เหล้าส่งผลความรุนแรงต่อผู้หญิงในช่วงโควิด-19.


เพิ่มเพื่อน    

          พิษ! โควิด-19 ส่งผลใกล้ตัว มหิดลจับมือ สสส.สำรวจ 9 จังหวัด 40 อำเภอ ผู้หญิงเสี่ยง เผชิญความรุนแรงในชีวิตเกือบ 100% สอดคล้องกับข้อมูล WHO ต้องอยู่ร่วมกับคนในครอบครัวที่ทำรุนแรง แถมถูกบังคับให้ยอมความคดีละเมิด เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม สสส.-ภาคีเครือข่าย ยื่น 8 ข้อเสนอช่วยเหลือสตรี เด็ก และคนพิการที่ประสบความรุนแรงในชีวิตและครอบครัว ครอบครัวไทยน่าเป็นห่วงร้อยละ 5.8 เหล้าเพิ่มดีกรีความหงุดหงิด โมโห ไม่สามารถควบคุมการใช้อารมณ์กับคนในครอบครัวได้

 

ภรณี ภู่ประเสริฐ

 

          ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเมื่อวันที่ 20 เมษายน ว่า จากการสำรวจความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งหมด 9 จังหวัด 40 อำเภอ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ราชบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี และสงขลา

          โดยทางคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พบความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จากร้อยละ 34.6 ในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 42.2 ในปี 2563 สะท้อนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจสุขภาพผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวช่วงสถานการณ์โควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก ปี 2563 ที่พบสาเหตุทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว 4 ปัจจัย ได้แก่ 1.คนในครอบครัวต้องอาศัยอยู่กับผู้กระทำความรุนแรงมากขึ้น 2.เกิดความเครียดสะสมในครอบครัวจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ 3.การเว้นระยะห่างทางสังคมจากญาติ พี่น้อง เพื่อน คนรู้จัก และ 4.ผู้ถูกกระทำความรุนแรงเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือเมื่อถูกละเมิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกวิเคราะห์ว่าเป็นจุดเริ่มต้นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

 

 

          ภรณีกล่าวต่อว่า สสส.ได้สนับสนุนกลไกป้องกันความรุนแรงร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมและสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ ให้ก้าวข้ามจากปัญหา เห็นศักยภาพตัวเอง และเข้ามามีส่วนช่วยเหลือผู้ประสบความรุนแรงรายอื่นต่อไป ผ่านกระบวนการสร้างเครือข่ายผู้ก้าวข้ามความรุนแรง ที่จะทำหน้าที่ประสาน ส่งต่อ และให้คำแนะนำทางกฎหมายกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงให้ได้รับการช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรม

          จากนั้นจะรวบรวมสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดกับเด็กและผู้หญิงพิการมาวิเคราะห์ จัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้ เพื่อทำให้ทุกคนได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการบริการของรัฐ ที่ผ่านมายังพบว่าความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้หญิงเพียงอย่างเดียว ยังมีเด็กและคนพิการจำนวนหนึ่งต้องเผชิญความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาที่พบคือ ผู้ถูกกระทำความรุนแรงกลุ่มนี้มักจะเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นในครอบครัว

 

ช่วงการระบาดโควิด-19 มีโอกาสเพิ่มความรุนแรงในครอบครัวสูงขึ้น

 

          ในปี 2564 ทางเครือข่ายมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมและสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ ได้ยื่นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการบริการที่เป็นมิตร คำนึงถึงความต้องการผู้ประสบความรุนแรง 8 ข้อ ได้แก่ 1.ควรมีบทลงโทษทางอาญาต่อผู้ชายที่ไม่รับผิดชอบการกระทำ หรือหลอกลวงให้มีเพศสัมพันธ์ 2.ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่การให้ความช่วยเหลือของศูนย์ช่วยเหลือสังคม (1300) อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง 3.ภาครัฐควรมีบริการทางเลือกที่ปลอดภัยให้กับเด็ก และสตรีที่ท้องไม่พร้อม 4.ภาครัฐจัดสรรงบประมาณและบูรณาการร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน โดยจัดสถานที่เลี้ยงเด็กให้กับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 5.รัฐจัดสรรงบประมาณจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเด็ก สตรี และคนพิการที่ประสบความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัวเพื่อการดำเนินคดี

