คนไข้โควิดไอแรง! เส้นเลือดโป่งพองในช่องท้องแตก

5 มิ.ย. 2566 – นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ผู้ป่วยหญิงอายุ 75 ปี ปกติแข็งแรงดี ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแอสตราเซเนกา 2 เข็ม โมเดอร์นา 2 เข็ม มีไข้ แสบคอ ไอมาก วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ตรวจ ATK ให้ผลบวก วินิจฉัยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ยาโมลนูพิราเวียร์ 5 วัน หลังกินยาครบยังไอมาก ไอแรง ไอจนปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ทะลุไปด้านหลัง กินอาหารไม่ได้ อาเจียนอาหารที่กินออกมาหมด เข้านอนในโรงพยาบาล

วันที่ 5 พฤษภาคม ตรวจเลือด พบเลือดจางระดับฮีโมโกลบินต่ำ 10.2 เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ เท่ากับเลือดหายไป 3 ถุง ส่องกล้องพบลำไส้เล็กส่วนต้น (ดูรูป) ที่ต่อกับกระเพาะอาหารตีบตันจากมีอะไรข้างนอกมาบีบรัดลำไส้เล็กส่วนต้น

ทำคอมพิวเตอร์สแกนช่องท้อง พบก้อนเลือดขนาด 3.9 x 8.3 x 8.6 เซนติเมตร บีบรัดลำไส้เล็กส่วนต้น (ดูรูป)

ทำหัตถการฉีดสีเข้าไปในเส้นเลือดพบ เส้นเลือดแดงเล็กที่ไปเลี้ยงตับอ่อน-ลำไส้เล็กส่วนต้นล่าง (inferior pancreaticoduodenal artery) โป่งพองขนาด 0.5 เซนติเมตร (ดูรูป) และเส้นเลือดแดงเล็กที่ไปเลี้ยงตับอ่อน-ลำไส้เล็กส่วนต้นบน (superior pancreaticoduodenal artery) โป่งพองขนาด 0.2 เซนติเมตร และรั่วทั้ง 2 ตำแหน่ง ใส่สายสวนหลอดเลือดเข้าไปถึงบริเวณเส้นเลือดที่โป่งพองแล้วปล่อยขดลวดเข้าไปอุดและฉีดสารอุดหลอดเลือดที่โป่งพองด้วยกาวและน้ำมัน

หลังทำหัตถการผู้ป่วยอาการค่อยๆ ดีขึ้น ต้องใช้เวลา 14 วันกว่า ผู้ป่วยจะกลับมากินอาหารเหลวได้ ระหว่างที่อดอาหาร ให้สารอาหารทางเส้นเลือด และต่อสายระบายน้ำในกระเพาะอาหารลงขวดนาน 14 วัน วันที่ 3 มิถุนายนตรวจกระเพาะลำไส้ด้วยการกลืนแป้ง ไม่พบการอุดตันของลำไส้เล็กส่วนต้นอีกแล้ว (ดูรูป)

ผู้ป่วยรายนี้มีเส้นเลือดเล็กโป่งพองในช่องท้องอยู่แล้ว ระหว่างที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไอแรงมากจนกระเทือนช่องท้อง เส้นเลือดเล็กที่โป่งพองในช่องท้องแตก ทำให้เลือดจางจากการเสียเลือด เลือดไหลออกในช่องท้องรวมตัวเป็นก้อนเลือด บีบรัดลำไส้เล็กส่วนต้นจนลำไส้เล็กส่วนต้นอุดตัน กินอาหารอาเจียนออกหมด โรคนี้พบน้อยมากๆ ถ้าไม่ได้รับการรักษาโอกาสเสียชีวิตสูง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอมนูญ’ เตือนโควิดหลังสงกรานต์เปลี่ยนไป ใครมีอาการแบบนี้รีบตรวจ ATK

อาการของโรคโควิดเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่เป็นอาการของทางเดินหายใจส่วนบน คอ จมูก มากกว่าทางเดินหายใจส่วนล่าง หลอดลม และปอด

‘หมอมนูญ’ เผยผลติดตามสถานการณ์ 5 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

ข้อมูลของโรงพยาบาลวิชัยยุทธที่ติดตามโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไวรัสไข้หวัดใหญ่  ไรโนไวรัส (Rhinovirus) อาร์เอสวี (RSV) และ ฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส Human metapneumovirus (hMPV)

พิษฝุ่นเชียงใหม่! คณะทัวร์ทักษิณป่วยหวัดระนาว ลูกอิ๊งค์ติดโควิด

'อุ๊งอิ๊ง' เผยกลับจากเชียงใหม่ พิษฝุ่น PM2.5 ทุกคนเป็นหวัดหมด ลูกสาว-ลูกชายติดโควิด เชื่อ 25 มี.ค. สว. ไม่พลาดยกปม 'ทักษิณ' อภิปราย ยันตอบได้ทุกเรื่อง

ลุยเพิ่มทีมแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ ช่วยผู้ป่วยทั่วประเทศ

รัฐบาลเร่งผลักดันการตั้งทีมแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศให้ครอบคลุม เพิ่มการเข้าถึงการรักษาและโอกาสรอดชีวิตอย่างทันท่วงที ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศ