'ยูเอ็น' ยินดี ไทยประกาศใช้ กม. ป้องกันทรมาน-อุ้มหายฯ

31 ต.ค. 2565 – เว็บไซต์สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ยินดีที่ประเทศไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565

โดย น.ส.ซินเทีย เวลิโก้ ผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุว่า การประกาศใช้กฎหมายนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการปราบปรามการทรมาน การทารุณกรรม และการกระทำให้บุคคลสูญหายในประเทศไทย ซึ่งมีบทบัญญัติในการเอาผิดผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอาญา และมีเนื้อหาครอบคลุมหลักการที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการที่จะไม่ถูกทรมานเป็นสิทธิมนุษยชนที่ไม่อาจระงับชั่วคราวได้ (non-derogation) และหลักการไม่ส่งใครกลับไปเผชิญอันตราย (non-refoulement) ซึ่งป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ขับไล่ เนรเทศ หรือส่งบุคคลใดไปยังอีกประเทศหนึ่งที่เขาอาจเผชิญความเสี่ยงต่อการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (cruel, inhuman or degrading treatment) หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย ทั้งนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่การประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

โดย พ.ร.บ.นี้ จะทำให้ผู้เสียหายจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยบังคับหรือไม่สมัครใจและญาติ มีกรอบทางกฎหมายในการเรียกร้องการเยียวยาทางกฎหมาย รวมถึงการเอาผิดผู้กระทำผิดจากอาชญากรรมอันเลวร้ายนี้ประเทศไทยมีกรณีการกระทำให้บุคคลสูญหายที่คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยบังคับหรือไม่สมัครใจ (The United Nations Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances) บันทึกว่ายังไม่ได้รับความกระจ่างชัดทั้งสิ้น 76 กรณี

ผู้แทนประจำภูมิภาคฯ เน้นย้ำว่า ยังมีบทบัญญัติในกฎหมายสามประการที่ควรได้รับการแก้ไข เพื่อให้พ.ร.บ.นี้ เป็นไปตามกฎหมายและหลักการระหว่างประเทศอย่างครบถ้วน ได้แก่ การอภัยโทษในฐานความผิดตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ การรับฟังพยานหลักฐานที่ได้จากการทรมานในกระบวนการดำเนินคดีทางอาญา และการกำหนดอายุความของคดีการกระทำให้บุคคลสูญหาย

“สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติขอชื่นชมประเทศไทยที่ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้ในการทบทวนสิทธิมนุษยชนครั้งล่าสุด ตามกระบวนการ Universal Periodic Review หรือ UPR ทั้งนี้ หลังจากที่มีกรอบกฎหมายบังคับใช้ในประเทศแล้ว ประเทศไทยสามารถดำเนินการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และ พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Optional Protocol to the Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ในลำดับถัดไป สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคฯ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนทางเทคนิคแก่รัฐบาลตามที่มีความจำเป็น” น.ส.ซินเทีย ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม.ชง 'อสส.-คกก.ป้องกันการทรมานฯ' สอบตร.บังคับข่มขู่ 'ลุงเปี๊ยก' คดีฆ่า 'ป้าบัวผัน'

กสม. มีหนังสือด่วนที่สุดถึง อสส. และ คกก.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของตำรวจ บังคับข่มขู่ 'ลุงเปี๊ยก' รับสารภาพในคดีฆ่า 'ป้าบัวผัน' แล้ว

สหประชาชาติเตือน ฉนวนกาซาแทบไม่เหลือสภาพเป็นที่อยู่อาศัยแล้ว

ความช่วยเหลือเข้าถึงฉนวนกาซาได้มากขึ้น สหประชาชาติและองค์กรช่วยเหลืออื่นๆ จะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการรับและแจกจ่ายความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

2 นักสู้ไอโอโจมตี ตบหน้ารัฐ ไร้มาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ ปล่อยลอยนวลพ้นผิด

คืบหน้ากรณีไอโอโจมตี อังคณา – อัญชนา  สองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เผยรัฐไทยได้ทำหนังสือชี้แจง 5 ประเด็นใหญ่ตามข้อสงสัยของคณะผู้เชี่ยวชาญยูเอ็น ซัดกลับไร้มาตรการรูปธรรมคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ ปล่อยลอยนวลพ้นผิด