'แก้วสรร' ออกบทความ 'ทักษิณ โกงคุกหรือไม่? : เงื่อนงำและการตรวจสอบ'

24 ก.พ.2567 - นายแก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง "ทักษิณ โกงคุกหรือไม่? : เงื่อนงำและการตรวจสอบ" ผ่าน www.thaipost.net โดยมีเนื้อหาดังนี้                                                                 

ถาม   ปัญหาว่านายทักษิณโกงคุกหรือไม่นี่  เมื่อมีผู้ร้องเรียนแล้ว ปปช.ต้องรับตรวจสอบหรือไม่ครับ ?

ตอบ   คดีนี้เป็นที่คลางแคลงเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมมาก  พื้นที่และหน่วยงานที่ต้องตรวจสอบก็ชัดเจน   และ ปปช.เองคือที่พึ่งเดียวเท่านั้น เพราะฝ่ายบริหารไม่รับผิดชอบตรวจสอบอะไรเลย  ผมจึงเห็นว่า ปปช.มีทั้งหน้าที่และอำนาจตรวจสอบเบื้องต้นได้แล้วครับว่า เรื่องนี้มีมูลความผิดปรากฏหรือไม่ 

ถาม   พื้นที่ปัญหาที่ต้องตรวจสอบว่าเขา “โกงคุก” หรือไม่ อยู่ที่ตรงไหน

ตอบ   เวลาตามหมายแจ้งโทษจากศาลถึงเรือนจำในคดีนี้ มีโทษจำ ๘ ปี  แล้วมีพระบรมราชโองการอภัยโทษให้เหลือ ๑ ปี นับแต่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ เป็นต้นไป

ใน ๑ ปีนี้ ๖ เดือนแรก ข่าวปรากฏว่า นายทักษิณไปอยู่โรงพยาบาลตำรวจ เพราะ ป่วยหนักวิกฤตถึงชีวิต และโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีศักยภาพดูแลได้  นี่คือพื้นที่ตรวจสอบแรก   ว่าในช่วง ๖ เดือนนี้ ป่วยหนักจริงถึงเกณฑ์ตามที่อ้างหรือไม่ หรือมีการทุจริตช่วยเหลือกันโดยมิชอบ

ถาม   แล้ว ๖ เดือนหลัง ที่ได้พักโทษกลับบ้านได้นี่  ตรวจสอบด้วยหรือไม่ครับ

ตอบ   ตรงนี้เป็นอีกคดีหนึ่งว่า การพักโทษเป็นไปโดยชอบหรือไม่   ซึ่งต้องตรวจสอบกันตรงที่ว่า เมื่อ ๑๗ กุมภาพันธ์ นายทักษิณ  อยู่ในสภาพช่วยตัวเองไม่ได้ใช่หรือไม่    ถ้าได้ความจริงว่าเดินปร๋อ ชนไวน์เลี้ยงกุ้งแม่น้ำฮุนเซ็น ช่วยตัวเองได้ทุกอย่าง  อย่างนี้คำสั่งพักโทษก็ไม่ตรงตามเงื่อนไขที่กำหนด  ต้องเพิกถอนคำสั่งพักโทษ เอาตัวกลับเข้าคุก และดำเนินคดีเอาโทษเจ้าหน้าที่ได้

ถาม   ถ้าทุจริตช่วยเหลือกันจริงๆ ใครจะผิดอาญาบ้าง

ตอบ   แต่ละคดีนั้น คนที่รู้เห็นทุกระดับต้องโดนคุกหมดในฐานทุจริตต่อหน้าที่  ส่วนนายทักษิณถ้าเป็นผู้ใช้หรือจ้างวาน ก็ผิดฐานสนับสนุนเจ้าหน้าที่ทุจริต

เอาล่ะ...คุณว่าสองคดีนี้ มันมีทางพบความผิดได้ไหม

ถาม   ป่วยหนักมา ๖ เดือน  พอถึงวันที่ ๑๘ กุมภา ครบเงื่อนเวลาที่ให้พักโทษได้ ก็หายป่วยเดินปร๋อได้พอดีเลยอย่างนี้   มันน่าสงสัยนะครับว่าในวันที่ ๑๗ กุมภาไปได้ยาวิเศษอะไรมา วันเดียวก็นั่งรถกลับบ้านได้เลย

ตอบ   เอาเถอะครับ...ถ้าวันที่ ๑๘ โรงพยาบาลตำรวจรักษาเขาจนพ้นวิกฤตได้จริง  คุณยังจะติดใจอีกหรือ

ถาม   อ้าวถ้าพ้นวิกฤตก็ต้องกลับไปนอนเรือนจำสิครับจะกลับบ้านเลยได้ยังไง จะทำเหมือนพ้นโทษเลยไม่ได้ คุณติดคุก ๑ ปีนะ ไม่ใช่ ๖ เดือน

ตอบ   เขาได้พักโทษพอดีครับ  อยู่ใต้อำนาจหมายขัง ครบ ๖ เดือนแล้ว  ราชทัณฑ์ก็มีอำนาจพักโทษให้เขาได้ โดยอ้างเหตุใหม่มาประกอบว่าเขา “ ไม่อยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองได้ ”   ซึ่งข้อนี้ รัฐมนตรียุติธรรมก็ตอบกระทู้สดในสภาว่า   มีการประเมินตามมาตรฐานแล้ว  และเขาได้คะแนนช่วยตัวเองได้ต่ำกว่าเกณฑ์

ถาม   เกณฑ์ที่ว่านี้ เขาดูตรงไหนครับ

ตอบ   ดูว่าเดินได้เองไหม นั่งได้เองหรือไม่ เปลี่ยนเสื้อผ้าเองได้สะดวกไหม กินข้าวต้องให้ป้อนหรือเปล่า  ขึ้นบันได ๑ ชั้นได้สบายหรือไม่   กลั้นปัสสาวะ กลั้นอุจจาระได้เพียงใด  ทั้งหมดนี้เขามีแบบของกรมอนามัย ใช้ประเมินให้ปรากฏระดับมากน้อยทั้งนั้น ประเมินแล้วถ้าคะแนนออกมาว่าช่วยตัวเองไม่ได้ ก็ปล่อยกลับบ้านพักโทษไปเลย  จะขังไว้ทำไมให้เป็นภาระทุกข์ทรมาน

ถาม   ถ้าอาทิตย์หน้า ผมอยู่ในห้องน้ำ  แล้วนายทักษิณเดินอาดๆมาปัสสาวะข้างๆผม  หัวเราะกี๊บก๊าบกับพรรคพวกดังไปหมด  รูดซิปยัดเสื้อเข้าในกางเกงช่วยตัวเองได้คล่องแคล่ว ผมไปแจ้งตำรวจได้ไหม ว่าเขาโกงคุกเพราะยังช่วยตัวเองได้ดี

ตอบ   นี่คือปัญหาทางสังคม  ต่อไปนี้เขาต้องเก็บตัวแล้วล่ะครับ  การนั่งรถตัวตรงเปิดเผยออกจากโรงพยาบาลเลยอย่างนี้    ถ้านี่เป็นแผนการที่วางไว้ก็ต้องนับว่าโง่มาก   เหตุเพราะมัวแต่คิดจะพิสูจน์คดีที่หนึ่งให้สังคมเห็นกับตาว่า ป่วยจริง ออกจากโรงพยาบาลแล้วโดยยังติดเฝือกอยู่เลยเห็นไหม   

พอมุ่งแก้คดีที่หนึ่ง จนจมอยู๋ตรงนี้ ก็เลยหลงลืมไปว่าในคดีที่สองนั้น เขาต้องอยู่ในสภาพช่วยตัวเองไม่ได้ นั่งเองไม่ได้ลุกเองไม่ได้ด้วย   พอปล่อยภาพออกมาว่ายังช่วยตัวเองได้  ปัญหาคดีที่สองมันเลยโผล่ตามขึ้นมาในที่สุด

ถาม   คดีสองคดีนี้ จะพิสูจน์กันได้อย่างไรในศาล ว่าทุจริตช่วยเหลือกัน

ตอบ   ถ้า ปปช.เอาจริง  ก็ต้องสอบพยานหลักฐาน ทั้งเอกสารในกระบวนการทางการแพทย์ และสอบทานปากคำแพทย์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ว่ามีความเห็นจริงไหม สุจริตหรือไม่ ฟังได้หรือเปล่า  โดยขอตัวแทนแพทยสภามาเป็นกรรมการไต่สวนด้วย   ความจริงก็ต้องปรากฏขึ้นมาแน่นอนในทั้งสองคดี

ถาม   เห็นราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม  เขาอ้างมาตลอดว่า ข้อมูลสุขภาพเป็นข้อมูลส่วนบุคคล  ที่ไม่มีใครจะขอให้เปิดเผยได้เลยนะครับ

ตอบ   ผมว่าเขาตีความไม่ถูกต้อง    พรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล ก็ระบุชัดเจนเป็นหลักไว้แล้วว่า ข้อมูลส่วนบุคคลไม่เป็นความลับสำหรับกระบวนการยุติธรรม ทั้งในชั้นสืบสวน สอบสวน และชั้นศาล

ถาม   แต่เมื่อเรื่องมันแคบเฉพาะลงมาเป็นข้อมูลสุขภาพนั้น   มาตรา ๗ ใน พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ก็ระบุชัดเจนนะครับว่า เรียกให้เปิดเผยไม่ได้ในทุกกรณี

มาตรา ๗ ข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้  เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง   หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย  แต่ไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลของส่วนราชการหรือกฎหมายอื่น เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้

ตอบ   ผมว่ายังเรียกได้เหมือนเดิมนะครับ  กล่าวคือ มาตรา ๗ นี้   เขาขึ้นเป็นหลักทั่วไปหวงกัน กันไว้แต่แรกก่อนว่า  การเปิดเผยข้อมูลสุขภาพนั้นทำไม่ได้ จากนั้นเขาก็ยกเว้นว่าเปิดเผยได้เมื่อมีอำนาจกฎหมายรองรับ   แล้วก็ถามกันต่อไปว่าทุกกฎหมายเลยหรือ    ซึ่งเขาก็บัญญัติวางข้อยกเว้นซ้อนข้อยกเว้นไว้อีกชั้นหนึ่งว่า   ถ้าเป็นการขอให้เปิดเผยตามกฎหมายข้อมูลของส่วนราชการแล้ว  ก็จะเปิดเผยไม่ได้ไม่ว่าจะอ้างเหตุจำเป็นใดก็ตาม

ถาม   ก็ในท้ายมาตรา ๗ เขาระบุว่า เปิดเผยไม่ได้ทั้งนั้นนะครับ  ไม่ว่าสิทธิตามกฎหมายข้อมูลข่าวสาร หรือกฎหมายอื่นก็ตาม   กฎหมาย ปปช.ก็เป็น “กฎหมายอื่น” ด้วยไม่ใช่หรือ

ตอบ   ไม่ใช่ครับ   คำว่า “กฎหมายอื่น” ในที่นี้ เขาหมายถึงกฎหมายในทำนองเดียวกันกับกฎหมายข้อมูลข่าวสาร   ซึ่งไม่ใช่กฎหมาย ปปช.แน่นอน

ถาม   อะไรคือกฎหมายในทำนองเดียวกับกฎหมายข้อมูลข่าวสาร

ตอบ   คือสิทธิเข้าถึงข้อมูลส่วนราชการนั้น   มันมีทั้งกลุ่มที่เป็นอำนาจเรียกข้อมูลของกระบวนการยุติธรรม    อีกกลุ่มหนึ่งเป็นสิทธิของสาธารณะชนที่อยากรู้โดยไม่ต้องมีส่วนได้เสียอะไร   กลุ่มนี้มีกฎหมายข้อมูลข่าวสารทางราชการรับรองไว้ ให้เข้าถึงได้ เว้นแต่จะอยู่ในข้อยกเว้นที่ห้ามเข้าถึง   

ด้วยความเข้าใจอย่างนี้   เมื่อผู้บัญญัติกฎหมายสุขภาพแห่งชาติเขาเห็นว่า การเข้าถึงข้อมูลสุขภาพบุคคล ต้องมีอำนาจตามกฎหมายเฉพาะเพื่อกิจการใดในอำนาจรัฐเท่านั้น  เขาจึงไม่รับรองให้ใครอ้างสิทธิสาธารณะมาขอให้เปิดเผยข้อมูลสุขภาพได้   โดยบัญญัติว่าห้ามหมดเลยไม่ว่าจะเป็นสิทธิตามกฎหมายข้อมูลส่วนราชการหรือกฎหมายอื่น ( ถ้ามี ) ก็ตาม

ถาม   แสดงว่า ปัญหานี้เกิดจากการบัญญัติกฎหมายไม่ชัดอย่างนั้นหรือครับ

ตอบ   ผมว่าเขาน่าจะเขียนได้ดีกว่านี้เท่านั้น  เช่นเขียนว่า “ข้อมูลสุขภาพบุคคลจะขอให้เปิดเผยได้ก็แต่โดยอำนาจของกฎหมายเท่านั้น    แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการขอให้เปิดเผยตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารราชการและกฎหมายอื่นในทำนองเดียวกัน ”   ถ้าเขียนชัดอย่างนี้ ก็หมดปัญหา

ถาม   สรุปแล้วการตรวจสอบของ ปปช.ไม่มีอุปสรรคตามกฎหมายข้อมูลมาขัดขวางเลยใช่ไหมครับ

ตอบ   ผมขอยืนยันว่าไม่มีแน่นอน   มีแต่เรื่องความยึดมั่นในหน้าที่เท่านั้นว่า มีปัญหาหรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คปท.นัด 30 เม.ย.บุกยื่นหนังสือ กกต. ‘พิชิต’ ขาดคุณสมบัติ เร่งส่งศาลรธน.พิจารณา

วันอังคารที่ 30 เมษายน 2567 เวลา 10.30 น. คปท.จะไปยื่นหนังสือการขาดคุณสมบัติของคณะรัฐมนตรีต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ กกต.ยื่นต่อยังศาลรัฐธรรมนูญ  ต่อไป

ยุ่งแน่! ‘เรืองไกร’ ร้อง ป.ป.ช. สอบ ครม.เห็นชอบดิจิทัลวอลเล็ต ฝ่าฝืนกม.หรือไม่

จากการติดตามโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่คณะรัฐมนตรีพึ่งมีมติให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 67 นั้น

'แก้วสรร' แพร่บทความปอกเปลือก ทักษิโณมิคส์ บวก X กลายเป็นโครงการแจกเงินดิจิทัล

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ เผยแพร่บทความเรื่อง "ทักษิโณมิคส์ + X = โครงการแจกเงินดิจิตอล" มีเนื้อหาดังนี้ เมื่อคราวแรกเริ่มครองอำนาจในปี ๒๕๔๖ ของพรรคทักษิณ ที่พลิกมิติการปกครองไทยด้วยชุดนโยบายการเงินที่โหมอัดฉีดประชานิยมชนิดเข้มข้นต่างๆนานา

'ป.ป.ช.'ฟันจริยธรรมร้ายแรง'ศุภชัย โพธิ์สุ-สุชาติ ภิญโญ'

'ป.ป.ช.' ฟันจริยธรรมร้ายแรง 2 อดีต สส. 'ศุภชัย โพธิ์สุ' สมัยนั่ง รมช.เกษตรฯ ถือครองที่ดิน น.ส.2 โดยไม่มีคุณสมบัติ 'สุชาติ ภิญโญ' โดนด้วย มี ภ.บ.ท. 5 วังน้ำเขียว