น้ำเขียว-ทะเลเรืองแสง เกี่ยวข้องกันหรือไม่ ‘ดร.ธรณ์’ มีคำอธิบายชัดเจน

20 ส.ค.2566-ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เรื่อง น้ำเขียว-ทะเลเรืองแสง เกี่ยวข้องกันไหม ? คำตอบคือใช่ครับ” ระบุว่า ตอนนี้น้ำเขียวกลับมาที่ชายฝั่งชลบุรี เช่น เกาะสาก บางที่ เช่น ศรีราชา ถึงขั้นมีปลาตาย บางแห่ง เช่น บางแสน ตอนนี้มีปรากฏการณ์ทะเลเรืองแสง เห็นเป็นสีฟ้า ทั้งหมดนั้นล้วนมาจากปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม ที่เล่าไปหลายหนแล้ว

แพลงก์ตอนที่สะพรั่ง (บลูม) อยู่ตอนนี้คือพวกไดโนแฟลกเจลเลต สกุล Noctiluca เป็นแพลงก์ตอนพืชที่พบทั่วไป ไม่มีพิษ แต่บางครั้งจะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และเมื่อตายลงพร้อมกัน จะทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง โดยเฉพาะใกล้พื้นทะเล

กรมทะเลเพิ่งสำรวจเมื่อวาน การตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้นมีค่าอุณหภูมิ 32.5-35.4 องศาเซลเซียส และออกซิเจนละลาย 0.70-5.51 มิลลิกรัมต่อลิตร สังเกตตัวเลขอุณหภูมิ หากไม่ผิดพลาดประการใด ถือว่าสูงผิดปรกติ เพราะอุณหภูมิน้ำช่วงนี้ของเดือนไม่ควรถึง 32 องศา

หากไม่ผิดพลาดประการใด อาจบ่งบอกว่าเอลนีโญเริ่มแรงขึ้นแล้ว แต่คงต้องตามต่อไปอีกสักระยะ ออกซิเจนบางจุดแถวอ่าวอุดมต่ำกว่า 1 ถือว่าต่ำมากครับ ไม่น่าแปลกที่ปลาตาย (ปรกติน่าจะ 5-6) มาถึงเรื่องทะเลเรืองแสง มาจากแพลงก์ตอนบลูมเช่นกัน เป็นกระบวนการ Bioluminescence ที่เกิดกับแพลงก์ตอนกลุ่มนี้แหละ

ในไต้หวัน มีบางหาดที่เป็นจุดท่องเที่ยว ไปดูทะเลเรืองแสง ก็เป็นแพลงก์ตอนกลุ่มเดียวกัน อาจมีบางจังหวะที่ทำให้ทะเลเรืองแสงเป็นสีฟ้า ที่บางแสงก็เคยเกิดหลายหนแล้ว แต่ทำนายเป๊ะๆ ไม่ได้ แม้ทะเลเรืองแสงจะสวยดี แต่อย่าลืมว่านั่นคือความผิดปรกติ ทำให้ปลาตาย น้ำเหม็นคาว ส่งผลต่อการประมง/เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง การท่องเที่ยว ฯลฯ

การเกิดน้ำเขียวแพลงก์ตอนบลูมอย่างต่อเนื่องในชาวฝั่งบางแสน/ศรีราชา/อ่าวอุดม/พัทยา/เกาะต่างๆ แถวนั้น เป็นเรื่องที่ผมเขียนมาต่อเนื่อง 2 เดือนแล้ว ดูจากความถี่แล้ว น่าจะมากกว่าปีก่อน อาจเป็นเอลนีโญ อาจเป็นโลกร้อน อาจมาจากผลกระทบจากมนุษย์โดยตรง ฯลฯ

ผมเขียนแนวทางศึกษา หาทางเตือนภัย ปรับตัว ฯลฯ ไปหลายครั้ง ขอไม่เขียนซ้ำ แต่ที่คงต้องซ้ำๆๆ คือทะเลกำลังแปรปรวนอย่างหนัก เราคงต้องเร่งเรียนรู้ทำความเข้าใจทะเลยุคใหม่ เพื่อหาหนทางรับมือ/ปรับตัวให้ดีกว่านี้ ไม่งั้นชายหาดของเราก็คงมีแต่น้ำเขียวๆๆ ปลาตายๆๆ เหมือนที่เห็นในภาพครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เศร้า! 'ดร.ธรณ์' เปิดภาพหญ้าทะเล 810 ไร่ ที่เกาะกระดาด หายไปทั้งหมด

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กพร้อมภาพหญ้าทะเล ว่า

'ดร.ธรณ์' ชูเด็กไทยกวาดรางวัลภาพถ่ายระดับโลกตอกย้ำ Soft Power ไทย

'ดร.ธรณ์' สุดปลื้ม เด็กไทยกวาดรางวัลภาพถ่ายวาฬบรูด้า ตอกย้ำ Soft Power ไทยไม่แพ้ใครในโลก เผยวาฬบรูด้าในอ่าวไทยตอนนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 60 ตัวแล้ว