มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ แจ้งข่าวอเมริกาห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าไอคอส

3 ตุลาคม 2564 ดร.พญ. เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี กล่าวว่า สำนักข่าวบลูมเบร์ก ได้เผยแพร่ข่าวเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา โดยระบุว่า คณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีคำตัดสินห้ามนำเข้าบุหรี่ไอคอส และสินค้าที่มีอยู่ในตลาดจะจำหน่ายได้อีกเพียง  60 วัน  ยกเว้นว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเข้าแทรกแซงและกลับคำตัดสิน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นน้อยมาก โดยไอคอสเป็นบุหรี่ชนิดใช้ความร้อนโดยไม่มีการเผาไหม้ตัวแรก ที่ องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้จำหน่าย เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผู้สูบได้รับสารพิษน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่ห้ามผู้ผลิตนำไปอ้างว่า บุหรี่ไอคอสมีอันตรายต่อผู้สูบน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา เนื่องจากการได้รับสารพิษน้อยกว่า ไม่ได้หมายความว่ามีอันตรายน้อยกว่า  

“คดีดังกล่าวเกิดจากบริษัทเรย์โนลด์ อเมริกัน อิงค์ บริษัทลูกของบริษัทบริติช อเมริกัน โทแบคโค บริษัทบุหรี่รายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ฟ้องกล่าวหาว่า บุหรี่ไอคอส ของบริษัทฟิลลิป มอร์ริส ได้ละเมิดสิทธิบัตรบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อวูสของบริษัทเรย์โนลด์ฯ 3 ข้อ เกี่ยวกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้กำเนิดความร้อนและระบบควบคุม โดยผู้บริหารบริษัทฟิลลิป มอร์ริส จะขอให้สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกายับยั้งคำตัดสินห้ามขายบุหรี่ไอคอสดังกล่าว และจะอุทธรณ์คำตัดสินต่อศาลอุทธรณ์ที่เกี่ยวกับสิทธิบัตรต่อไป” ดร.พญ. เริงฤดี กล่าว 

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า บริษัทฟิลลิป มอร์ริส ประกาศว่าได้ลงทุนมากกว่าแสนล้านบาทในการคิดค้นและพัฒนาบุหรี่ไอคอส และเมื่อไอคอสเริ่มเปิดตัวขายในญี่ปุ่นเมื่อปี 2557 บริษัทฟิลลิป มอร์ริส ได้ประกาศจะบริจาคเงินปีละ 80 ล้านดอลลาร์ ติดต่อกันเป็นเวลา 12 ปี ให้แก่มูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ (Foundation for a Smoke-Free Would) ที่บริษัทฟิลลิป มอร์ริสตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีการเผาไหม้ทั่วโลก การห้ามขายบุหรี่ไอคอส ในอเมริกา จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของบุหรี่ไอคอสและธุรกิจของบริษัทฟิลลิป มอร์ริส ซึ่งการต่อสู้คดีจะเข้มข้นและยืดเยื้อ เพื่อให้บุหรี่ไอคอสขายได้ในอเมริกาให้ได้ และเนื่องจากมีข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่า บุหรี่ใหม่ ๆ เหล่านี้มีผลกระทบต่อทั้งคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว รวมทั้งต่อเด็กและเยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่  

“บริษัทฟิลลิป มอร์ริส พยายามวิ่งเต้นผ่านผู้กำหนดนโยบายประเทศต่าง ๆ รวมทั้งในประเทศไทย และสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฏหมาย หรือขัดขวางการที่ประเทศต่าง ๆ จะออกกฏหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ขอให้ผู้บริหารประเทศ เลิกความคิดที่จะหารายได้ให้แก่ประเทศ ด้วยการขายสิ่งเสพติดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และน่าจะมีข้อเสนอในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ด้วยวิธีการอื่นที่เหมาะสมและดีกว่านี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ธรรมดาหรือบุหรี่ไฟฟ้า ล้วนมีสารเสพติดนิโคติน ซึ่งเมื่อเสพติดแล้วส่วนใหญ่จะเลิกไม่ได้ไปตลอดชีวิต ดังนั้นประเทศไทยจึงควรที่จะคงกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าไว้ต่อไป” ศ.นพ. ประกิต กล่าว 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดงานวิจัยใหม่จากสหรัฐฯ ค่ารักษาพยาบาลจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึงปีละกว่า 5 แสนล้านบาท

เปิดงานวิจัยสหรัฐฯ เผยค่ารักษาพยาบาลจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึงปีละกว่า 5 แสนล้านบาท สูงกว่ารายได้จากภาษีบุหรี่ไฟฟ้าที่ได้เพียง 300 ล้านบาท เฉลี่ยคนสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีค่าผู้ใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น 70,000 บาทต่อคน