จับมือเอกชนตั้ง‘ทีมไทยแลนด์’


เพิ่มเพื่อน    

  “บิ๊กตู่” ประกาศตั้งทีมประเทศไทย มอบ "สุพัฒนพงษ์" แม่งานจับมือเอกชน ผุดคณะทำงาน 4 ชุด ลุยกระจายวัคซีนล็อตใหญ่ มิ.ย. นำร่อง 14 จุด กทม. ฉีดให้ได้ 2 หมื่นคนต่อวัน

    ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 เมษายน เวลา 10.00 น. คณะกรรมการหอการค้าไทย นำโดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย, นายกลินท์ สารสิน ประธานอาวุโสหอการค้าไทย, นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการ และ ดร.กฤษณะ วจีไกรลาศ กรรมการเลขาธิการ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อนำเสนอแนวทางการทำงานของหอการค้าไทยในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยจัดทำแผนตั้ง 4 ทีมสนับสนุน ช่วยกระจายฉีดวัคซีนล็อตใหญ่ที่จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่เดือน มิ.ย.นี้ ทั้งนี้ มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน และหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมหารือด้วย
    โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งในที่ประชุมว่า วันนี้วาระสำคัญที่จะพิจารณาคือมาตรการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในฐานะทีมประเทศไทย เพื่อรับฟังข้อเสนอและแผนงานจากภาคเอกชน แม้สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปจากที่ประมาณการไว้ แต่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมบริหารสถานการณ์ไปด้วยกัน เพื่อให้การทำงานสอดคล้องต้องกัน เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน
    ภายหลังการหารือ นายสนั่นแถลงว่า หอการค้าไทยได้รายงานความคืบหน้าการสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน การจัดหาวัคซีน และการวางระบบการกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะใช้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่นำร่อง โดยภาครัฐยินดีให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม และทำงานเป็นทีมประเทศไทยด้วยกัน นายกฯ ได้สั่งการ ตั้งคณะทำงานร่วมกัน 4 คณะ ทั้งภาครัฐและหอการค้าไทย ถึงแผนการกระจายวัคซีนและวัคซีนทางเลือกของหอการค้าไทย รวมถึงการปรับกฎหมายต่างๆ เพื่อจัดหาวัคซีนได้รวดเร็ว ดังนี้
    1.ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน ระยะแรก ได้มีการจัดเตรียมพื้นที่นำร่องเสนอ กทม. 66 แห่ง โดยผ่านการคัดเลือก 14 แห่งกระจายทั่วกรุงเทพฯ แบ่งเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ เหนือ 2 จุด, กรุงเทพฯ ใต้ 4 จุด, กรุงเทพฯ ตะวันออก 3 จุด, กรุงธนเหนือ 2 จุด และกรุงธนใต้ 3 จุด ซึ่งจะมีทั้งสถานที่ที่เป็นศูนย์การค้า สำนักงาน และสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งสถานที่ทั้ง 14 แห่งดังกล่าว จะรองรับประชาชนได้ประมาณ 1,000-2,000 คนต่อวัน รวมแล้วสามารถให้บริการได้วันละ 20,500 คน ส่วนระยะถัดไป จะหารือในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆ ตามชุมชน และบริษัทต่างๆ และจะนำต้นแบบของพื้นที่เอกชนร่วมกับ กทม.กระจายผ่านหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด
    2.ทีมการสื่อสาร ได้สนับสนุนการทำงานด้านการสื่อสารของภาครัฐเพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ตั้งทีมคณะทำงานประกอบด้วยบริษัทชั้นนำ 20 บริษัท เพื่อระดมทรัพยากรและช่องทางการสื่อสาร อาทิ LINE, Google, Facebook, VGI, CP 3.ทีมด้านเทคโนโลยีและระบบ โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุน เพื่อลดขั้นตอนระยะเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพ และ 4.ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม โดยทำแบบสอบถาม ให้บริษัทเอกชนแสดงความประสงค์ในการได้วัคซีน ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ปัจจุบันมีผู้แจ้งความต้องการ 2,629 บริษัท จำนวนพนักงาน 921,817 คน  
    นายสนั่นกล่าวด้วยว่า ยังได้มีการหารือถึงแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะถัดไปอีกด้วย โดยมีข้อสรุปว่าทางเอกชน สถาบันการเงิน และทางคู่ค้าจะจัดระบบในการเชื่อมโยงทำให้การปล่อยเงินกู้ให้เอสเอ็มอีจากธนาคารต่างๆ เกิดผลอย่างเต็มที่ เริ่มจากกลุ่มค้าปลีก และจะขยายผลไปยังกลุ่มอื่นๆ และเรื่องการอำนวยความสะดวกให้ผู้ลงทุนทั้งคนไทยในประเทศ และการดึงต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งนายกฯ เร่งรัดการแก้กฎระเบียบหรือกฎหมายต่างๆ
    จากนั้นเวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีนายอนุทิน, นายสุพัฒนพงษ์, พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย,  นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย, นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย, นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย, นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พร้อมด้วยทีมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วม
    ต่อมาเวลา 15.00 น.? นายดนุชาเปิดเผยผลการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบ 4 ข้อเสนอของภาคเอกชนในความร่วมมือกระจายวัคซีน และได้มอบหมายนายสุพัฒนพงษ์เป็นแม่งานในการประสานกับภาคเอกชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการจัดหาวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดส และฉีดวัคซีนให้คนไทยร้อยละ 70 หรือประชากร 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2564 โดยมอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์เป็นแม่งานประสานกับภาคเอกชน และมอบหมายให้ สศช.และ สมช.ประสานงานในรายละเอียด ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.เป็นต้นไป โดยเห็นชอบแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการกระจายและฉีดวัคซีนของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ สำหรับต่างจังหวัดให้ผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดและระดับจังหวัด และให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและภาคเอกชน รับไปพิจารณาเร่งรัดจัดทำแผนการจัดหาและกระจายวัคซีน
    ด้านการสร้างความเชื่อมั่นและประชาสัมพันธ์ ให้เอกชนประสานเลขาธิการ สมช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ส่วนด้านการสนับสนุนระบบอำนวยความสะดวกระบบงานต่างๆ ให้เลขาธิการ??????????? สมช.ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) ร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาระบบการลงทะเบียนและการติดตามผู้ฉีดวัคซีนของภาคเอกชน ให้เชื่อมโยงกับระบบของธนาคารกรุงไทย และให้ สธ.เป็นหน่วยงานดูแลการลงทะเบียนใน 5 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งภาครัฐและเอกชน เจ้าหน้าที่ด่านหน้า ประชาชนที่มีโรคประจำตัว ประชาชนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และประชาชนในพื้นที่ระบาด ผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม ขณะที่ด้านการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม นายกฯ ให้ สธ. โดย อย.และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) รับไปพิจารณาขั้นตอนต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"