับพลัน  ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศจับตา “พายุหมุนเขตร้อน”ที่เตรียมพัดถล่มเวียดนาม ซึ่งจะส่งผลให้หลายภาคของไทย มีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะวันที่ 20-22 ก.ย. ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต้องระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

            แต่ในภาพรวมรัฐบาล”ลุงตู่”ยืนยันปริมาณน้ำอยู่ในระดับทรงตัวแล้ว จากการประเมินอุทกภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานการณ์น้ำในปีนี้ไม่น่าจะเกิดมหาอุทกภัยเหมือนปี 2554

         อย่างไรก็ตาม นักวิชาการทยอยกันออกมาเตือนฝนเพิ่มขึ้น ให้มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหมดหน้าฝนนี้  พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์จุดเสี่ยงต่างๆ อย่างเต็มที่ มีแผนเผชิญเหตุที่ใช้ได้จริง  ตลอดจนฉายภาพสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่สวนทางกับภาพน้ำท่วม หวังกระตุกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชุมชน ท้องถิ่น นอกจากระบายน้ำลงทะเลเพื่อป้องกันน้ำท่วมแล้ว ยังต้องการเก็บกักน้ำไว้ใช้แล้งหน้าด้วย

             เช่นเดียวกับวงเสวนาเรื่อง “2564 จะมีน้ำท่วมใหญ่หรือไม่ เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร” จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยงานพันธมิตรด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศเมื่อวันก่อน ตอกย้ำรัฐบาลต้องมีแผนการรับมือสถานการณ์น้ำอย่างเป็นระบบ

มุมมอง ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการ กรมอุตุนิยมวิทยา   บอกว่า ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางปรากฏการณ์ธรรมชาติหลายอย่างที่จะเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดฝนผิดปกติ โดยเฉพาะร่องมรสุมที่ทำให้เกิดฝนบริเวณกว้าง และพายุหมุนเขตร้อนที่มาเติมฝนในบ้านเรา รวมถึงปรากฏการณ์เอลนิโน ซึ่งสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้ร่องมรสุมผิดเพี้ยน มิ.ย.-ส.ค.ปีนี้ไทยเจอฝนทิ้งช่วงรุนแรงและระยะเวลานาน ขณะที่เข้าเดือนกันยายน มีกลุ่มฝนพาดผ่านจำนวนมาก และความกดอากาศสูงกำลังปกติ   ปีที่แล้ว ตั้งแต่ มี.ค.-พ.ย. ฝนตกสลับทิ้งช่วง แต่ปีนี้ฝนหายไป คำถามคือ ปีต่อไปจะเป็นอย่างไร

         นักอุตุนิยมวิทยาบอกด้วยว่า อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทร 2 ฝั่ง เป็นตัวพาเมฆฝนมา ทำให้เกิดฝนมากหรือน้อยในไทย ส่วนสถานการณ์ของปรากฏการณ์ ENSO ในปัจจุบัน กลุ่มเมฆจะเกิดมากขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งใกล้ประเทศไทย ถ้ามีกำลังแรงฝนจะเข้าทวีปมากขึ้น ไทยฝนจะมากขึ้น  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เปลี่ยนแค่ฝน แต่เปลี่ยนปรากฏการณ์ทางธรรมชาติด้วยมีผลกระทบต่อประเทศไทย ซึ่งจะต้องเตรียมพร้อมรับมือ

          ประเด็นไทยเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่เหมือนสิบปีที่แล้วหรือไม่  รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต กล่าวว่า  สภาพภูมิอากาศช่วงปลายปี 64 ต่อเนื่องต้นปี 65 ปรากฎการณ์ลานีญาจะเพิ่มขึ้น แม้ระดับไม่แรง แต่มีความชื้นมหาศาล ฝนจะมากขึ้น ต้องเฝ้าระวัง การคาดการณ์สถานการณ์ฝน 6 เดือน พ.ค.-ต.ค. 2564 ภาคตะวันออกจะมีโอกาสเกิดน้ำท่วม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การคาดการณ์ปริมาณฝน 4 เดือนข้างหน้า ร่องฝนพาดผ่าน ความกดอากาศต่ำ ความชื้นสูง ก.ย.-ธ.ค.ฝนจะดีมาก แต่ไม่ได้จะเกิดน้ำท่วมทุกพื้นที่ ต้องเฝ้าระวังพื้นที่เปราะบาง

         “ ความเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่ภาคกลาง 10-20 % ภาพอีสาน 20-40% แต่ก็ประมาทไม่ได้เหมือนเหตุการณ์ฝนพันปีจีนที่เกิดขึ้น ความเสี่ยงภาคตะวันออก 30-40% ซึ่งเสี่ยงสูงมาก ภาคใต้ 50-60% กรณีหาดใหญ่จะเหมือนปี 2553 มีโอกาส 20-30% แต่ความรุนแรงลดลง เพราะมีโครงการพระราชดำริบรรเทาน้ำท่วม “ รศ.ดร.เสรี เผย

             ส่วนแผนและโครงการในอนาคตลุ่มเจ้าพระยา นักวิชาการด้านภัยพิบัติบอกปัจจุบันมีการจัดทำแผนบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประกอบด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน การปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก การบริหารจัดการพื้นที่รับน้ำนองและพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ มีการผลักดันโครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากสายใหม่ ทั้งคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ที่จะแล้วเสร็จในปี 2566 คลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย  และคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนนวงแหวนรอบที่ 3  เป้าหมายหลัก3 โครงการ งบกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อลดปัญหาน้ำท่วม แต่ยังใช้การไม่ได้ถ้าน้ำมาปีนี้  

“แม้ความเสี่ยงแค่ 10% ก็ต้องมีแผนรับมือ ถ้าเกิดน้ำท่วมใหญ่หรือฝนพันปีในปีนี้จะเตรียมพร้อมอย่างไร ก่อนเกิดเหตุ ศูนย์บัญชาการส่วนกลาง ต้องประเมินความรุนแรง และมาตรการระดับลุ่มน้ำ ความเสียหาย มีระบบคาดการณ์ เตือนภัย และอพยพ  ขณะเกิดเหตุศูนย์บัญชาการส่วนหน้าต้องประเมินระดับจังหวัด หลังเกิดเหตุน้ำท่วม ท้องถิ่น ชุมชน จะช่วยเหลือ เยียวยาอย่างไร ล่าสุดไอพีซีซีรายงานทั่วโลกต้องเร่งควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้ขยับเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพราะสภาพภูมิอากาศมั่นคงน้อยลง  ปริมาณน้ำฝนในอนาคตจะพุ่งสูง มีการประเมินระดับน้ำทะเลสูงสุดเฉลี่ยในรอบ 100 ปี  แผนที่แสดงถึงการกระจายพื้นที่น้ำท่วมขยายออกไป  ฉะนั้น มาตรการที่มีรับไม่ไหว ประเทศไทยและกรุงเทพฯ จะปรับตัวอย่างไร   “ รศ.ดร.เสรี ย้ำ

            สถานการณ์น้ำยังต้องเฝ้าระวัง  ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กล่าวว่า  ช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนก.ย.  มีฝนตกหนักในภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสาน ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก เพราะร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง  ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอ่าวไทย อันดามัน และประเทศไทยมีกำลังแรง  ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายภาคของไทย

          ผอ.สสน. กล่าวต่อว่า จากการคาดการณ์ฝนเดือน ก.ย. ถึง ต.ค.นี้ ประเทศไทยตอนบนจะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าปกติ และน่าจะมีพายุอย่างน้อย 1 ลูกเคลื่อนที่เข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอ่อนกำลังในภาคเหนือ พื้นที่ฝนตกส่วนใหญ่จะตกในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่าง และจะตกบริเวณท้ายเขื่อนมากกว่า ทำให้ไม่มีน้ำไหลลงในเขื่อนมากนัก

            “ตอนนี้พบสัญญาณว่า จะมีพายุก่อตัวที่จะเคลื่อนตัวเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงปลายเดือน ก.ย.และจะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลด้วย อาจจะเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ขณะที่เดือน พ.ย. คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติในพื้นที่ภาคใต้ อาจมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงและหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวเข้ามายังอ่าวไทยได้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักจนเกิดอุทกภัยได้ต้องเตรียมพร้อมรับมือ “
              ผอ.สสน.กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม น้ำใช้การของ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยามีน้อยมาก ปัจจุบันมีเพียง 3,100 ล้าน ลบ.ม. เมื่อเปรียบเทียบปริมาณฝนของปี 2554 ปี 2560 และ ปี 2564 พบว่า ปริมาณฝนในปี 2564 นี้ ต่างจาก 2 ปี ดังกล่าวค่อนข้างมากเกือบทั่วทั้งประเทศ ปริมาณฝนเฉลี่ย 945 มิลลิเมตร  เทียบกับปี 54 ที่น้ำท่วมใหญ่ปริมาณฝน 1,854 มิลลิเมตร  โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีฝนในพื้นที่เหนือเขื่อนน้อยมาก ทำให้น้ำไหลลงเขื่อนขณะนี้น้อยกว่าทั้ง 2 ปีดังกล่าว สำหรับพื้นที่เหนือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ยังมีปริมาณฝนตกน้อย รวมกันไม่ถึง 50 มิลลิเมตร ซึ่งเดือนตุลาคมนี้จะสิ้นสุดฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนแล้ว ยังต้องการปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนอีกมาก

             การเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมต้องครอบคลุมความเสี่ยงอุทกภัยการเกษตร โดยเฉพาะข้าว พืชอันดับต้นๆ ของไทย  ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์  สุทธินันท์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คระวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จากโควิดปี 64  เราไม่สามารถรับความเสียหายมากกว่านี้ได้อีกแล้ว เราต้องจัดการความเสี่ยงเรื่องภัยพิบัติด้านน้ำให้ได้ ตนได้ทุนจัดทำแผนที่ความเสี่ยงอุทกภัยข้าว  ซึ่งนำแผนที่ความเสี่ยงน้ำท่วมเดือน ก.ย.ปีนี้ โดย สสน.กับแผนที่ดาวเทียมเพาะปลูก โดย GISTDA ประเมินมูลค่าความเสี่ยงของข้าวที่ถูกน้ำท่วม 1เมตร  ข้าวที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวหลังเดือนก.ย. เสียหาย 100% จากน้ำท่วม ซึ่งจากแผนที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเสี่ยงมากสุด ถัดมาโขง ชี มูล

            “ ถ้าข้าวถูกน้ำท่วมเสียหายหมดตัวเลขความเสี่ยงอยู่ที่ 12,993 ล้านบาท ถ้า เดือน ต.ค.ลดลงเหลือ 11,000 ล้านบาท หากพ้นเดือน พ.ย. พื้นที่ข้าวจะถูกน้ำท่วมลดลง เหลือความเสี่ยง 2,000 กว่าล้าน  และเดือน ธ.ค. เหลือ 55 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าความเสี่ยงข้าวจากการขาดแคลนน้ำ กรณีแล้ง 2564/2565 หากดูสถิติ น้ำในเขื่อนน้อย 3 ปีติดต่อกัน  ต้นปี 2565 ข้าวนาปรังมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ จากปริมาณน้ำที่น้อย  ซึ่งในข้อเท็จจริงส่วนใหญ่ปลูกนาปรังจริงมากกว่าแผนหน้าแล้ง กรมชลฯ ไม่ส่งน้ำ ก็ยังมีการปลูกข้าวนาปรัง นี่คือ เรื่องน่ากังวล ต้องเตรียมการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ขณะที่ป้องกันน้ำท่วมก็ต้องเตรียมกักเก็บน้ำไปด้วย การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญ การบริหารจัดการน้ำที่ดีจะป้องกันน้ำท่วม-น้ำแล้ง ต้องมีการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง และอยู่บนพื้นฐานงานความรู้ วิชาการและนวัตกรรมที่สอดรับกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง “ ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าว

#น้ำท่วมภาวะโลกร้อนมหาอุทกภัยปี54ร่องมรสุม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร้อนยาวถึงพฤษภาคม ภาคเหนือระอุสุดในประเทศ

เข้าเมษายนคนไทยเผชิญกับสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัดทั่วประเทศไทย ขณะที่จังหวัดในภาคเหนือของไทยระอุที่สุด จ.ตาก วัดได้เกือบ 44 องศาเซลเซียส  อีก 2 เดือนกว่าจะพ้นหน้าร้อน กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ร้อนปีนี้ลากยาวถึงเดือนพฤษภาคม นักวิชาการกรมอุตุนิยมวิทยาที่จับตาสภาพอากาศ

'สนธิสัญญาพลาสติกโลก' ไทยลงเหวมลพิษพลาสติก

ระหว่างที่ร่างสนธิสัญญาแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก ซึ่งสมาชิก 175 ประเทศลงนามร่วมกันให้จัดทำมาตรการทางกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางการจัดการพลาสติกที่ครอบคลุมและตลอดวงจรชีวิตพลาสติก ลดการผลิตพลาสติก  เลิกผลิต เลิกใช้ ควบคุม พลาสติกบางประเภท และการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)

ครั้งแรกพบไวรัส2สายพันธุ์ในสตรอว์เบอร์รี 80 ป้องกันแพร่ระบาด ยกระดับผลผลิตคุณภาพ

นับเป็นการค้นพบครั้งแรกในประเทศไทย คณะนักวิจัย บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ค้นพบเชื้อไวรัส strawberry latent ringspot virus (SLRSV) และ strawberry crinkle virus (SCV) ในสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 สาเหตุการเกิดโรคใบจุดและใบย่นในพื้นที่เพาะปลูก

ปี 2566 ไทยมีคุณภาพอากาศแย่ติด 1 ใน 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 ของ IQAir ระบุว่าประเทศไทยมีคุณภาพอากาศในระดับที่แย่เป็นอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวัน