‘เตียงไอซียู’วิกฤติหนัก!เหลือใช้แค่3สัปดาห์


เพิ่มเพื่อน    

 

วิกฤติหนัก! ศบค.รับเตียงไอซียูผู้ป่วยโควิดอาการหนักใน กทม.เหลือเพียง 262 เตียง เฉลี่ยใช้ได้แค่ 19 วัน ห้องแยกความดันลบเหลือว่าง 69 เตียง "สธ." วอนล็อกดาวน์ตัวเอง 2 สัปดาห์สกัดผู้ติดเชื้อพุ่ง "บิ๊กตู่" สั่ง รพ.ทหารขยายรับผู้ป่วยระดับ 1-2 "อนุทิน" ส่งชุด สปสช.ตรวจคนไข้มีเชื้อรอเตียงที่บ้านป้องกันซ้ำรอยอาม่า หลายจังหวัดลุยทำโรงพยาบาลสนาม

    เมื่อวันที่ 23 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันตอนหนึ่งว่า ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (อีโอซี)  ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รับทราบถึงสถานการณ์ปัญหาทั้งหมด และมีการพยากรณ์เรื่องเตียงที่มีความห่วงใยเรื่องเตียงไอซียูของ กทม.ที่เหลือ 262 เตียง จึงต้องใช้วิธีการแบ่งเตียงหรือวิธีการเพิ่มจำนวนเตียงขึ้นในพื้นที่เดิม ขณะที่ห้องแยกความดันลบ มีเตียงทั้งหมด 479 เตียง ใช้ไปแล้ว 410 เตียง ยังว่างอยู่ 69 เตียง
    "ที่ประชุมมีความห่วงใยและคิดไปข้างหน้าว่าถ้ามีอัตราติดเชื้อเพิ่มจะต้องทำอย่างไร โดยมีการประเมินว่าถ้าติดเชื้อ 1,500 รายต่อวัน ทั้งประเทศจะต้องใช้ 52 เตียงต่อวัน ขณะที่ในส่วนของ กทม. 10-13 เตียงต่อวัน ซึ่งใช้ได้ 6-8 วัน โดยทั้งประเทศขณะนี้เหลือประมาณพันเตียง ถ้าต้องใช้ 52 เตียงต่อวัน จะรับได้อีก 19 วัน หรือ 3 สัปดาห์ และถือเป็นภาวะเร่งด่วนของ กทม. ซึ่ง สธ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามบูรณาการเตียงและบุคลากรทางการแพทย์" นพ.ทวีศิลป์กล่าว     
    ถามว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ทะลุ 2,000 ราย จะกระทบต่อระบบสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ และเตียงหรือไม่ และทาง ศบค.มีแผนอย่างไร โฆษก ศบค.กล่าวว่า มีผลกระทบแน่นอน และยังไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางจะเป็นอย่างไร แต่นี่เป็นการประเมินในภาวะร้ายแรงที่สุดว่าจะทำอย่างไร นอกจากใช้วิธีแบ่งเตียง คือเพิ่มจำนวนเตียงในสถานที่เดิมในบรรยากาศที่เหมาะสมแล้วอาจจะใช้หอ?ผู้ป่วยเตียงรวมที่ไม่มีห้องแยก (cohort COVID-ICU) หรืออาจต้องมีไอซียูสนาม ซึ่งมีการพูดคุยกันอยู่ แต่มีความยุ่งยากต้องปรับปรุงสถานที่   
    นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ สธ. ชี้แจงถึงการบริหารจัดการเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ว่า สถานการณ์การบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ในต่างจังหวัด ถือว่าไม่มีปัญหา เพราะมีระบบ Single command บริหารโดย สธ.ฝ่ายเดียว แต่ความยากอยู่ที่ในกรุงเทพฯ ซึ่งกรมการแพทย์ต้องขอความร่วมมือทุกหน่วยงานในการทำฮอสปิเทล (Hospitel) เพื่อแยกคนกลุ่มสีเขียว ที่มีอาการน้อยเข้าไปอยู่ ตอนนี้หาได้กว่า 5,000-6,000 เตียง มีการเข้าอยู่แล้วประมาณ 3,000 คน
    นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า เราพยายามจัดกลุ่มคนที่อาการอยู่ในขั้นเหลืองอ่อนไปอยู่ที่สถาบันธัญญารักษ์ 200 เตียง ซึ่งรับเข้าแล้ว 50 คน วันนี้จะส่งเข้าอีก 50 คน จากนั้นพยายามให้โรงพยาบาลต่างๆ รวมถึงโรงเรียนแพทย์ ถ่ายโอนผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวออกมาอยู่โรงพยาบาลสนามและฮอสปิเทลแทน เพื่อรีบเอาคนที่อาการกลุ่มสีเหลืองแก่ไปจนถึงกลุ่มสีแดงเข้าไปรักษาใน รพ.แทน
    อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า สถานการณ์การดูแลผู้ติดเชื้อมีอาการในส่วนของเครื่องช่วยหายใจไม่ได้มีปัญหา แต่ที่มีปัญหาอยู่คือ เตียงไอซียู ซึ่งมีปัญหาเฉพาะในกรุงเทพฯ จากข้อมูลตอนนี้รวมโรงพยาบาลทุกสังกัดมีประมาณ 700 เตียง แต่ตอนนี้ว่างอยู่ประมาณ 140 เตียง หากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูง และมีผู้อาการหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คาดกันว่าเตียงไอซียูจะรองรับได้ประมาณ 10 วัน แต่ตอนนี้โรงพยาบาลแต่ละแห่งไปขยายเพิ่มเติม ก็คาดว่าจะสามารถรองรับได้ 20 วัน โดยกรมการแพทย์ก็ปรับให้ Cohort-ward มาทำเป็น ICU Cohort
    "เราต้องพยายามเอาคนติดเชื้อเข้าสถานพยาบาลเพื่อให้ได้รับการดูแล คนสีเหลืองอ่อนๆ ต้องได้รับยาเพื่อที่อาการจะได้ไม่หนัก แบบนี้ไอซียูเราถึงจะเพียงพอ นอกจากนี้ทุกคนต้องช่วยกันดึงกราฟคนติดเชื้อลง ช่วง 2 สัปดาห์นี้ต้องล็อกดาวน์ตัวเอง ไม่ควรกินข้าวร่วมกัน แม้แต่คนในครอบครัวก็ตาม” อธิบดีกรมการแพทย์กล่าว
    ที่กระทรวงกลาโหม (กห.) พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษก กห. กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้สั่งการในที่ประชุมสภากลาโหมให้โรงพยาบาลทหารขยายความสามารถรับผู้ป่วยให้ได้มากขึ้น เพื่อรับผู้ป่วยในระดับ 1 และระดับ 2 ที่แสดงอาการในระบบทางเดินหายใจ รวมถึงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
    "กห.ยังเตรียมรถพยาบาลทหารไว้ จำนวน 26 คัน โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ประสานการทำงานร่วมกับศูนย์เอราวัณกรุงเทพมหานครในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เพื่อนำส่งโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งจัดเตรียมรถพยาบาลทหารเพิ่มเติมพร้อมปฏิบัติการ จำนวน 21 คัน รวมทั้งหมด 47 คัน" โฆษก กห.กล่าว
    ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามว่า โรงพยาบาลสนามเขามีการเตรียมอยู่ทุกที่ ส่วนกรณีหญิงสูงอายุติดเชื้อ 3 รายในบ้าน แล้วรถพยาบาลไปรับไม่ทันจนเสียชีวิตได้ทราบเรื่องแล้ว และให้กรมการแพทย์ถามไปยัง กทม.ว่าจะต้องปรับปรุงระบบอย่างไร แยกแยะอย่างไรว่าคนไข้มีความฉุกเฉิน ต้องแยกประเภทให้ได้
    "ตอนนี้สำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดชุดตรวจตัวเองอยู่ที่บ้าน ทั้งเครื่องวัดไข้ เครื่องวัดค่าออกซิเจน เครื่องวัดความดัน และให้แต่ละโรงพยาบาลคอยสำรวจว่าคนไข้คนไหนมีเชื้อ แล้วยังรอเตียงอยู่ที่บ้าน ก็ขอให้จัดชุดตรวจนี้เข้าไปก่อน ถ้าตรวจแล้วมีค่าเกินปกติสมควรที่จะถึงมือแพทย์ก็จะมีการลัดคิว" รองนายกฯ กล่าว
    ที่ศูนย์กีฬาบางกอกอารีนา เขตหนองจอก นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวว่า วันแรกในการเปิดโรงพยาบาลเอราวัณ 2 ได้ทยอยเปิดรับผู้ป่วยโควิดเขียวเข้ามาดูแลรักษา โดยโรงพยาบาลเอราวัณ 2 สามารถรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ 400 เตียง แบ่งเป็น ชาย 150 เตียง หญิง 250 เตียง เว้นระยะห่างระหว่างเตียง 1.5 เมตร โดยจัดเตรียมชุดเครื่องนอน น้ำดื่ม ของใช้จำเป็น รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในด้านอื่นๆ เช่น อาหาร 3 มื้อ สัญญาณ Wifi รวมไปถึงการดำเนินการป้องกันการติดเชื้อเต็มรูปแบบตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
    ส่วน พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามชั่วคราวที่โรงยิมสนามกีฬาบุณยะจินดา สโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดี สามารถรองรับประชาชนได้อีก 200 เตียง แต่จากการประสานข้อมูลกับ สธ.ทราบว่าขณะนี้ยังคงมีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดเพียงพอ จึงยังไม่มีการย้ายผู้ต้องกักของ สตม.อีกกว่า 100 คนออก เชื่อว่าทั้งหมดอาจจะรักษาหายแล้ว เนื่องจากกักตัวมานานเกิน ระยะเวลาเฝ้าระวังกว่า 15 วันแล้ว
    จ.พิษณุโลก รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษา รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมโรงพยาบาลสนามในเฟสแรก จำนวน 130 เตียง ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร
    จ.เชียงราย นายภูวิศ วรรณพฤษ์ ปลัดเทศบาลนครเชียงราย ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครเชียงราย ได้สั่งการให้กองการแพทย์เทศบาลนครเชียงราย กองช่าง ประสานเจ้าหน้าที่จิตอาสาพระราชทาน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยใช้สถานที่ศูนย์ประชุมเทศบาลนครเชียงราย ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย สามารถรองรับผู้ป่วยก่อน 250 เตียง
    จ.ยะลา นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าฯ ยะลา ตรวจความคืบหน้าการเปิดโรงพยาบาลสนามของจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นอาคารตั้งอยู่บริเวณภายในของโรงเรียนศึกษาพิเศษ เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะสามารถรับผู้ป่วยได้ 124 เตียง.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"