'นักดาราศาสตร์' เผยภาพ 'The Cosmic Cliff' จาก 'JWST' สามารถสังเกตด้วยตาเปล่าจากประเทศไทย

'ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์' เผยภาพ The Cosmic Cliff-ภูผาแห่งดวงดาว จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ JWST อยู่ใน Carina Nebula ในกลุ่มดาวกระดูกงูเรือในซีกฟ้าใต้ สามารถสังเกตด้วยตาเปล่าจากประเทศไทย

15 ก.ค.2565 - ดร. มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า

"The Cosmic Cliff"

จากภาพที่ได้ชื่อว่า "The Cosmic Cliff" หรือ "ภูผาแห่งดวงดาว" ของ JWST ที่เพิ่งได้เปิดเผยไปในวันที่ 12 ที่ผ่านมานี้ เรามาลองดูกันครับ ว่าภาพนี้อยู่ตรงไหน

The Cosmic Cliff นั้นเป็นภาพของเนบิวลา NGC 3324 ที่อยู่ใน Carina Nebula ในกลุ่มดาวกระดูกงูเรือในซีกฟ้าใต้ เป็นบริเวณที่ลมสุริยะจากดาวฤกษ์สว่างที่เลยไปด้านบนของภาพ ปะทะเข้ากับกลุ่มแก๊สและฝุ่นในห้วงอวกาศ เกิดเป็นรูปร่างที่คล้ายกับทิวเขา และเป็นบริเวณที่มีดาวฤกษ์กำลังถือกำเนิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

แท้จริงแล้ว Carina Nebula หรือเนบิวลากระดูกงูเรือนั้น เป็นเนบิวลาที่มีขนาดใหญ่ และสว่างมากที่สุดเนบิวลาหนึ่งบนท้องฟ้า และสามารถสังเกตได้แม้กระทั่งด้วยตาเปล่าจากประเทศไทย โดยปรากฏเป็นฝ้าจางๆ หากถ่ายภาพด้วยกล้องเปิดหน้ากล้องเป็นระยะเวลานานอาจจะเห็นเป็นสีแดง

ภาพบนซ้ายคือภาพตำแหน่งของ Carina Nebula เหนือขอบฟ้าทางทิศใต้ จากดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผมเคยบันทึกเอาไว้ ภาพบนขวาคือภาพเนบิวลาเดียวกันที่ผมบันทึกเอาไว้ผ่านกล้องโทรทรรศน์ จากตำแหน่งใกล้เคียงกับที่ถ่ายภาพ และในทางด้านล่างขวาของภาพบนขวา เราจะเห็นส่วนของ NGC 3324 ที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ บันทึกภาพเอาไว้ ในภาพด้านล่างนั่นเอง

จะเห็นว่า แม้ว่าภาพเหล่านี้อาจจะดูไกลเกินโลกออกไปมาก แต่แท้จริงแล้วมันก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของท้องฟ้าที่เราทุกคนสามารถชื่นชมได้ ในทางหนึ่งเราอาจจะมองว่าเนบิวลานี้ก็ไม่ได้ "ไกล" เกินไปกว่าที่ตาเราจะมองเห็น เพราะจากภาพบนขวาเราก็พอจะบอกได้ว่าเนบิวลานี้อยู่บริเวณใดบนท้องฟ้า แต่ในขณะเดียวกัน เราก็อาจจะสามารถสัมผัสได้ถึงความห่างไกล เกินกว่าที่ตาธรรมดาของมนุษย์จะสามารถมองเห็นได้ หากเราไม่ได้มีการประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์อวกาศมาเป็นเครื่องมือช่วยให้เราสามารถสังเกตเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น

แต่ไม่ว่า "เครื่องมือ" ที่เราใช้นั้นจะสลับซับซ้อนเพียงใด หรือสังเกตในช่วงคลื่นใด แต่สุดท้ายแล้ว เราก็กำลังแหงนหน้าขึ้นไปมองท้องฟ้า และเอกภพเดียวกันกับที่เราอาศัยอยู่

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นักดาราศาสตร์' เผยโฉม 5 ภาพสีชุดแรก ในห้วงอวกาศไกลโพ้นนับพันล้านปีแสงจากกล้องอวกาศ 'เจมส์ เว็บบ์'

'ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์' เผยโฉม ภาพสี 5 ภาพแรก ในห้วงอวกาศ อยู่ห่างออกไปนับพันล้านปีแสง ที่ถูกบันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ 'เจมส์ เว็บบ์' นักดาราศาสตร์หวังจะช่วยไขปริศนาอีกหลายอย่างที่ยังไม่มีคำตอบให้มนุษยชาติได้