นายกฯ หรือหลานสาว: ความยุติธรรมที่ยังแยกไม่ออก!

ในวันที่ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชดใช้ค่าสินไหมกว่า หมื่นล้านบาท ฐาน ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต่อความเสียหายจากการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) นี่ไม่ใช่แค่คำตัดสินเรื่องตัวบุคคล แต่เป็นการตอกย้ำ หลักแห่งความรับผิดชอบ ของผู้บริหารประเทศในอดีต

คำตัดสินดังกล่าวมีรากมาจากคดีที่ถูกพิสูจน์ในชั้นศาลแล้วว่า โครงการจีทูจีที่กล่าวอ้างนั้นเป็นเพียงฉากหน้าของการทุจริตแบบ “สามชั้น” ตั้งแต่การ ปลอมชื่อคู่ค้ารัฐบาลต่างประเทศ การ ปลอมเอกสาร ไปจนถึงการ นำข้าวกลับมาขายในประเทศในราคาต่ำ เพื่อเปิดช่องทางให้พวกพ้องแสวงหากำไรโดยรัฐเป็นผู้รับภาระ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นการตอบสนองเชิงอารมณ์ จาก แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่ออกมาแชร์โพสต์ “ให้กำลังใจอา” ทั้งข้อความ ภาพเก่า เพลง และคำกล่าวที่เรียกร้องความเห็นใจ

ในฐานะ หลานสาว นั่นเป็นเรื่องหนึ่งแต่ในฐานะ หัวหน้าฝ่ายบริหารของประเทศ การเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่อาจแยกออกจากตำแหน่งทางการเมืองได้เลย

หากผู้นำประเทศแสดงออกว่า ความยุติธรรมมีสองมาตรฐาน หนึ่งเพื่อประชาชน อีกหนึ่งเพื่อครอบครัว ความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรมทั้งระบบจะหายไปโดยสิ้นเชิง

โพสต์ของนายกรัฐมนตรีจึงไม่ใช่เพียงแค่การให้กำลังใจ แต่เป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐไทยยังคงเป็นสมบัติของตระกูลการเมือง มากกว่าจะเป็นเครื่องมือของประชาชน ใช่หรือไม่

เมื่อ ผู้พิพากษาตัดสินตามหลักฐาน แต่หัวหน้ารัฐบาลกลับสื่อสารว่าศาลได้ “ซ้ำเติมความอยุติธรรม” ก็เท่ากับกำลังบ่อนเซาะความน่าเชื่อถือของ กระบวนการยุติธรรม เสียเอง

ขณะเดียวกัน ความพยายามจะวาดภาพว่ายิ่งลักษณ์คือ เหยื่อของ “การเมืองเล่นงาน” กลับไม่สามารถลบล้างความเสียหายเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นกับรัฐได้

เพราะคำพิพากษาของศาล ไม่ได้เกิดจาก “ความเกลียดชังทางการเมือง” แต่เกิดจาก การตรวจสอบเชิงนิติกรรมและการเงิน ว่าใครควรรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบริหาร

ถ้า แพทองธาร คือหัวหน้ารัฐบาลที่เชื่อในกฎหมาย ก็ควรจะรักษา ความเป็นกลางของอำนาจบริหาร ไม่ใช่ใช้มันไปสนับสนุนการ “ต้านคำพิพากษา” อย่างไม่เป็นทางการผ่านโซเชียลมีเดีย

เพราะไม่มีใครในประเทศนี้ที่มีอภิสิทธิ์พิเศษพอจะ “ไม่ต้องชดใช้หนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ” โดยไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้บังคับบัญชา

คำว่า ไม่รู้ ไม่เกี่ยว ไม่เห็น ไม่ใช่ข้ออ้างสำหรับผู้นำประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือปัจจุบัน

สิ่งที่น่าตั้งคำถามจึงไม่ใช่แค่คำว่า “อยุติธรรม” แต่คือเจตนาที่จะปลุกอารมณ์สาธารณะให้คล้อยตามการตีความความยุติธรรมเฉพาะกรณี เฉพาะครอบครัว

ไม่มีใครปฏิเสธว่าไทยมีปัญหาเรื่อง ความอยุติธรรม แต่การเรียกร้องความยุติธรรมที่ จำกัดเฉพาะคนที่มีนามสกุลเดียวกัน ไม่ใช่คำตอบของประเทศนี้

คนที่ยังอยู่ในคุกจาก คดีการเมือง นักเคลื่อนไหวที่ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะเห็นต่าง นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่โดนฟ้องข้อหาหมิ่นสถาบัน หรือมั่วสุม ชุมนุมเกินห้าคน

ไม่มีใครได้ฟังเพลง “ฤดูที่แตกต่าง” เหมือนที่ยิ่งลักษณ์ได้ ไม่มีใครได้รับสตอรีส่งกำลังใจจากนายกรัฐมนตรี ไม่มีใครมีรัฐบาลทั้งชุดคอยคืนความยุติธรรมให้กับตัวเอง

นี่ไม่ใช่ปัญหาของ ยิ่งลักษณ์ แต่มันคือปัญหาของ โครงสร้างทางการเมือง ที่ไม่เคย “พ้นเงาครอบครัว”

เมื่อรัฐถูกใช้เป็นเกราะให้คนในตระกูล แต่กลายเป็นคุกสำหรับคนเห็นต่างจากรัฐ ความยุติธรรมจึงไม่ใช่แค่บิดเบี้ยว แต่กำลังถูกตัดเย็บใหม่ให้พอดีกับขนาดของสกุล

และการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในนามของคนสกุล “ชินวัตร” จึงไม่เคยข้ามพ้นกรอบของ ผลประโยชน์ตัวเอง

ตราบใดที่ผู้มีอำนาจยังเลือกเห็นเฉพาะ “อาคนเดียว” โดยมองไม่เห็น “ประชาชนทั้งประเทศ” คำว่า “ยุติธรรม” ที่พูดถึงก็ยังเป็นแค่ของใช้ส่วนตัว

นี่คือความแตกต่างของ “นายกรัฐมนตรี” กับ “หลานสาว” ซึ่งในระบอบประชาธิปไตย ไม่ควรจะสวมอยู่ในคนเดียวกัน!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คลิปเสียง ‘อิ๊งค์-ฮุน เซน’ อวสาน ‘ความไว้วางใจ’

คลิปเสียงบทสนทนาระหว่าง ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี กับ ‘สมเด็จฮุน เซน’ อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เกี่ยวกับปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา กำลังตอกย้ำว่า รัฐบาลล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการแก้ไขปัญหา

เสียมารยาท 'ฮุนเซน' แบล็กเมล์นายกฯไทย ขู่ปล่อยคลิปเต็ม 17 นาที

'ฮุนเซน' แสดงพฤติกรรมผิดธรรมเนียมการทูต โพสต์เฟซบุ๊กยอมรับเป็นผู้บันทึกและแจกจ่ายคลิปเสียงการสนทนากับนายกฯไทย ให้เจ้าหน้าที่กว่า 80 คน พร้อมขู่จะเผยแพร่คลิปฉบับเต็ม หากยังถูกวิจารณ์ว่าเล่นการเมืองไม่เป็นมืออาชีพผ่านโซเชียล

คลิปเสียงคล้าย 'อิ๊งค์-ฮุนเซน' ว่อนโซเชียล พูดถึงชายแดน พาดพิงแม่ทัพภาค 2

โซเชียลฯ เผยแพร่คลิปเสียงยาว 9.30 นาที ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายบทสนทนาระหว่างบุคคลที่มีเสียงใกล้เคียงกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และอดีตนายกฯ กัมพูชา สมเด็จฮุนเซน โดยกล่าวถึงสถานการณ์ชายแดน พร้อมพาดพิงแม่ทัพภาค 2 จนกลายเป็นประเด็นวิจารณ์ในสังคม ขณะที่ยังไม่มีการยืนยันว่าคลิปดังกล่าวเป็นของจริงหรือไม่