ไลน์ 'สว.' เดือด! เสียงแตกหั่น กมธ. 26 คณะ หวั่นภาพแจกเก้าอี้

ไลน์กลุ่มสว. 200 คน ระอุ! ถกไม่ลงตัว ลด-ไม่ลด กมธ.สามัญ วุฒิสภาฯ เผยศุกร์นี้ปิดดีลไม่จบ ใช้ของเดิม 26 คณะไปก่อน แต่หวั่นเกิดภาพไม่ดี หวังแบ่งเก้าอี้

29 ก.ค. 2567 – ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) หลังมีรายงานว่า นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา จะนัดประชุมวุฒิสภาในวันศุกร์ที่ 2 ส.ค. นี้ เพื่อหารือเรื่องข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา หลังมี สว. บางส่วนเสนอญัตติให้มีการพิจารณาเรื่องการยกร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวน ของ สว. ชุดปัจจุบัน ที่มี 200 คน ซึ่งลดลงจาก สว. ชุดที่ผ่านมาที่มี 250 คน ทำให้ตอนนี้ สว.หลายคนเสนอให้มีการลดจำนวนคณะกรรมาธิการสามัญ วุฒิสภา จากที่เคยมี 26 คณะลง เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวน สว. ที่ลดไป 50 คน

โดยมีรายงานว่า ขณะนี้ยังคงมีความคิดเห็นข้อถกเถียงกันอยู่ในกลุ่ม สว. อย่างกว้างขวาง เพราะ สว.บางคน ก็เห็นว่า ควรคงกรรมาธิการสามัญ ไว้เท่าเดิม 26 คณะ ไม่จำเป็นต้องลดจำนวนลง แต่ สว. หลายคน เห็นว่าควรลดลง โดยเสนอทางเลือกเช่น ให้เหลือ 18 คณะ แต่บางคนก็เสนอว่าลดเหลือ 25 คณะพอ

แหล่งข่าว สว. ให้ข้อมูลว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างกันดังกล่าว ทำให้ขณะนี้ ในไลน์กลุ่ม สว. ที่ตอนนี้มี สว. เกือบทั้งหมด 200 คน อยู่ในไลน์กลุ่มดังกล่าวเกือบครบหมดแล้ว มีการเสนอความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย จนอาจหาข้อยุติไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าในช่วงค่ำวันอาทิตย์ที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา การหารือเรื่องดังกล่าวในไลน์กลุ่ม สว. ยิ่งร้อนแรงขึ้นไปอีกเมื่อ นายปฏิมา จีระแพทย์ สว. ที่เคยลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งและคนที่สอง แต่ไม่ได้รับเลือก ได้โพสต์ลงในไลน์กลุ่ม สว. โดยมีเนื้อหา ไม่เห็นด้วยกับการที่จะมีการยกเลิกคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ ที่ตั้งขึ้นในสมัยวุฒิสภาชุดที่แล้ว ตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 82

โดยนายปฏิมา โพสต์ในไลน์กลุ่มว่า “ตามที่ท่าน สว. ได้ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาฯ ขึ้นมาใหม่ นั้น กระผมเห็นด้วยในหลักการที่จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงข้อบังคับให้สอดรับอำนาจหน้าที่ของ สว. ชุดปัจจุบัน ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 269 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะเรื่องของ สว. ในวาระเริ่มแรก แต่ยังมีบางข้อบางประเด็นที่กระผมมีความกังวล และหนักใจว่าอาจจะนำไปสู่ข้อขัดแย้งในกลุ่มของ สว. ด้วยกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิก กมธ. วิสามัญ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามข้อ 82 และเปลี่ยนมาตั้งเป็น กมธ.วิสามัญการแก้ปัญหาความยากจนฯ ซึ่งกระผมยังเห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ มีความสำคัญต่อประเทศชาติ

นอกจากนี้ กระผม เห็นว่า จำนวนคณะ ของกรรมาธิการตามข้อบังคับเดิม ยังคงมีความสำคัญและยิ่งทำให้การทำงานกระจายไปสู่ สว. ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญตามกลุ่มอาชีพที่ได้รับเลือกมา การรวมบางคณะเข้าด้วยกันอาจจะยิ่งทำให้ปริมาณงานเพิ่มจนทำเวลาการพิจารณาล้าช้า เช่น การรวม กมธ. องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ กับ กมธ. ติดตามการบริหารงบประมาณ ดังนั้น หากจำเป็นต้องแก้ไขข้อบังคับดังกล่าว ควรแก้เฉพาะข้อที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ หรือเพิ่มเติมที่จะเป็นการเสริมประสิทธิภาพในการทำงานของ สว. จึงขอให้ท่าน สว. พิจารณาทบทวนการเสนอข้อบังคับดังกล่าวอีกครั้ง” นายปฏิมา ระบุ

มีรายงานว่า หลังนายปฏิมา ได้โพสต์ข้อความดังกล่าวในไลน์กลุ่ม สว. ทำให้มี สว.หลายคน เข้ามาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนอย่างกว้างขวาง โดย สว.หลายส่วนไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิก คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว แม้จะเป็นกมธ. วิสามัญฯ ไม่ใช่ กมธ.สามัญ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญ ควรคงไว้

อย่างไรก็ตาม ต่อมา ได้มี สว. บางคน ได้ชี้แจงกับ สว.หลายคน เป็นการส่วนตัว โดยเลี่ยงที่จะเข้าไปโพสต์ชี้แจงในไลน์กลุ่ม สว. โดยบอกว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของนายปฏิมา เพราะข้อเสนอของ สว.บางส่วนที่กำลังยกร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาในขณะนี้ เช่น ข้อเสนอของนายสรชาติ วิชยสุวรรณพรหม ไม่ได้มีการเสนอให้ยกเลิกคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างที่นายปฏิมาเข้าใจแต่อย่างใด เพราะยังคงให้มีคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวอยู่ต่อไป แต่ได้เสนอปรับปรุงแก้ไขเรื่องเกี่ยวกับคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา โดยให้ตั้งขึ้นใหม่จำนวน 2 คณะ คือ 1.คณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำฯ และคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อรองรับข้อเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ

แหล่งข่าว สว. เปิดเผยว่า ขณะนี้ สว. 200 คน อยู่ระหว่างการหารือเป็นการภายในทั้งในไลน์กลุ่มใหญ่ สว. 200 คน -ไลน์กลุ่มย่อยของ สว. กลุ่มต่างๆ รวมถึงการพูดคุยทางโทรศัพท์ เพื่อหาข้อยุติว่า เสียงส่วนใหญ่จะให้คงไว้ซึ่งกมธ. 26 คณะหรือจะให้แก้ไข ลดจำนวนลง และหากลดจำนวนลงจะเหลือกี่คณะ ซึ่งมีการคุยกันว่า หากจะใช้วิธีให้ที่ประชุม สว. ลงมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไปศึกษาและยกร่างข้อบังคับวุฒิสภา จะใช้เวลานานเป็นเดือน ซึ่งจะทำให้การเข้าไปทำงานของ สว. ก็จะล่าช้าเสียเวลา สว. ไม่สามารถไปทำงานในคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ได้เป็นเดือน ถ้าเป็นแบบนี้ ก็อาจต้องใช้เสียงข้างมาก ให้ที่ประชุมมีมติว่าให้ใช้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาชุดที่แล้ว คือข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 และแก้ไขเพิ่มเติม มาใช้กับ สว. ชุดปัจจุบันไปก่อน จากนั้น หาก สว. ทำงานร่วมกันไปได้สักพัก แล้วมีข้อยุติเรื่องนี้ ก็ค่อยมาคุยกันอีกรอบ

“สว.ชุดที่แล้วที่มี 250 คน แล้วตั้ง กมธ.สามัญ 26 คณะ และยังมีกรรมาธิการวิสามัญอีกไม่รู้กี่คณะ ปรากฏว่า ประชุมกรรมาธิการหลายชุด ที่ประชุมโหรงเหรงมาก คนเข้าประชุมกันน้อย แล้วหาก สว. 200 คน ให้ยืนตามเดิมให้มี 26 คณะ ทั้งที่ สว. ลดไป 50 คน ภาพก็จะออกมาไม่ดี ทำนองว่า สว.จะได้เป็นประธานกรรมาธิการกันเยอะๆ แบ่งเก้าอี้กันให้ครบ แต่ก็จะเจอปัญหา ประชุมกรรมาธิการแต่ละนัด สว. อาจเข้าประชุมกันน้อย ดังนั้น ตอนนี้ สว. กำลังคุยกันให้จบภายในสัปดาห์นี้ว่าจะเอาอย่างไร หากเสียงส่วนใหญ่เอาด้วยให้ลดจำนวนลง ก็ใช้วิธีคือพอมีการพิจารณาญัตติเรื่องยกร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ที่มี สว. บางคน เช่นนายสรชาติ ยื่นไปแล้ว ที่ประชุมก็พิจารณาไปเลย แล้วโหวตกันว่าจะให้กรรมาธิการมีกี่คณะ มีคณะอะไรบ้าง ซึ่งถ้า สว.เสียงส่วนใหญ่เอาตามนี้ ก็จะประชุมกันเลยสามวาระรวดให้เสร็จภายในวันเดียว แต่หากตกลงกันไม่ได้ ก็อาจใช้วิธี ให้ที่ประชุมโหวตตั้งกรรมาธิการตามข้อบังคับวุฒิสภาปี 2562 ที่ก็คือให้คงกรรมาธิการ 26 คณะเหมือนเดิม แล้วหลังจากนั้นอีกสักพักค่อยมาคุยกันว่าจะลดลงหรือไม่ เพราะหากใช้วิธีตั้งกรรมาธิการไปยกร่างข้อบังคับใหม่ทั้งหมด ต้องใช้เวลาเป็นเดือนที่มันจะช้า” แหล่งข่าว สว. เปิดเผย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มติเอกฉันท์! ศาลรธน. ตีตก 7 คำร้อง ขอให้วินิจฉัยเลือก สว. ไม่ชอบ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับ 7 คำร้องที่มีการร้องขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ประกอบด้วยคำร้องของนายสมบูรณ์ ทองบุราณ,นายวัฒนา ชมเชย ,ว่าที่ร.ต.วิชชุกร คำจันทร์ นายจิรัฎฐ์ แจ่มสว่าง,นายปรีชา เดชาเลิศ,นางฤติมา กันใจมา,

ศาลรธน.สั่ง 'สมชาย เล่งหลัก' หยุดปฏิบัติหน้าที่สว.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต ) ผู้ร้อง ขอให้พิจารณาวินิจฉัยกร

ระอุ สภาสูงย้อนเกล็ดเพื่อไทย ประธานกมธ.ทหารฯ ขวาง ครม.ทำโผทหาร

ระอุ สภาสูงตั้งป้อม สกัดเพื่อไทย ยึดอำนาจกองทัพ ประธานกมธ.ทหารฯ มาเอง ขวางครม.ทำโผทหาร เปิดเหตุผล “หัวเขียง-พท.”เสนอเพิ่มอำนาจครม.ตั้งบิ๊กท็อปบูต อัดแรง ระบบปัจจุบันเปิดช่องผบ.เหล่าทัพ วางทายาท-พวกพ้องให้สืบทอดอำนาจ