'คำนูณ' ยกคำวินิจฉัยศาลรธน. ม.112 สอดคล้องหลักนิติธรรม

คณะนิติราษฏรได้เสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ต่อสาธารณะ เนื้อหาสำคัญคือย้ายออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ลดโทษ เพิ่มบทยกเว้นความผิดและบทยกเว้นโทษ และให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้ร้องทุกข์แทนพระมหากษัตริย์ ร่างกฎหมายดังกล่าวพัฒนามาเป็นร่างแก้ไขมาตรา 112 ที่ส.ส.พรรคก้าวไกลยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2564 พรรคก้าวไกลยังคงนำหลักการทุกประการจากร่างฯดังกล่าวมาใช้หาเสียงในการเลือกตั้งปี 2566

4 ก.ค.2566- นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn หัวข้อ ‘มาตรา 112 สอดคล้องกับหลักนิติธรรม’ ระบุรายละเอียดโดย เปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29/2555


มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งที่อรรถาธิบายความเป็น “มาตรา 112” ในฐานะกฎหมายลำดับรองของรัฐธรรมนูญบทคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ฯขององค์พระมหากษัตริย์ และเป็น 1 ใน 2 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่สำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอ้างถึงในความเห็นทางกฎหมายเมื่อปี 2564 ที่ระบุว่าร่างแก้ไขมาตรา 112 ของส.ส.พรรคก้าวไกลน่าจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6

นั่นคือ คำวินิจฉัยที่ 28-29/2555

คดีนี้เกิดขึ้นในยุคของรัฐธรรมนูญ 2550 ขณะนั้นบทคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์บัญญัติอยู่ในมาตรา 8 ยุคปัจจุบันรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ขยับขึ้นมาอยู่มาตรา 6

เป็นคดีที่โด่งดังพอสมควรในยุคนั้น

จำเลยในคดีอาญา 2 คดี 2 คนต่อสู้โต้แย้งในชั้นพิจารณาคดีในศาลว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่พวกเขาถูกฟ้องว่ากระทำความผิดนั้นขัดรัฐธรรมนูญ 2550 หลายมาตราด้วยกัน ศาลอาญาจึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 112 ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญตามที่โต้แย้ง

ขอลำดับความโดยสรุปโดยภาษาของผมเองประมาณนี้

  • มาตรา 112 สอดคล้องและเสมือนเป็นกฎหมายลูกบทของรัฐธรรมนูญมาตรา 2 และมาตรา 8 (หรือมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน)
  • พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสถาบันหลักและคุณลักษณะประการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงต้องมีกฎหมายคุ้มครอง มิให้ผู้ใดละเมิด
  • การละเมิดพระมหากษัตริย์จึงเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ
  • มาตรา 112 จึงอยู่ในหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ
  • การคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์จึงเป็นการคุ้มครองเด็ดขาด ไม่มีข้อยกเว้น
  • ต้องบัญญัติโทษไว้พอสมควรแก่เหตุ
  • มาตรา 112 เป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อความมั่นคงของรัฐที่สามารถกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 (ปัจจุบันอยู่ในมาตรา 34)
  • มาตรา 112 สอดคล้องกับหลักนิติธรรม
  • ฯลฯ

คำต่อคำของคำวินิจฉัยท่อนท้ายที่สำคัญ ณ ที่นี้เพื่อความกระชับขอคัดจากฉบับย่อ

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯได้บัญญัติให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ จะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ และด้วยพระเกียรติคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศของประเทศและรักษาคุณลักษณะประการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีความชอบธรรมที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองมิให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ หลักการตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาซึ่งให้ความคุ้มครองแก่สถาบันพระมหากษัตริย์จึงมีความสอดคล้องกับมาตรา 2 และมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ การกำหนดบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดจึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงเป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม…”

“มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาซึ่งกำหนดลักษณะความผิดเป็นพิเศษเพื่อคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการกระทำความผิดดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตย มาตราดังกล่าวจึงเป็นบทบัญญัติเพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 45 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ อันเป็นเงื่อนไขแห่งการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น…”

“การกำหนดอัตราโทษตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก็เป็นการกำหนดเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมกับลักษณะของการกระทำความผิดฐานดังกล่าว เพราะเป็นการกระทำความผิดที่มีความร้ายแรงมากกว่าการกระทำความผิดตามมาตรา 326 แห่งประมวลกฎหมายอาญา…”

“ประกอบกับเพื่อพิทักษ์ ปกป้องพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มิให้ถูกล่วงละเมิดโดยการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดรายได้โดยง่าย จึงไม่มีการบัญญัติเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษไว้…”

แน่นอน มีนักวิชาการบางคนแสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยนี้ โดยกล่าวว่าเป็นคำวินิจฉัยตามแนวกษัตริย์นิยม

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญกำหนดให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุดและผูกพันทุกองค์กร

ในเวลาใกล้เคียงกันนั้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2564 คณะนิติราษฏรได้เสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ต่อสาธารณะ เนื้อหาสำคัญคือย้ายออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ลดโทษ เพิ่มบทยกเว้นความผิดและบทยกเว้นโทษ และให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้ร้องทุกข์แทนพระมหากษัตริย์

ร่างกฎหมายดังกล่าวพัฒนามาเป็นร่างแก้ไขมาตรา 112 ที่ส.ส.พรรคก้าวไกลยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2564

แต่ไม่ได้รับการบรรจุเข้าระเบียบวาระ เนื่องจากฝ่ายบริหารของสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าน่าจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6

พรรคก้าวไกลยังคงนำหลักการทุกประการจากร่างฯดังกล่าวมาใช้หาเสียงในการเลือกตั้งปี 2566

เหตุจากมาตรา 112 เดินทางมาถึงศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งในพ.ศ.นี้ โดยมีผู้ยื่นร้องต่ออัยการสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญว่าการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ในลักษณะที่เป็นการลดการคุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ของพรรคก้าวไกลเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดการกระทำนั้นเสีย แม้เนื้อหาของคดีจะแตกต่างกัน แต่ในสำนวนคดีน่าจะต้องมีคำวินิจฉัยที่ 28-29/2555 รวมอยู่ด้วย อย่างน้อยในเบื้องต้นก็ปรากฎอยู่ในความเห็นทางกฎหมายของสำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2564 ที่อยู่ระหว่างการจัดส่งไปยังอัยการสูงสุดตามร้องขอ

อัยการสูงสุดจะวินิจฉัยสั่งการคำร้องนี้อย่างไร ยก หรือส่งศาลรัฐธรรมนูญ ?

ศาลรัฐธรรมนูญยุคปัจจุบันจะรับเรื่องไว้วินิจฉัยหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีอัยการสูงสุดส่งมา หรือกรณีผู้ร้องใช้สิทธิยื่นโดยตรง ?

ถ้ารับไว้พิจารณา ผลการวินิจฉัยจะเป็นอย่างไร ?

อีกไม่นานจะมีคำตอบทั้ง 3 ประการแน่นอน !

จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในเบื้องต้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....

เปิดระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวานนี้ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน​กรรม​การ​การเลือกตั้ง​ (กกต.)​ ได้ลงนามในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ.2567

ประธาน กมธ.พัฒนาสังคมฯ ย้ำจุดยืนไม่ไปดูงาน ตปท.

'ครูหยุย' ย้ำจุดยืน กมธ.การพัฒนาสังคมฯ ไม่ไปดูงาน ตปท. ชี้หากใครไปต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ แนะกำหนดแนวทางให้ชัด เศรษฐกิจแย่ -แจกเงินหมื่น ไม่ให้ไปดูงานต่างประเทศ

ศชอ. คัมแบ็ค! ประกาศกลับมาแล้ว พร้อมลุยใช้กฎหมาย ม.112 ปกป้องสถาบัน

เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ ศชอ.โพสต์ข้อความว่า "กลับมาแล้ว" หลังจากเมื่อเดือนกันยายน 2566 ได้ประกาศยุติบทบาทการเคลื่อนไหวใช้กฎหมายในการปกป้อง ช