นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้ “รัฐสภายุโรป” ประณาม “ไทย” กรณีการส่งตัวอุยกูร์กลับจีน มีความน่ากังวลอย่างมาก เหตุ EU ยึดสิทธิมนุษยชน-ประชาธิปไตย เป็นหลักการเจรจาทางการค้า ยกเคสปี 57 การทำกรอบความตกลง PCA เคยสะดุดจากรัฐประหาร ชี้บรรยากาศพูดคุยที่ดีกับกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า อาจไม่เพียงพอสำหรับบรรลุ FTA เพราะรัฐสภายุโรปมีสิทธิในการตัดสินใจด้วย
17 มีนาคม 2568 - หลังจากรัฐสภายุโรปมีมติ 482 เสียง ต่อ 57 เสียง ประณามประเทศไทยกรณีส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับจีน และเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปใช้กลไกการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กดดันประเทศไทยให้ปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ทางรัฐบาลไทยได้แสดงท่าทีด้วยการให้ความมั่นใจว่า มติดังกล่าวไม่กระทบการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU ) พร้อมยืนยันว่า ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันเร่งรัดเพื่อให้บรรลุข้อตกลงภายในวันที่ 25 ธ.ค. นี้
รศ. ดร.สุนิดา อรุณพิพัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ผลจากการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับ EU จะมีความสำคัญมากต่อการผ่อนคลายความกดดันทางการค้าของประเทศไทย เนื่องจากไทยพึ่งพาทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนจากประเทศสหรัฐอเมริกาและจีนเป็นหลัก ซึ่งในสถานการณ์ที่ภูมิเศรษฐศาสตร์โลกมีความผันผวนไม่แน่นอน การเปิดตลาดใหม่หรือมีตลาดเพิ่มเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ฉะนั้นหากรัฐบาลสามารถบรรลุ FTA กับ EU ได้ ก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง
อย่างไรก็ดี จากมติของรัฐสภายุโรปที่ประณามประเทศไทยนับเป็นสิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก เนื่องจากสมาชิกรัฐสภายุโรปมาจากการเลือกตั้งที่ยึดโยงประชาชนแต่ละประเทศ มติที่ออกมาจึงถือเป็นสะท้อนของทุกประเทศในยุโรป นอกจากนี้ที่ผ่านมาก็มีความชัดเจนว่า EU ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย และใช้หลักการนี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการเจรจาการค้ากับทุกประเทศ ฉะนั้นท่าทีของรัฐสภายุโรปเช่นนี้จึงนับเป็นการบ้านที่หนักมากของรัฐบาลและคณะเจรจาของประเทศไทย
นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวต่อไปว่า รูปธรรมหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า EU ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในการเจรจาทางการค้าก็คือ กรณีการจัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย (PCA) ที่เริ่มต้นการเจรจาครั้งแรกในปี 2547 และหยุดชะงักลงในเมื่อปี 2557 จากเหตุการณ์การรัฐประหารในประเทศไทย จนกระทั่งอีก 6 ปี ถัดมาคือในวันที่ 25 ก.ย. 2563 จึงจะกลับมาเริ่มต้นการเจรจากันต่ออีกครั้ง จนสามารถบรรลุการเจรจาทั้งหมดได้ในท้ายที่สุด
“ถ้าสหภาพยุโรปไม่สนใจหลักการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ถามว่าเหตุใดการเจรจาในปี 2557 ถึงหยุดชะงักลง นี่คือหลักการที่สหภาพยุโรปคำนึงถึงโดยไม่ได้พูดแยกส่วนว่าเป็นหลักของฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติ แต่คือหลักการเบื้องต้นของสหภาพยุโรปโดยรวม ซึ่งเป็นกรอบใหญ่ที่ครอบการเจราจาทางการค้าและการเจรจาอื่นๆ ทั้งหมดกับทุกประเทศ ไม่ใช่แค่กับประเทศไทย ที่สำคัญก็คือก่อนจะมีการเจรจา FTA ก็ต้องมาดูสิ่งที่ระบุอยู่ใน PCA ก่อน ซึ่งแน่นอนว่ามีการระบุหลักการเบื้องต้นเหล่านี้เอาไว้เช่นกัน” รศ.ดร.สุนิดา กล่าว
รศ.ดร.สุนิดา กล่าวต่อไปว่า กลไกการตัดสินใจของ EU โดยเฉพาะในเรื่องของการเจรจา FTA นั้น จะเชื่อมโยงกับหลายฝ่าย ทั้งคณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร และอีก 2 องค์กรที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ได้แก่ คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และรัฐสภายุโรป การตัดสินใจเชิงนโยบายจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นการเฉพาะ ดังนั้นการที่รัฐบาลให้ข้อมูลว่าได้หารือทางไกลกับ นายมารอส เซฟโควิช กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร และความโปร่งใส เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2568 ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างดีมากนั้นอาจไม่เพียงพอ และคงจะบอกว่าฝ่ายนิติบัญญัติไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงคือกลไกของ EU เชื่อมต่อกัน รัฐสภายุโรปก็มีสิทธิและเป็นส่วนหนึ่งในการอนุมัติตัดสินใจ
“เชื่อว่ารัฐบาลทราบดีถึงเรื่องทั้งหมดนี้และเป็นกังวลอยู่ คิดว่าก่อนจะถึงเวทีเจรจาครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มี.ค. – 4 เม.ย. 2568 โดยมีสหภาพยุโรปเป็นเจ้าภาพ รัฐบาลจะพยายามอย่างถึงที่สุดทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อทำให้สหภาพยุโรปเข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็น รวมไปถึงการแสดงความเชื่อมั่นต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งตัวกลับไปประเทศจีน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการบ้านที่หนักมากของคณะเจรจา และต้องให้กำลังใจกัน” รศ.ดร.สุนิดา กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ทวี' หารือองค์กรสิทธิมนุษยชน เสนอตั้งเรือนจำชั่วคราวสำหรับผู้ต้องขังคดีการเมือง
พ.ต.อ. สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หารือร่วมกับผู้แทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และองค์กร Freedom Bridge เพื่อรับฟังสภาพปัญหาการดูแลผู้ต้องขังคดีการเมือง
ตระบัดสัตย์ในโลกสวย! เมื่อ 'แพทองธาร' ต้อนรับ 'มิน อ่อง หล่าย'
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เคยประกาศไว้อย่างชัดเจนในช่วงหาเสียงว่า “จะไม่จับมือกับเผด็จการคนทำรัฐประหาร” ซึ่งในขณะนั้น คำพูดนี้มุ่งเป้าไปที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือที่ถูกเรียกกันว่า “สองลุง”
ย้อนคำจาตุรนต์! 'ทิชา' ถามหา 'หลักการ' นักการเมืองน้ำดี กรณี 'มิน อ่อง หล่าย'
ทิชา ณ นคร แชร์โพสต์เก่าจาตุรนต์ฉายแสง วิจารณ์พลเอกประยุทธ์เคยต้อนรับรัฐบาลทหารเมียนมา พร้อมเหน็บแนมเจ็บ ๆ ถามหาจุดยืนและหลักการจากนักการเมืองน้ำดี หลังรัฐบาลแพทองธารต้อนรับมิน อ่อง หล่าย สะเทือนภาพลักษณ์ซ้ำรอยเดิมที่เคยวิจารณ์ไว้
แอมเนสตี้ เรียกร้อง 'แพทองธาร' ทบทวนท่าทีต่อ 'มิน อ่อง หล่าย'
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ส่งเสียงถึง ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี ทบทวนท่าทีต้อนรับ ‘มิน อ่อง หล่าย’ ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ระบุแม้เกิดแผ่นดินไหวยังเดินหน้าโจมตีประชาชน
กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ หน้าหงาย! หอการค้า ชี้ไทยเดินตามกฎหมายปมส่งกลับอุยกูร์
นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า ในฐานะคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจติดตามผลกระทบนโยบายเศรษฐกิจและเศรษฐกิจด้านต่างๆซึ่งปัจจุบันสหภาพยุโรปลง
ครป.ประเมินผลการซักฟอกนายกฯ 5 ข้อ หวังพรรครัฐบาลร่วมกันแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงโดยเร็ว
นายเมธา มาสขาว รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เปิดเผยถึงการประเมินผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ดังนี้