กสม.พร้อมหนุน มท.แก้ไขปัญหาคนไทยพลัดถิ่น

คณะกรรมการสิทธิฯ แจงผลหารือร่วมกรมการปกครอง เร่งแก้ไขปัญหากลุ่มคนไทยพลัดถิ่น และคุ้มครองสิทธิผู้หนีภัยการสู้รบชาวเมียนมาในไทย

10 มี.ค.2565 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางปรีดา คงแป้น แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 9/2565 ว่าตามที่ กสม.ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์กรณีปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ จังหวัดระนอง เมื่อเดือนมกราคม 2565 และได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีขอให้คุ้มครองสิทธิมนุษยชนและแก้ปัญหาของผู้หนีภัยการสู้รบชาวเมียนมาในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ จังหวัดตาก และพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2564 นั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดำเนินไปอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 กสม. โดยนางปรีดา และ น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กสม.ได้เข้าหารือร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย นำโดยนายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง และนายสมยศ พุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการปกครอง ถึงปัญหา อุปสรรค และแนวทางในการทำงานร่วมกันระหว่าง กสม. และ กรมการปกครอง ณ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยในการประชุมหารือดังกล่าวมีข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้

1.การเร่งรัดกระบวนการพิสูจน์สิทธิและรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น (คนเชื้อสายไทย) ซึ่งกรมการปกครองได้ขึ้นทะเบียนไว้ราว 18,000 คน และได้รับการรับรองไปแล้ว ราว 10,000 คน นั้น ในโอกาสครบ 10 ปีของการออกกฎหมายสัญชาติฉบับที่ 5 และเพื่อเป็นการเร่งรัดกระบวนการนี้ให้เร็วขึ้น กรมการปกครองอาจเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ทะเบียนแต่ละอำเภอ หรือ จัดทีมจากส่วนกลางไปร่วมรับคำขอพิสูจน์ความเป็นคนไทยพลัดถิ่น รวมทั้งข้อมูลที่เครือข่ายแก้ไขปัญหาคืนสัญชาติคนไทยได้เสนอว่ามีคนไทยพลัดถิ่นตกสำรวจอีกราว 1,300 คน โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ยินดีรับไปดำเนินการเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาและประสานความร่วมมือกับ กสม. ต่อไป

2.กรณีที่มีเรื่องร้องเรียนมายัง กสม. เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาสิทธิสถานะกลุ่มอื่นๆ นั้น ระยะที่ผ่านมา กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียน 24 เรื่อง โดยรวมเป็นกรณีการพิจารณาคำขอลงรายการสัญชาติล่าช้า กรณีเจ้าหน้าที่ไม่รับจดทะเบียน หรือไม่ออกเอกสารรับคำขอให้แก่ผู้ยื่นคำขอ เป็นต้น ที่ประชุมหารือแก้ไขปัญหาโดยให้ กสม. ส่งเอกสารร้องเรียน ไปยังสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง อีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้เกิดการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ลดขั้นตอนในกระบวนการตรวจสอบและทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

3.สำหรับค่ายพักพิงชั่วคราว กรมการปกครองให้ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2565 ว่า มีผู้หนีภัยการสู้รบชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ใน 4 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และ ราชบุรี จำนวน 77,384 คน ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงและกะเหรี่ยงแดง (กะยาห์) ซึ่งประเทศไทยโดยความร่วมมือขององค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้ให้การดูแลผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาในพื้นที่พักพิงชั่วคราวมาเป็นเวลา 37 ปี ในส่วนของกรมการปกครองได้ดำเนินการดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว การจัดทำทะเบียนผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา บริหารจัดการภายในพื้นที่พักพิงชั่วคราว เช่น การออกหนังสือรับรองการเกิด มรณบัตร ทะเบียนประวัติครอบครัว ตาม พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และการจัดทำแผนและมาตรการเพื่อป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นภายในพื้นที่พักพิง เป็นต้น ซึ่งกรมการปกครองพร้อมขับเคลื่อนนโยบายในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หนีภัยฯ ร่วมกับ กสม. ต่อไป

“เป็นที่ทราบกันว่าทั้งปัญหาสถานะบุคคล และปัญหาผู้หนีภัยจากการสู้รบในค่ายพักพิงชั่วคราว เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่อาจแก้ไขให้แล้วเสร็จได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น ต้องใช้ความร่วมมือหลายฝ่าย อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่าความล่าช้าคือความไม่ยุติธรรมที่ทำให้กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น คนไร้รัฐไร้สัญชาติทุกกลุ่ม รวมทั้งผู้หนีภัยจากการสู้รบในเมียนมาที่อยู่มายาวนาน เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนสมควรได้รับ กสม. จึงขอขอบคุณกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ยินดีรับปัญหาเหล่านี้ไปเร่งดำเนินการแก้ไข โดย กสม. พร้อมให้การสนับสนุนในทุกขั้นตอน” นางปรีดากล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลชวนนักเรียนใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ สมัครเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย 44 ทุน

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย รัฐบาล โดยกระทรวงมหาดไทย เปิดรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2566 ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และสงขลา (เฉพาะอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) สมัครเข้าโครงการจัดส่งนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย

อนุทิน ตั้งรับดิจิทัลวอลเล็ต ย้ำมหาดไทย ส่งเสริมโอกาส-ระวังภัยมิจฉาชีพ

11 เม.ย. 67 ภายหลังนายกรัฐมนตรีแถลงความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตวานนี้ ยืนยันประชาชนลงทะเบียนได้ในไตรมาสสาม และผู้มีสิทธิจะได้รับเงิน 10,000 บาทผ่านซูเปอร์แอพนั้น ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายอนุทิน ชาญวีรกูล

โฆษก มท. แจงดราม่าด้อยค่านมโรงเรียน ยันคุณภาพผ่านมาตรฐาน อย.

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับข้อคิดเห็นของประชาชนบางท่านเกี่ยวกับนม ตามโครงการอาหารเสริม (นม)

กสม.ชี้ฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อจ.นครปฐม ก่อมลพิษทางกลิ่น จี้อบต. กำกับแก้ไขปัญหา

กสม. ตรวจสอบกรณีฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อจ.นครปฐม ก่อมลพิษทางกลิ่น ส่งผลกระทบต่อสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน แนะ อบต. กำกับแก้ไขปัญหา

'อนุทิน' นำ รมช.-ขรก. จัดงาน 132 ปี วันสถาปนากระทรวงมหาดไทย

'อนุทิน' นำข้าราชการ จัดงานครบรอบ 132 ปี วันสถาปนากระทรวงมหาดไทย น้อมรำลึกและสืบสานปณิธานแห่งองค์ปฐมเสนาบดี บำบัดทุกข์บำรุงสุข

ได้ขันน็อตระบบ ! “วันวิชิต” ชม “อนุทิน” จับโคตรบ่อนบางใหญ่

23 มีนาคม 2567 ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ให้ความเห็นเรื่องการบุกจับบ่อนขนาดใหญ่ ในหมู่บ้านพระปิ่น 3 ย่านบางใหญ่ จ.นนทบุรี