อดีตรองหัวหน้าเพื่อไทย เตือน อย่าดันทุรังแจก ‘หนึ่งหมื่น’ รอบเดียว ชี้มีผลเสียมากกว่า

อดีตรองหน.พรรคพท.-ผู้ร่วมทำดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ทน เตือนแรง รัฐบาล-คลัง อย่าดันทุรังแจกหนึ่งหมื่นรอบเดียว จะเกิดผลกระทบรุนแรง เงินเฟ้อหนัก-ของแพง-กระทบคนจน แนะหากทยอยโอนสามงวด 560,000 ล้านบาท หาได้แน่

22 ต.ค. 2566 – นายกิตติ ลิ่มสกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย-อดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่แรกเมื่อปี 2541 -อดีตอาจารย์คณะเศรษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายพรรคเพื่อไทย ที่มีส่วนร่วมในการทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคตั้งแต่แรกเริ่ม  ออกมาย้ำอีกครั้งว่า รัฐบาล-กระทรวงการคลังไม่ควรมีการโอนเงินดิจิทัลวอลเล็ตรอบเดียว 10,000 บาท แต่ควรทยอยให้เป็นงวดๆ 2-3 งวดเพราะการโอนให้ทีเดียวหนึ่งหมื่นบาทจะทำให้เกิดเงินเฟ้อ ของแพง และส่งผลต่อ สวัสดิการสังคมต่างๆ ที่กลุ่มเปราะบาง -คนจนเคยได้รับจะกระทบ แต่ยืนยันว่า ดิจิทัลวอลเล็ตต้องทำ เพราะจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจหมุนแน่ แต่ไม่ได้ถึงกับเป็นเทอร์นาโดอย่างที่นายกฯพูด

นายกิตติ กล่าวว่า การทำดิจิทัลวอลเล็ต ไม่อยากให้ทำแบบโอนแบบตูมเดียวเลยหนึ่งหมื่นบาท เพราะจะเกิดเงินเฟ้อ มันจะ overshoot ขึ้นไป แล้วมันจะโอเวอร์แฮงค์  มันเหมือนคนกินเหล้า พอแฮงค์แล้วมันลงยาก จนอาจทำให้พวกสวัสดิการสังคม พวกคนจน คนไม่มีเงินอะไรต่างๆ จะได้รับผลกระทบกันหมด ของอาจจะแพงขึ้น ซึ่งผมเป็นห่วง ถึงเสนอมาตลอดว่า ให้โอนเป็นงวดๆ ที่เสนอแบบนี้ไม่ใช่ว่าค้าน แต่เพราะคำนวณและพยากรณ์ดูแล้ว มันจะเป็นแบบนั้นจริงๆ ขอให้เชื่อสักครั้ง ซึ่งก็ไม่ได้เสียหน้าตรงไหน และไม่ได้เสียอะไร เพราะวัตถุประสงค์ที่คิดดิจิทัลวอลเล็ตคือกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นบล็อกเชน แต่ต้องทำให้เร็วที่สุด ให้ถึงมือประชาชนที่สุด

“ยืนยันอีกครั้งว่า ดิจิทัลวอลเล็ต จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ทำให้เกิดหนี้สาธารณะ ประชาชนได้ดิจิทัลวอลเล็ตอย่างรวดเร็ว แบบนี้ มันก็ไม่ได้เสียตรงไหน เสียอะไร เราก็ทำอย่างนิ่มนวล ทำแบบที่ผมเสนอ ให้ทำเป็นหลายงวด อย่าไปดื้อ ผมเคยเสนอมาแล้วก่อนหน้านี้ให้โอนเงินเป็นงวดๆ ตอนให้สัมภาษณ์กับทางไทยโพสต์ ตอนนั้นผมก็เกือบตายเลย คือเขาไม่เข้าใจที่ผมเสนอตอนนั้น  แต่ทุกวันนี้เขาเข้าใจแล้ว แต่ไม่กล้ายอมรับ ครั้งนี้ ก็เสนออีกครั้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจคือ ขอเสนอให้ใช้วิธีแบ่งจ่ายแต่ให้ครบ คือ 10,000 บาทโอนให้ครบ แต่ไม่ใช่ให้ทีเดียวเลย 10,000 บาท แต่จะแบ่งอย่างไรก็มาคิดกัน”

นายกิตติ หนึ่งในผู้ร่วมทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต กล่าวต่อไปว่า ผลดีของการโอนให้หลายงวด จะทำให้ไม่เกิดภาวะเงินเฟ้อ รัฐบาลคุมได้ และชี้นำได้เช่น ก้อนนี้ที่โอนให้ไป ขอให้นำไปบริโภค หรืออีกก้อนหนึ่งที่โอนไปขอให้นำไปต่อยอดด้านการผลิต โดยใช้วิธีการทำแคมเปญรณรงค์ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต คนที่ได้เป็นเกษตรกร พอเขาได้ไป แล้วมารวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง ก็ส่งผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยต่างๆ เช่น ธกส.-กระทรวงพาณิชย์ เข้าไปดูในพื้นที่ หากเห็นว่าต่อยอดได้หน่วยก้านดี ก็หาแหล่งทุนให้กู้ยืมเพิ่ม มันก็จะเกิดการผลิต มีการปรับโครงสร้างการเกษตร

“รอบแรก ต้องโอนให้ก่อนเทศกาลปีใหม่ โอนให้คนละ 2,000 บาทก็ได้  การให้ช่วงปีใหม่ เพราะช่วงนั้น คนกลับบ้าน หรือบางคนก็ไปเที่ยวช่วงปีใหม่ จะได้ซื้อของฝากไปให้พ่อ-แม่ ที่ต่างจังหวัด มันก็จะเกิดการหมุนเวียนในระบบ จากนั้น รอบต่อไป ให้โอนช่วงก่อนสงกรานต์ เมษายน เพราะพอโอนรอบแรกไปผู้ผลิต-เจ้าของสินค้า-ร้านค้า จะเพิ่มการผลิต -สั่งของมาขายมาขายมากขึ้น เพราะเขาเห็นแล้วว่า รัฐบาลเอาจริง รอบแรกยังมาแค่ 2,000 บาท ยังเหลือจะโอนอีก 8,000 บาท พอเมษายน โอนอีกรอบ ก็ซัดตูมเลยรอบสอง หรือจะโอน 6,000 บาท ก็ได้ แล้วอีก 2,000 บาท ก็โอนอีกครั้งหลังสงกรานต์  มันก็จะเกิดการกระเพื่อมทางเศรษฐกิจอย่างน้อยๆ สองรอบ”นายกิตติกล่าว 

อดีตผู้ร่วมทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต พรรคเพื่อไทย ยังกล่าวถึงการหางบประมาณจำนวน 560,000 ล้านบาทมาทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า การเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ต้องทำอยู่บนเงินงบประมาณแผ่นดิน กับภาษีอากร เพราะช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566  เงินรายรับภาษีจะเข้าประมาณ 300,000-400,000 ล้านบาท ก็แบ่งเงินไปส่วนหนึ่งในด้านต่างๆ เช่นเงินเดือนข้าราชการหรือทำนโยบายอื่นๆ ก็จะเหลือประมาณ 120,000 ล้านบาท ก็เท่ากับ โอนดิจิทัลวอลเล็ตให้ประชาชนได้เลย คนละ 2,000 บาท อย่างที่ผมเสนอข้างต้นว่าให้โอนเป็นรอบๆ ไม่ใช่โอนทีเดียวหนึ่งหมื่นบาท เพียงแต่ต้องบอกว่า พอได้แล้วอย่าเพิ่งแลกเป็นเงินบาท เพราะจะนำเงินไปคืนไม่ได้ เพราะเงินยังไม่อ้อมกลับมา อย่าเพิ่งรีบแลก เราก็ขยายตรงนี้ที่แลกเป็นเงินบาทไปประมาณหนึ่งปี แต่หากจะแลกก็ได้ เพราะเป็นสิทธิของเขา แล้วก็ให้เขาไปใช้จ่ายต่อ ก็ใช้กันแบบนี้ หมุนไปหมุนมา พอหมุนไปแบบนี้ ภาษีมันก็จะงอก พอไปถึงเมษายน 2567 มันก็จะงอกมาประมาณ 300,000-400,000 ล้านบาท ก็จะมีเข้ามาเยอะเลย เพราะงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ก็จะเข้ามาด้วย ทำให้รัฐบาลมีทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีและภาษีที่เกิดจากการใช้จ่ายที่ภาครัฐเก็บได้เข้ามา

นายกิตติ กล่าวต่อไปว่า จากนั้นพอโอนรอบสอง เช่นหากโอน 6,000 บาท คราวนี้ตูมเลย เงินจะหมุนในระบบ ภาษีที่จะเก็บได้ ก็จะเพิ่มขึ้นอีก แล้วเวลาคนจะนำมาแลก เขาก็ไม่มาแลกกันหมด 6,000 บาท ที่ก็คือ สามแสนกว่าล้านบาท ก็อาจแลกสักประมาณหนึ่งแสนล้านบาท แต่ให้ยืดเป็นปี บอกไม่ต้องรีบมาแลก แล้วช่วงนั้นก็จะมีเงินภาษีเข้ามาเคลียร์ให้อีก  แต่หากแจ็คพ็อตเช่น เตรียมไว้ประมาณสองแสนล้านบาท แต่คนมาแลกสามแสนล้านบาท ถ้าแบบนั้น ก็อาจต้องไปยืมธนาคารออมสิน ซึ่งไม่ต้องยืมมาก และให้ยืมแต่ในบัญชี สำหรับกรณีมีคนแห่มาแลกกันเยอะ พอยืมธนาคารออมสิน ก็ต้องไปตั้งงบประมาณจ่ายคืน ซึ่งแบบนี้ ไม่ใช่หนี้สาธารณะ

 เมื่อถามถึงกรณี  ท่าทีของนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และคนในรัฐบาลที่มาจากเพื่อไทย ก็ยืนยันว่าจะโอนรอบเดียว หนึ่งหมื่นบาทให้ทุกคน แล้วแบบนี้รัฐบาลจะนำเงินจากไหนมา560,000 ล้านบาท นายกิตติกล่าวว่า เป็นคำถามที่ผมเอง ก็ต้องถามคนในรัฐบาล ว่าจะนำเงินมาจากไหน ถ้าจะโอนรอบเดียวเลย 10,000 บาทให้ทุกคน เพราะเงินภาษีไม่ได้ให้มาแบบนั้น มันทยอยเข้า แล้วธนาคารออมสินก็ไม่ได้ให้หมด ไม่ได้เหมือนแต่ก่อน เพราะธนาคารออมสินเขาก็ต้องระมัดระวัง ส่วนที่จะใช้มาตรา 28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ก็เป็นนามธรรม เป็นกฎหมาย แต่ถามว่า เงินอยู่ไหน ครั้นจะไปเอาจากธกส.ก็ไม่ได้ เพราะธกส.คือเพื่อการเกษตร แต่อาจจะได้หากดิจิทัลวอลเล็ต ลงไปที่เกษตร แต่ถ้าไม่ใช่เกษตร ก็ไม่ได้ มันก็หมิ่นเหม่ เพราะมันไม่ชัด ผมจึงขอเสนอว่า ไม่ควรโอนดิจิทัลวอลเล็ตครั้งเดียว 10,000 บาท หลายครั้งก็ได้ แต่ให้ครบหมื่น ตามรอบของเงินภาษี แต่พอทำไปถึงรอบที่สอง ที่โอนไปหกพันบาท (รอบแรกสองพันบาทช่วงเทศกาลปีใหม่) เห็นแล้วว่า ดี มันเวิรก์ก็อาจไปยืมธนาคารออมสินมา พอถึงเดือนพฤษภาคม ก็โอนรอบที่สาม ซัดไปอีกสองพันบาท ก็ครบหนึ่งหมื่นบาท ก็อีกแสนกว่าล้านบาท ก็จบแล้ว  จากนั้นพอเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ มันหมุน จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ จาก 3 เปอร์เซ็นต์ บวกเข้าไปอีก 1 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็น 4 เปอร์เซ็นต์แล้วก็ยังมีโปรเจต์ -นโยบายอื่นๆ อีก 1 เปอร์เซ็นต์ รวมกันก็จะเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ ที่น่าจะไปถึง 5 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ แต่ต่ำสุด ยังไงก็ growth 5 เปอร์เซ็นต์ โดย 5 เปอร์เซ็นต์ดังกล่าว ก็จะพบว่า จีดีพีเราประมาณ 17 ล้านล้านบาท คือประมาณ 8 แสนกว่าล้านบาท

ถามย้ำว่าที่เสนอมาให้โอนหลายรอบ หากสุดท้าย รัฐบาล และพรรคเพื่อไทยไม่รับฟัง จะโอนรอบเดียวหนึ่งหมื่นบาทไปเลย นายกิตติ กล่าวว่า ไม่รู้ว่าเขาจะรับฟังหรือไม่ หรือฟังแล้วไม่ได้ยิน แต่ก็ถือเป็นเสียงเตือน เพราะผมเห็นด้วยกับดิจิทัลวอลเล็ต แต่วิธีปฏิบัติขอให้ฟังผมบ้างแล้วยืนยันได้ว่ามันจะไม่เป็นหนี้สาธารณะหากทำแบบที่ผมเสนอข้างต้นคือโอนเป็นงวดๆ เพราะรัฐบาลไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินอะไร แค่ทำบัญชีว่าจะยืมตามมาตรา 28 พรบ.วินัยการเงินการคลังฯ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทีมนโยบาย เพื่อไทย เผยดิจิทัลวอลเล็ต คาดทยอยโอน 2-3 งวด ไม่ใช่ทีเดียวเลย

ทีมนโยบายเพื่อไทย เผยดิจิทัลวอลเล็ต คาดทยอยโอน2-3 งวด ไม่ใช่ทีเดียวเลย หนึ่งหมื่นบาท ย้ำหากพรรคทำไม่ได้ ก็เก็บของกลับบ้าน

'ดร.อานนท์' แฉเอกสารภายในพรรคเพื่อไทย เปิดชื่อคณะคิดนโยบายแจกเงินดิจิทัล

ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ที่มาของนโยบายแจกดิจิทัลวอลเล็ทคนละหมื่นบาท สร้างหนี้ให้ประเทศไทยห้าแสนห้าหมื่นล้านบาทที่ผมไม่เห็นด้วยเลยแม้แต่น้อย