ดาวเทียมไทย 'THEOS-2' ขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จ! เริ่มปฏิบัติการสำรวจโลก

ดาวเทียม ‘THEOS-2’ ของไทย ประสบความสำเร็จขึ้นสู่วงโคจรแล้ว เริ่มปฏิบัติการสำรวจโลก นายกฯ ปลื้มขอบคุณ อว. ขับเคลื่อนวงการอวกาศประเทศก้าวหน้า ‘ศุภมาส’ ลุยต่อยอดยกระดับด้านต่างๆ

9 ต.ค. 2566 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 (Thailand Earth Observation Satellite 2) ซึ่งเป็นดาวเทียมของไทย ในระดับ Industrial Grade ผลงาน 20 วิศวกรชาวไทย จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ขึ้นสู่วงโคจรจากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) เมืองกูรู รัฐเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ มี น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยผู้บริหาร GISTDA รวมทั้งสักขีพยานจากประเทศไทยและสาธารณรัฐฝรั่งเศส รวมถึงประชาชนทั่วโลก ที่สนใจในเหตุการณ์ครั้งสำคัญนี้

โดยเมื่อถึงเวลา 08.36 น. ตามเวลาในประเทศไทย ดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ได้ถูกนำส่งด้วย จรวด VEGA พร้อมมีการให้สัญญาณนับถอยหลังใน 10 วินาทีสุดท้าย หลังจากนั้นดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ได้ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรท่ามกลางความตื่นเต้นดีใจ หลังจากลุ้นระทึก โดยผู้อยู่ในเหตุการณ์ครั้งสำคัญต่างพากันจับมือแสดงความยินดี

ทั้งนี้ น.ส.ศุภมาส กล่าวภายหลังจากดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจรของอวกาศว่า รู้สึกดีใจและโล่งใจที่การปล่อยดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ราบรื่น ประสบความสำเร็จ แม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่ทุกอย่างก็เป็นไปตามกระบวนการ โดยขณะนี้ สามารถกล่าวได้ว่าดาวเทียม THEOS-2 ได้เริ่มปฏิบัติการสำรวจโลกแล้ว โดยหลังจากปล่อยดาวเทียมในเวลา 08:36 น.จะใช้เวลากว่า 52 นาทีในการเข้าสู่วงโคจรที่ระดับความสูง 621 กิโลเมตร เมื่อดาวเทียมขึ้นไปแล้ว จะทดสอบระบบในอวกาศร่วมกับสถานีภาคพื้นดินราวๆ 3 เดือน ก่อนจะใช้งานได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากมีสถานการณ์เร่งด่วนเกิดขึ้น อาทิ ภัยพิบัติ THEOS-2 ก็สามารถสั่งถ่ายภาพได้ภายใน 5 – 8 วัน หลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร

“ภารกิจนี้เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของกระทรวง อว.และประเทศไทย หลังจากนี้จะมีการต่อยอดยกระดับด้านต่างๆ ของประเทศรวมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนให้รู้ว่าดาวเทียม THEOS-2 มีประโยชน์อย่างไร สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะถูกใช้ในการปรับปรุงและทำให้ข้อมูลในทุกพื้นที่ของไทยเป็นปัจจุบัน ทันสมัย และมีความละเอียดที่ถูกต้อง ช่วยให้ทุกการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รมว.อว. ระบุ

ในโอกาสนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความยินดีว่า ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนคนไทยทุกคน ขอแสดงความยินดีที่วันนี้ประเทศไทยประสบความสำเร็จสามารถส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจรได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งรัฐบาลมุ่งเน้นมาตลอดว่าจะใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการนำไปพัฒนาสร้างประโยชน์ได้ในหลากหลายมิติ อาทิ การบริหารจัดการเกษตร การบริหารจัดการเมือง การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ และการบริหารจัดการภัยธรรมชาติ ซึ่งจะนำมาสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงของพี่น้องประชาชน

“ผมขอขอบคุณกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ GISTDA ที่จะช่วยขับเคลื่อนและผลักดันวงการอวกาศของประเทศไทยให้มีความก้าวหน้า” นายกฯ ระบุ

ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า หลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรแล้ว จะทำการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โหมดของการทำงาน รวมทั้งทดสอบระบบควบคุมและติดต่อสื่อสารกับภาคพื้นดินเพื่อความเสถียรและความแม่นยำของข้อมูลโดยใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้น GISTDA จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าถึงข้อมูล เพื่อนำไปต่อยอดหรือให้การบริการเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงจะเป็นแรงผลักดันขับเคลื่อนด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรมในการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ และเทคโนโลยีอวกาศในการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรในสาขาที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับกิจกรรมด้านอวกาศในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีของประเทศไทยในการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลกขึ้นสู่วงโคจร หลังจากที่ดาวเทียมไทยโชต หรือ THEOS-1 ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี 2551.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอนทองเขาบรรทัด' สินค้า GI รายการที่ 3 ของตราด

รัฐบาลมุ่งเพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่นไทย ขึ้นทะเบียนทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จังหวัดตราด เพื่อความเชื่อมั่นคุณภาพสินค้า ยกระดับรายได้ชุมชน

อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย! เศรษฐาห่วงใยสุขภาพประชาชน

นายกฯ ห่วงใยสุขภาพพี่น้องประชาชนจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนทางตอนบนของประเทศไทย ช่วง 3 - 7 พ.ค.นี้