'คลัง' ขยับจีดีพีปี67โตเพิ่มแตะ2.7% ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุน ลุ้นDigital Walletดันยาว

สัญญาณมาดี!! “คลัง” ขยับเพิ่มจีดีพีปี 2567 เป็น 2.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.4% ชี้อานิสงส์ท่องเที่ยว-ส่งออกช่วยหนุน แอบลุ้นมีโอกาสพุ่งแตะ 3% ฟุ้งรัฐบาลพร้อมเข็นกลไกสนับสนุนการขยายตัวเต็มสูบ เบรกจ้อลด-ไม่ลดดอกเบี้ย ชี้ไม่เหมาะสม หวั่นเป็นการชี้นำหรือกดดัน พร้อมแจง Digital Wallet ตลอดโครงการช่วยกระทุ้งเศรษฐกิจโต 1.2-1.8%

26 ก.ค. 2567 – นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2567 เพิ่มเป็น 2.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.4% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคบริการและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ ทั้งในมิติของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายจ่ายต่อหัวนักท่องเที่ยวที่สูงกว่าประมาณการในครั้งก่อน โดยคาดว่าในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 36 ล้านคน ขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 27.9% ต่อปี และเพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ 35.7 ล้านคน ขณะที่รายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวคาดอยู่ที่ 47,000 บาท/คน/ทริป เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่อยู่ที่ 44,600 บาท/คน/ทริป

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่าฟรี) เพิ่มขึ้นเป็น 93 ประเทศ/ดินแดน และการเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีรายจ่ายต่อหัวสูง โดยรวมภาคการท่องเที่ยวจะสร้างรายได้กว่า 1.69 ล้านล้านบาทในปี 2567 เพิ่มขึ้น 37.4%

ขณะที่การส่งออกในปีนี้มีสัญญาณขยายตัวดีกว่าที่คาด โดยคาดขยายตัว 2.7% เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่ 2.3% จากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญขยายตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะ สหรัฐฯ จีน และยูโรโซน โดยมีการปรับตัวขึ้นของจีดีพีประเทศคู่ค้า 15 ประเทศหลักที่ 3.2% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ 3.1% รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชนคาดขยายตัว 4.5% เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่ 3.5% ส่วนหนึ่งจากรายได้เกษตรกรขยายตัว 8% และภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริง (Real VAT) ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้การใช้จ่ายและการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 3.6% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการทางการคลังและมาตรการด้านสินเชื่อและสภาพคล่องของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 0.6% ต่อปี ดุลบริการเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 เกินดุล 11.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2.4% ของจีดีพี

นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า ตัวเลขการประมาณการจีดีพีนี้ ไม่ได้นับรวมผลที่คาดว่าจะได้รับในระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากโครงการ Digital Wallet โดยกระทรวงการคลังได้ประมาณเบื้องต้นว่าหากพิจารณาเฉพาะโครงการ Digital Wallet นี้จะส่งผลช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว 1.2-1.8% ตลอดทั้งโครงการ ซึ่งขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของเงิน เงื่อนไขโครงการ และจำนวนผู้มีเข้าร่วมโครงการ และพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้รับสิทธิ์

นอกจากนี้ การประมาณการครั้งนี้ ได้มีการรวมเรื่องนโยบายการเงินไว้ด้วย แต่ไม่เหมาะสมที่จะพูด ส่วนเรื่องการจะลดหรือไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ก็ไม่เหมาะสมที่จะพูดเช่นกัน เพราะจะเป็นการชี้นำหรือกดดัน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าทั้งมาตรการด้านการคลัง และการเงิน ต่างคนต่างทำหน้าที่ โดยให้อิสระซึ่งกันและกัน โดยมาตรการด้านการคลังจะทำหน้าที่เต็มที่ ส่วนมาตรการด้านการเงินก็คาดหวังว่าจะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ด้วย ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวได้สูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากไฮน์ซีซั่นการท่องเที่ยว

“2.7% ถือเป็นตัวเลขที่ดี แต่รัฐบาลต้องการทำให้ดีมากกว่านั้น ต้องการให้เศรษฐกิจโตได้สูงขึ้น มั่งคั่งทั้งในมิติของประชาชน และภาคธุรกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งหมดเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการผ่านทั้งจากมาตรการด้านการคลัง และมาตรการด้านการเงินที่ต้องสอดประสานกันในการทำหน้าที่ผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น โดยยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึง 3% ซึ่งยืนยันว่า รัฐบาลจะทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นกลไกให้ทุกส่วนมีส่วนช่วยในการผลักดันเศรษฐกิจ และปัจจุบันมีมาตรการที่ออกมาบางส่วนแต่ยังไม่มีผล เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของออมสิน วงเงิน 100,000 ล้านบาท และจะมีมาตรการสินเชื่อต่าง ๆ ที่จะออกออย่างต่อเนื่อง มาตรการภาษีที่จะเข้าไปดูแลและดึงดูดการลงทุน” นายเผ่าภูมิ กล่าว

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ 1.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดพระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่อาจส่งผลต่อราคาพลังงานปรับสูงขึ้น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐ เป็นต้น 2.ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐและสหภาพยุโรป

3.ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ 4.การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะจีนจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ 5.ปัญหาหนี้ครัวเรือนและธุรกิจที่จะบั่นทอนการใช้จ่ายในระยะต่อไป

ส่วนปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ การใช้จ่ายของภาครัฐ จำนวนนักท่องเที่ยว การเร่งรัดการลงทุนของโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนแล้ว ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ 8 ด้านภายใต้กรอบนโยบาย Ignite Thailand ของรัฐบาล เป็นต้น

เพิ่มเพื่อน