รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ผนึก 'สปสช.' เปิดโครงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมฟรีสำหรับคนยากไร้

รศ.นพ.ณัฐพล ธรรมโชติ

แพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ชี้ ประเทศไทยยังมีหมอผ่าตัดข้อเข่า-สะโพก ที่เชี่ยวชาญอยู่จำกัด ส่งผลให้ประชาชนกว่าแสนรายยังไม่ได้รับบริการ พร้อมจับมือ มธ.-สปสช. เปิดโครงการผ่าตัดฟรีเป็นปีที่สี่ประมาณ 100-200 ข้อ คาดเปิดรับสมัคร-ประกาศเงื่อนไขได้ ภายในเดือน พ.ย. นี้

13 ต.ค.2565 - รศ.นพ.ณัฐพล ธรรมโชติ ประธานคณะกรรมการโครงการจิตอาสา ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยมีอัตราการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและสะโพกเทียมค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย สาเหตุเนื่องมาจากแพทย์และโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการให้บริการการผ่าตัดได้อย่างดีนั้นยังมีไม่เพียงพอ ส่งผลให้ทุกวันนี้ มีประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุยังเข้าไม่ถึงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมอีกกว่า 1 แสนราย

รศ.นพ.ณัฐพล กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์การกระจายตัวของแพทย์ผ่าตัดข้อเข่า-ข้อสะโพกจะครอบคลุมอยู่ในหลายจังหวัด แต่ในบางแห่งพบว่าแพทย์ยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอที่จะจัดการรับมือกับความซับซ้อนของโรคหรือยังขาดโครงสร้างพื้นฐาน และอุปกรณ์ ทำให้ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้ในบางพื้นที่มีระยะเวลารอคอยนาน หรือ ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการผ่าตัดแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น หรือยังมีความเจ็บปวดอยู่ นั่นยิ่งทำให้ผู้ป่วยอื่นๆ ในพื้นที่นั้นขาดความเชื่อมั่น และเลือกที่จะทนต่อความเจ็บปวดทุพลภาพ และไม่เข้ารับบริการ

รศ.นพ.ณัฐพล กล่าวอีกว่า ได้พูดคุยกับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งท่านก็มีข้อเสนอที่น่าสนใจและส่วนตัวก็เห็นด้วยว่า ควรจัดตั้งโมเดล “ศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อ” แบบเดียวกับที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติดำเนินการอีก 15-20 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์สูงสามารถให้คำปรึกษาแนะนำเป็นพี่เลี้ยงแพทย์ในพื้นที่ หรือแพทย์ที่มีประสบการณ์ผ่าตัดน้อยได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น บุคคลากรมีความเชี่ยวชาญ และมีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถให้บริการการผ่าตัดเปลี่ยนข้อได้มีคุณภาพมาตรฐาน

“มันต้องมีการทำงานประสานกันระหว่างแพทย์ที่เชี่ยวชาญมากและแพทย์ที่ยังมีประสบการณ์จำกัดอยู่ มีการดูแลช่วยเหลือกัน ลองนึกภาพหมอจบมาใหม่ ไม่ใช่ว่าจะผ่าตัดเก่งได้เลย ต้องหาประสบการณ์และอีกหลายปัจจัย เหมือนการทำผัดไท จะผัดให้อร่อยเหมือนร้านชื่อดังตลอดเวลาก็ต้องมีสูตร และใช้ของที่มีคุณภาพมาตรฐาน ภารกิจในตอนนี้จึงเป็นการทำอย่างไรให้หมอทุกคนผัดได้อร่อยตลอด ไม่ใช่ผัดไปบางทีไม่สุกบ้าง เค็มไปบ้าง ถ้าเรามีระบบตรงนี้ในการที่จะพัฒนาและรักษาคุณภาพ หรือถ้ามีปัญหาก็แก้ไขได้อย่างเป็นระบบ ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจของผู้ป่วยต่อการผ่าตัดมากขึ้น” รศ.นพ.ณัฐพล กล่าว

รศ.นพ.ณัฐพล กล่าวอีกว่า แม้ประเทศไทยจะมีสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ซึ่งให้การรับรองเรื่องมาตรฐานและบริการสุขภาพ (HA) ของโรงพยาบาล ทว่าเป็นการรับรองในขบวนการทำงานแต่ไม่ได้รับรองผลการรักษา ถึงแม้นจะช่วยให้ขบวนการรักษาดีขึ้น แต่มาตรฐานการผ่าตัดจะต้องลงลึกและเป็นเรื่องของเทคนิควิธีการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีรายละเอียดมาก และยังต้องการระบบในการกำกับดูแลให้ได้คุณภาพมาตรฐานสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้รับบริการ

อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเห็นถึงปัญหานี้ และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยคลี่คลายปัญหา จึงได้ร่วมมือกับ สปสช. จัดทำ “โครงการจิตอาสา ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม” ขึ้นเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยในปี 2565 ซึ่งได้ทำการผ่าตัดตั้งแต่ ธ.ค. 2564 - มี.ค. 2565 ได้ให้บริการผ่าตัดข้อเข่าและข้อสะโพกโดยทีมจิตอาสา นอกเวลาราชการ รวมจำนวน 200 ข้อ แก่ผู้ยากไร้ไม่ว่าจะอยู่จังหวัดใดก็ตาม ในปี 2566 ซึ่งจะเป็นปีที่สี่ น่าจะเปิดรับผ่าตัดแก้ไขโรคข้อเสื่อมให้แก่ผู้ป่วยยากไร้ได้ประมาณ 100-200 ข้อ คาดว่าจะเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการได้ภายในเดือน พ.ย.2565 นี้

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่สร้างความเจ็บปวดทรมานแก่ผู้สูงอายุ และก่อให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณข้อเข่าและข้อสะโพกซึ่งเป็นตำแหน่งที่รับน้ำหนักมาก โดยหนึ่งในวิธีการรักษาโรคข้อเสื่อมคือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ซึ่งเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)

อย่างไรก็ดี แม้ สปสช. จะมีสิทธิประโยชน์การให้บริการด้านการผ่าตัดข้อเข่าและสะโพกกับประชาชน แต่เนื่องจากผู้ป่วยมีจำนวนมากกว่าที่ระบบจะรองรับได้ จึงทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ไม่มากพอต่อความต้องการ ฉะนั้น สปสช. พร้อมเป็นกลไกสนับสนุนด้านระบบส่งต่อและงบประมาณแก่โครงการ เพื่อขยายการบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น

ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดและเงื่อนไขได้ผ่านช่องทางการสื่อสารของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บ่อน้ำ' ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของอาจารย์ปริญญา

อาจารย์ปริญญา จบกฎหมายมหาชน จากเยอรมัน จึงน่าจะเป็นเหตุผล ที่ทำให้ อาจารย์ มักแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับกฎหมายของประเทศไทย อยู่หลายๆครั้ง ทำเหมือนไม่รู้ว่า “เมื่อเป็นคนไทยทำผิด ก็

มธ.จัดงาน 'วันสัญญา ธรรมศักดิ์' เปิดวงเสวนายกเคส ชั้น 14 สะเทือนกระบวนการยุติธรรม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัด “งานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567” มอบรางวัลนักศึกษากฎหมาย-เรียนดี สืบสานปณิธานปูชนียบุคคลด้านนิติศาสตร์ พร้อมจัดวงเสวนา “กระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนบังคับคดีอาญา” ยกเคสตัวอย่าง “คดีชั้น 14 รพ.ตำรวจ” บนขั้นตอนที่ผิดเพี้ยน สั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรม-กฎหมายไทย

นายกฯ สั่ง 'สปสช.-สปส.' ร่วมยกระดับหลักประกันสุขภาพ

นายกฯ สั่งการเดินหน้าบูรณาการการทำงาน สปสช.- สปส. ร่วมมือการทำงาน เริ่ม 1 เม.ย.2567 ยกระดับหลักประกันสุขภาพตรวจสุขภาพเพิ่มเติมตามกลุ่มช่วงอายุ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย