UNDP ชื่นชม 'บิ๊กตู่' ให้ความสำคัญแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

นายกฯ หารือรองเลขาธิการสหประชาชาติ ประสานความร่วมมือในพัฒนาฐานราก การจัดการมลพิษพลาสติก และขยะทะเล

31 มี.ค.2565 - ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอาคิม สไตเนอร์ (Mr. Achim Steiner) รองเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้บริหารสูงสุดของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมกับหัวหน้าสำนักงาน UNDP ในภูมิภาค

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญว่า นายกฯ ชื่นชมรองเลขาธิการฯ ที่มีบทบาทแข็งขันในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนมากว่า 30 ปี และยินดีที่ทราบว่ารองเลขาธิการฯ มีประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับประเทศไทยและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สำหรับประเทศไทยได้ให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทาง เพื่อนำประเทศไปสู่อนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ ไทยมีเป้าหมายส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมโดยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องและส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) เป็นวาระสำคัญในฐานะเจ้าภาพเอเปกในปีนี้ ไทยพร้อมสนับสนุนการทำงานของ UNDP อย่างเต็มที่ และเชื่อมั่นว่าสหประชาชาติ และ UNDP จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ในการตอบสนองต่อความท้าทายของโลกในปัจจุบันได้

นายธนกร กล่าวว่า รองเลขาธิการฯ ยินดีที่ได้พบกับนายกฯ ในวันนี้ เป็นโอกาสอันดีที่จะได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับ UNDP ในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยรองเลขาธิการฯ กล่าวว่าไทยและUNDP มีความร่วมมือกันมายาวนาน และชื่นชมไทยที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเวทีระหว่างประเทศ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศต่างๆ มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการส่งเสริมแนวทางการพัฒนาที่ประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งรองเลขาธิการฯ แสดงความประทับใจและชื่นชมว่าเป็นแนวทางที่เป็นแบบอย่างในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้และปฏิบัติได้จริงในหลายประเทศ

นายธนกร กล่าวว่า รองเลขาธิการฯ ยังได้ชื่นชมบทบาทผู้นำของนายกฯ ในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาฐานราก และมุ่งแก้ปัญหาในประเด็นสำคัญดังกล่าว โดยการแก้ไขความยากจนและการลดความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่ UNDP มุ่งแก้ไขมาอย่างยาวนาน ซึ่ง รองเลขาธิการฯ มองว่า ความขัดแย้งระหว่างประเทศยิ่งทำให้เห็นความสำคัญของความร่วมมือแบบพหุภาคี โดยไทยนับเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญในการเพิ่มพูนความร่วมมือเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน UNDP จึงประสงค์ร่วมมือกับไทยในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ระหว่างกัน

นายธนกร กล่าวว่า นายกฯ และรองเลขาธิการฯ เห็นพ้องกันว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อความร่วมมือของประเทศต่างๆ ในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนายกฯ รีกล่าวว่า สำหรับไทย UNDP ได้สนับสนุนการพัฒนาประเทศของไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการสนับสนุนไทยในการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) และ SDGs ในปัจจุบัน พร้อมยังยินดีที่มีการรับรองแผนงานซีพีดี (Country Programme Document: CPD) ของ UNDP ในประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569) เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือตามแผนงานฯ จะนำพาประเทศไทยไปสู่ 3 เป้าหมาย คือ การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคน และการก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาในประเด็นสำคัญ ๆ ได้แก่ รายได้และการลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา สุขภาพ และการเข้าถึงการบริการของภาครัฐ

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ด้านความร่วมมือการจัดการมลพิษพลาสติกระดับโลก ทั้งสองต่างเห็นพ้องว่ามลพิษพลาสติกและขยะทะเลเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องให้ความสำคัญ การจัดการปัญหามลพิษพลาสติกอย่างยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศและทุกภาคส่วน เพราะแต่ละประเทศมีขีดความสามารถที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนและสนับสนุนองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่กัน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลไทยดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาชนในทุกระดับ โดยอาศัยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมการลดใช้พลาสติก และสนับสนุนการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ตั้งเป้านำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ร้อยละ 100 ภายในปี 2570

โฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีขอบคุณ UNDP ที่ร่วมมือกับหน่วยงานของไทยเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรมในการจัดการขยะ ผ่านโครงการธนาคารขยะชุมชน ซึ่งช่วยการบูรณาการความพยายามของภาคส่วนต่างๆ ในการจัดการขยะ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับขยะตามแนวนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งรองเลขาธิการฯ ชื่นชมไทยที่ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และผลักดันเป็นวาระสำคัญระดับภูมิภาค โดยยินดีสานต่อความร่วมมือกับรัฐบาลและหน่วยงานของไทย เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง