นายกฯ นำรมต.พรรคร่วม ยืนเรียงแถว แถลงครม.เห็นชอบหลักการดิจิทัลวอลเล็ต

“เศรษฐา” ขนแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ยืนแถลง หลังครม.รับหลักการเงินดิจิทัลหมื่นบาท พร้อมถาม “กฤษฎีกา” อำนาจหน้าที่ ธกส. ย้ำเงินเข้ากระเป๋าปชช.ไตรมาส 4 ด้าน “จุลพันธ์” ยันธนาคารเพื่อการเกษตรฯสภาพคล่องสูง ขณะ ”เผ่าภูมิ“ มั่นใจแจกเงินเดินถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

23 เม.ย.2567 - เมื่อเวลา 11.50 น. ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นำแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ , นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย , นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน , ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ , นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ , พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ,นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ,นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

โดย นายเศรษฐา กล่าวว่า ที่ประชุมครม.รับทราบผลการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะทำงาน ได้เห็นชอบหลักการกรอบโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งเรื่องกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการ แนวทางเข้าร่วมโครงการของประชาชน เงื่อนไขการใช้จ่าย ประเภทสินค้า การลงทะเบียนร้านค้า รวมถึงแหล่งเงินในการดำเนินโครงการ ซึ่งกระทรวงการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และสำนักงบประมาณ จะศึกษารายละเอียดต่อไป

“ส่วนข้อห่วงใยใดๆเช่นประเด็นอำนาจหน้าที่ของ ธกส. ได้สั่งการหากมีประเด็นข้อสงสัยใดๆให้ส่งเรื่องไปสอบถามยังกฤษฎีกา ซึ่งทุกๆพรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบในหลักการของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตดังกล่าว โดย นายจุลพันธ์ จะชี้แจงในรายละเอียดต่างๆหากสื่อมวลชนมีคำถาม” นายเศรษฐา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงข่าวดิจิทัลวอลเล็ต สื่อมวลชนได้เตรียมซักถาม ขณะที่นายกฯได้รีบตัดบทจบการแถลงข่าวเรื่องดิจิทัลฯทันที ทำให้แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลถึงกับหัวเราะ และต่างเดินแยกย้ายกลับ ซึ่งจังหวะนี้สื่อมวลชนได้พยายามให้ตอบคำถามต่อ โดยนายกฯระบุว่า ตนจะพูดเรื่องอื่นต่อ แต่เรื่องนี้จบแล้ว โอเคนะครับ ยังมีเรื่องอื่นอีกเยอะ หากจะถามเรื่องเงินดิจิทัลให้ นายจุลพันธ์ อยู่รอตอบก่อน พร้อมกับยกนิ้วชี้ขึ้นมาที่ปากทำสัญลักษณ์ให้เงียบ นายกฯยังระบุอีกว่า ยังมีเนื้อข่าวอีกเยอะไม่ต้องห่วง

ขณะที่ นายจุลพันธ์ ตอบคำถามถึงเหตุผลที่ยังไม่เคาะวันชัดเจนในการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ยังเคาะวันไม่ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการพัฒนาระบบด้วย แต่แน่นอนเราพยายามเร่งรัดที่สุดในกระบวนการทำทุกอย่าง แต่เราต้องรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องความเสถียรของแอบพลิเคชัน ความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลของประชาชนและราชการ รวมถึงการทำตัวเลขต่างๆต้องมีความมั่นคงและปลอดภัย ฉะนั้นเราจะเร่งเกินไปโดยการไปกำหนดเวลาเพื่อบีบจนกระทั่งถึงเวลาแล้วเกิดปัญหาก็เป็นสิ่งที่เราไม่ปฏิบัติ ฉะนั้นยังยืนยันตามกรอบเดิมลงทะเบียนในไตรมาส 3 และเปิดใช้ในไตรมาส 4

เมื่อถามว่ามีการกำหนดประเด็นการถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องใดบ้าง นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ได้กำหนดประเด็น แต่นายกฯได้สั่งการในที่ประชุม ครม. หากมีข้อสงสัยประเด็นใดก็ตามที่เป็นเรื่องของข้อกฎหมายให้ดำเนินการส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย ซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจหน้าที่ของ ธกส. และตนได้เคยให้ข่าวไปหลายครั้ง ได้ดูในรายละเอียดแล้วและมีความมั่นใจว่าเป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ แต่หากจะทำให้เกิดความกระจ่างชัด การสอบถามไปยังกฤษฎีกาเป็นสิ่งที่เราพร้อมอยู่ตลอดเวลา เมื่อถามว่าสรุปกระทรวงการคลังจะไม่ส่งให้กฤษฎีกาใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ส่ง ประเด็นใดก็ตามหากมีข้อสงสัยในข้อกฎหมาย มากกว่านั้นเราก็พร้อมที่จะส่งไป ไม่ได้มีประเด็น

เมื่อถามว่า สรุปคือกระทรวงการคลังจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ธกส.มีอำนาจในการให้เงินหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ประเด็นนี้คงต้องส่งครับ เมื่อถามว่า ได้นำเรื่องเพื่อเข้าบอร์ด ธกส.เพื่ออนุมัติแล้วหรือยัง นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ยัง ประเด็นของเรื่องนี้ขอเรียนว่ากระบวนการในการดำเนินการตามมาตรา 28 เป็นกระบวนการงบประมาณประเภทหนึ่ง เป็นการดำเนินการตามสิ่งที่เรียกว่านโยบายกึ่งการคลัง นโยบายนี้จะเริ่มดำเนินการได้ตามกรอบของมาตรา 28 ซึ่งจะเริ่มต้นประมาณเดือนต.ค. คงจะใกล้ๆช่วงนั้นถึงจะมีการพิจารณาผ่านบอร์ดและครม.อีกครั้ง ระหว่างวันนี้จนถึงเดือน ต.ค. คงจะต้องดำเนินการอีกหลายๆอย่างในรายละเอียดให้ครบถ้วน ในส่วนของคณะกรรมการกำกับซึ่งตั้งมาแล้วคงจะต้องไปประชุมหารือในรายละเอียดให้ครบ รวมถึงเรื่องการสอบถามกฤษฎีกาเพื่อให้เกิดความกระจ่างและพร้อมดำเนินการซึ่งเหลือเวลาอีก 4-5 เดือน
เมื่อถามว่าระหว่างนี้จะดำเนินการคู่ขนานกันไปใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า แน่นอน มันเป็นกระบวนการที่วันนี้รับหลักการ ซึ่งครม.เห็นชอบในหลักการและต้องไปดำเนินการในรายละเอียดให้ครบถ้วน เมื่อถามว่าถึงเรื่องสภาพคล่องทาง ธกส. อยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนจะเริ่มใช้คืน ธกส.ได้อย่างไร นายจุลพันธ์ กล่าวว่า การถามคำถามอย่าชี้นำ เพราะคำถามบอกว่า ธกส.มาสอบถามว่าให้มีความชัดเจน ซึ่ง ธกส.ไม่ได้มีคำถามอะไรมาเลย เมื่อถามว่าทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีการสอบถามในเรื่องนี้ นายจุลพันธ์ ตอบว่า ไม่ใช่ สหภาพฯก็ไม่ได้ถามคำถามนั้น โดยสหภาพฯได้ถามในรายละเอียดต่างๆซึ่งตนได้ชี้แจงไปแล้ว ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันดี และสหภาพฯมีความพร้อมในการดำเนินการนโยบายนี้เพราะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร ในส่วนของสหภาพฯที่เขาเป็นห่วงที่สุดคือกรอบอำนาจหน้าที่ซึ่งเราได้เรียนแล้วตามมติ ครม.​ที่จะส่งสอบถามกฤษฎีกาเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจและพร้อม มีแค่นั้นในส่วนสหภาพฯ

“ส่วนคำถามที่เกี่ยวข้องกับสภาพคล่องของ ธกส. ทาง ธกส.มีความมั่นคงและอย่าลืมว่า ธกส.รัฐบาลถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็น เรามีแต่เสริมความแข็งแกร่งให้กับ ธกส. สิ่งที่ผมได้ชี้แจงกับสหภาพฯมี 3 ประเด็นคือ 1.การดำเนินการต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายทุกประการ รวมถึงอำนาจหน้าที่ของ ธกส. หากมีข้อสงสัยใดในการดำเนินการให้เกิดความกระจ่างชัดรัฐบาลยินดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฤษฎีกาก็ตาม 2.เสถียรภาพของ ธกส. มีความมั่นคงสูง สิ่งที่เราจะดำเนินการอยู่ในศักยภาพที่ ธกส.จะดำเนินการได้ โดยที่ไม่มีประเด็นปัญหาอะไร แต่รัฐบาลจะดำเนินการอะไรก็ตามแน่นอนมีแต่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับธนาคารในกำกับ เพราะ ธกส.เป็นปีกหลักปีกหนึ่งในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกร รัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาใช้บริการ ธกส.มาโดยตลอด รัฐบาลชุดนี้แน่นอนเราเห็นความสำคัญ มีแต่จะทำให้แข็งแกร่งขึ้น และ 3. สิ่งที่ดำเนินการจะไม่กระทบต่อสวัสดิภาพสวัสดิการใดๆของพนักงาน ลูกจ้าง ธกส. เด็ดขาด” นายจุลพันธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า มีนโยบายที่จะเพิ่มทุนให้ ธกส. อย่างไร นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีการพูดคุยกันในส่วนของพวกเราเอง มีกระบวนการอยู่ แต่กระบวนการพูดคุยเวลาเราเติมเงินกับธนนาคารในกำกับ เช่น การเติมเงิน ให้ ธกส. โดย 1 บาทจะสามารถเปิดเป็นวงเงินสินเชื่อให้กับเกษตรกรเป็น 11 บาท เป็นการเติมความแข็งแกร่งอย่างหนึ่งที่เราพิจารณาอยู่ ส่วนจะเท่าไหร่และเมื่อไหร่ขอประชุมพิจารณากันอีก 1-2 ครั้ง ยืนยันว่า ธกส.มีสภาพคล่องเพียงพอ

เมื่อถามว่าตอนนี้ประชาชนเบาใจได้หรือยังว่าจะได้เงินดิจิทัลจริง นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เบาใจได้ เรายืนยันในกรอบเวลา ที่ประชาชนจะได้ในไตรมาส 4 แน่นอนได้พร้อมกัน สาเหตุที่พร้อมกันเราต้องการให้เกิดอิมแพกทางเศรษฐกิจ เมื่อลงไปแล้วลงไปทีเดียวจะเกิดการกระตุ้น การหมุนเวียน การลงทุน การจ้างงาน เราต้องการผลลัพธ์ตรงนั้น และเรามองตอนนี้การดำเนินการยังไม่ได้ติดขัดอะไร

ด้าน นายเผ่าภูมิ​ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวยืนยันถึงระบบแอบพลิเคชัน ว่า ไม่มีปัญหาอะไร โดยมี 2 ระบบ คือระบบการลงทะเบียน และระบบธุรกรรมทางการเงิน จะเป็นลักษณะเชื่อมต่อกันในหลายๆภาคส่วน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ซึ่งทั้ง 2 ระบบได้มีการพัฒนาและอยู่ในกรอบเวลาที่ได้กำหนดไว้ โดยจะเปิดให้มีการลงทะเบียนในไตรมาส 3 ปีนี้ และประชาชนจะได้รับเงินในไตรมาส 4 ส่วนรายละเอียดจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการอีกที เพื่อยืนยันข้อมูลในส่วนของแอบพลิเคชันอีกครั้ง

เมื่อถามว่าวันข้างหน้าหากมีปัญหาข้อกฎหมายตามมา รัฐบาลจะร่วมกันรับผิดชอบทั้งคณะใช่หรือไม่ นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าสิ่งที่เราทำถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ เรามีการเช็ครายละเอียดรอบคอบ ทั้งในส่วนอำนาจหน้าที่และการได้มาของงบประมาณต่างๆ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ในหลวง พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกฯ นำ ครม.ชุดใหม่ เฝ้าฯ ถวายสัตย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรี

'ดิจิทัลวอลเล็ต เสี่ยงได้ไม่คุ้มเสีย เหตุเพิ่มภาระหนี้ล้น กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวไม่ได้

อาจารย์ธรรมศาสตร์ หวั่น ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ได้ไม่คุ้มเสีย เหตุ ‘กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวไม่ได้’ แถมเพิ่มภาระหนี้ล้น สถานะการคลังน่าเป็นห่วง Worst-case scenario หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้ง แนะรัฐบาลพิจารณาให้รอบคอบ ยังมีอีกหลายวิธีที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่า

'เศรษฐา' เตรียมจ้อ 'นายกฯพบประชาชน' เดือนละครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เตรียมจัดรายการ “นายกฯพบประชาชน” ซึ่งจะจัดเดือนละ 1 ครั้งในวันเสาร์ เพื่อสื่อสารการทำงานของรัฐบาล และพูดคุยกับประชาชน