          6.รัฐควรจัดบริการทางการแพทย์ บริการทางสังคม และการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกโดยคำนึงเด็ก และสตรีพิการ 7.ศูนย์ปฏิบัติการความรุนแรง กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (ศปก.สค.) ควรมีบริการที่เป็นมิตร เข้าใจ ไม่ซ้ำเติม สนับสนุนทางเลือกในการแก้ไขปัญหา แนะนำช่องทางการช่วยเหลือ โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ประสบความรุนแรงเป็นสำคัญ และ 8.ควรมีการปรับปรุงระบบการบริการที่รวดเร็วในชั้นพนักงานสอบสวน การจัดหาล่าม ผู้เชี่ยวชาญในการสื่อสารให้กับเด็ก ผู้หญิง และคนพิการที่ประสบความรุนแรง ทั้ง 8 ข้อเสนอมีเป้าหมายขับเคลื่อนเรื่องการป้องกันความรุนแรงสำหรับคนทุกกลุ่ม

 

ผลสำรวจมหาวิทยาลัยมหิดลและ สสส.

 

          จากการสำรวจพบว่า ครอบครัวไทยร้อยละ 23.4 ไม่มีปัญหาด้านการเงินและสามารถดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของครอบครัว ขณะที่ร้อยละ 76.7 ต้องเผชิญปัญหาด้านการเงินและเศรษฐกิจในระดับที่แตกต่างกันไป ต้องใช้หน้ากากอนามัยผ้าร้อยละ 96.4 มีความพยายามหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน หรือจำเป็นต้องออกก็จะสวมหน้ากากทุกครั้ง ไม่ไปอยู่ในที่สาธารณะที่มีผู้คนแออัดและหลีกเลี่ยงงานเลี้ยงสังสรรค์ร้อยละ 88.3 ใช้ร่างกายและเลือกกินร้อนช้อนกลางส่วนตัวและล้างมือบ่อยขึ้นร้อยละ 84.3 ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวร้อยละ 94.6 รองลงมารู้สึกมีความสุขที่ได้อยู่ร่วมกับครอบครัวร้อยละ 84.0 มีการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ร่วมกับครอบครัวร้อยละ 68.9

          ครอบครัวไทย 96.0% ไม่ใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายกัน สมาชิกครอบครัวร้อยละ 56.4 ควบคุมการใช้อารมณ์รุนแรงหรือไม่ใช้อารมณ์รุนแรงกับคนในครอบครัว แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ครอบครัวไทยร้อยละ 5.8 เมื่อมีความหงุดหงิด โมโห ไม่สามารถควบคุมการใช้อารมณ์กับคนในครอบครัวได้เลย ที่ผ่านมาพบว่ามีสมาชิกในครอบครัวร้อยละ 0.9 มีการใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายกันจนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นผลมาจากความตึงเครียดในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบมาจากภาวะวิกฤติโควิด-19

          วิธีการโอบอุ้มครอบครัวเปราะบางที่มีเด็กเล็ก เพื่อลดความเสียหายต่อการพัฒนาศักยภาพประชากรรุ่นใหม่ของสังคมไทย เพราะเด็กปฐมวัยคือโอกาสทองของการพัฒนาทุนมนุษย์ เด็กกลุ่มนี้คือประชากรรุ่นที่จะต้องรับผิดชอบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอีก 10-15 ปีข้างหน้า

 

 

 

สังสรรค์ช่วงแพร่ระบาด

มีผลทำลายภูมิคุ้มกันร่างกาย

 

รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ

 

          รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่า การดื่มสุราอย่างหนัก เพิ่มความเสี่ยงให้บุคคลนั้นสัมผัสเชื้อและแพร่เชื้อโรคติดต่อได้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มความรุนแรงของอาการอีกด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่า แอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อและการดำเนินโรคติดต่ออื่นๆ เช่น วัณโรค ปอดอักเสบ เป็นที่ทราบกันดีว่า สำหรับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน โดยกลไกการติดเชื้อเกิดได้จากผลโดยตรงต่อระบบภูมิคุ้มกันและการทำงานของอวัยวะ เช่น ปอด ตับ ลำไส้ หรือเป็นผลจากฤทธิ์ต่อจิตประสาทของแอลกอฮอล์ที่มีต่อความสามารถในการทำหน้าที่ การรู้คิดและพฤติกรรม ทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจ การมีพฤติกรรมเสี่ยงซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทการดื่มที่มีผลต่อความเสี่ยง

 

ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย

 

          ขณะที่ ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ระบุว่า โดยปกติร่างกายคนเราจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคติดเชื้ออยู่สองชนิด คือ ภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิด (innate) และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลัง (acquired) มนุษย์ส่วนใหญ่เกิดมาพร้อมภูมิคุ้มกันต่อโรคติดเชื้อบางชนิดที่มีมาแต่กำเนิด ร่างกายเราจึงสามารถตรวจจับเชื้อโรคที่พบบ่อยได้ และกระตุ้นกลไกป้องกันด่านหน้าเพื่อจัดการภัยคุกคามที่พบบ่อย แต่ระบบภูมิคุ้มกันแต่กำเนิดนี้ทำงานแบบไม่จำเพาะเจาะจง และไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคชนิดใหม่ๆ ได้เสมอไป ดังนั้นระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลัง (acquired) หรือที่ปรับตัว (adaptive) จึงเข้ามาทำหน้าที่ ภายหลังจากถูกกระตุ้นด้วยสารเคมีที่ส่งสัญญาณว่ามีเชื้อโรคเข้ามาในร่างกาย

          ระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลังจะมีวิวัฒนาการจนมีความจำเพาะสูงมากและสามารถแยกแยะเชื้อโรคที่มีความแตกต่างกันแม้เพียงเล็กน้อยได้ และกำจัดเซลล์ที่ติดเชื้อด้วยวิธีการสร้างแอนติบอดีที่จำเพาะไปจับและทำลายเชื้อโรคนั้นๆ เซลล์เหล่านี้จะสามารถ “จดจำ” เชื้อโรคและไวรัสที่เคยเจอมาก่อน และจะนำมาใช้อีกหากเกิดการติดเชื้ออีกครั้ง

          แอลกอฮอล์อาจทำให้ภูมิคุ้มกันแต่กำเนิดและภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลังตอบสนองต่อโคโรนาไวรัสได้ไม่ดีด้วยเหตุผลหลายอย่างดังนี้:

          • แอลกอฮอล์ไปเพิ่มจำนวนตัวรับ (receptors) ที่เป็นช่องทางหลักของการติดเชื้อไวรัสโคโรนา เช่น SARS ที่ปอด ระบบทางเดินอาหาร และหัวใจ ทำให้เพิ่มโอกาสติดเชื้อไวรัสโคโรนา เช่น โควิด-19 ได้ง่ายขึ้น

          • การดื่มสุราอาจเพิ่มโอกาสการติดเชื้อโควิด-19 และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยอาจทำให้เกิดกระบวนการ “อักเสบรุนแรง (hyper-inflammation)” ซึ่งเป็นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่มากเกินปกติ ตามมาด้วยการทำงานของเซลล์ในการตอบสนองภูมิคุ้มกันลดลง ดังนั้นการดื่มสุราจึงมีผลทั้งลดภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ และยังเพิ่มความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากการกระตุ้นการตอบสนองภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป

          • การดื่มสุรายังอาจทำให้ความสามารถของร่างกายในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อบกพร่องไป

          สรุปว่า การดื่มสุราจึงมีผลทั้งลดภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ และยังเพิ่มความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากการกระตุ้นการตอบสนองภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป

 

 

การดื่มเหล้าทำให้เสี่ยงและง่ายต่อการติดโรค

 

          มีหลักฐานวิชาการจำนวนมากที่พบว่า สุรามีผลอย่างมากต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 เพราะทำให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงตั้งแต่เริ่มต้นก้าวแรก รวมถึงการดื่มและลักษณะบริบทหรือสถานที่ดื่มยังเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงของการดื่มสุราในการแพร่เชื้อโควิดมากกว่า จากผลโดยตรงทางสรีรวิทยาต่อการรับเชื้อและแพร่เชื้อของบุคคลนั้น

         การได้รับสุราแม้เพียงเล็กน้อยทำให้ความยับยั้งชั่งใจลดลง และความรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น การตัดสินใจบกพร่อง ความสามารถและกระบวนการคิดแย่ลง ทั้งด้านความจำ ความสามารถในการจดจ่อสมาธิ และการวางแผน ยิ่งเมื่อเมาสุรา การตัดสินใจก็จะแย่ลง การศึกษาในห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่า การรับรู้ ทักษะด้านการเคลื่อนไหว และความสามารถในการคิดเริ่มลดลงตั้งแต่ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดไม่มาก บ่งบอกว่าสุราทำให้การตัดสินใจแย่ลงก่อนที่จะมีอาการมึนเมา หรือก่อนที่ผู้ดื่มจะรู้สึก “เมา” ซึ่งอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในสถานการณ์โรคระบาดนี้ เช่น การกอดกัน หรือการยืนใกล้กับผู้อื่นมากเกินไป เนื่องจากเชื้อโควิด-19 ติดต่อได้ง่ายมาก จึงสามารถแพร่ระบาดจากคนสู่คนด้วยการสัมผัสโดยตรง หรือผ่านทางอากาศ ซึ่งความเสี่ยงจะสูงขึ้นอย่างมากเมื่ออยู่ใกล้ชิดกัน

          บริบทการดื่ม ร่วมกับผลของการดื่มสุราต่อความคิดและพฤติกรรมในขณะนั้นของผู้ดื่ม ทำให้เกิดการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้มากขึ้น การไปผับ/บาร์เป็นตัวอย่างหนึ่งของพฤติกรรมทางสังคมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 ผับ/บาร์มักมีผู้คนหนาแน่นวนเวียนอยู่ด้านในอาคารปิด และคนจำนวนมากสัมผัสใกล้ชิดซึ่งกันและกันในพื้นที่จำกัด การระบายอากาศอาจไม่เพียงพอ และอัตราการไหลเวียนอากาศจำกัด คนที่ดื่มสุราไม่สามารถใส่หน้ากากปิดจมูกและปากได้ และการยับยั้งชั่งใจที่ลดลงจะยิ่งไม่ระวังตัวในการเว้นระยะห่างทางสังคม เสียงที่ดังและการขาดความยับยั้งชั่งใจจะทำให้ผู้ดื่มต้องเข้าใกล้กันมากขึ้นและตะโกนเสียงดัง หรือบางครั้งอาจมีการร้องเพลง เต้นรำ หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่ต้องออกแรงอื่นๆ (ทำให้เพิ่มอัตราการหายใจและหายใจแรงขึ้น) จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการสัมผัสตัวกับลูกค้าคนอื่นและการสัมผัสพื้นผิวต่างๆ (โต๊ะ กระจก) อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อด้วยเช่นกัน เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่มักจะไม่รู้จักกัน คนที่รู้สึกไม่สบายอาจคำนึงถึงโอกาสแพร่เชื้อโควิด-19 น้อยกว่าการเข้าร่วมงานในเครือข่ายสังคมหรือครอบครัวของตนเอง

          ทฤษฎีเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากรายงานและการศึกษาจำนวนมากที่กล่าวว่า บริบทสังคมที่มีสุราเป็นหลักนั้นมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง (super-spreader) ทำให้ขยายวงการระบาดในระยะแรกของการระบาดใหญ่ หรือกลับมาระบาดซ้ำหลังควบคุมโรคได้แล้ว ตัวอย่างในประเทศไทยที่เห็นได้ชัด การแพร่ระบาดครั้งใหม่เมื่อต้นปีนี้ที่เริ่มจากงานเลี้ยงส่วนตัวขนาดใหญ่ที่โรงแรมหรูในกรุงเทพฯ โดยมีผู้ติดเชื้อรายแรกของกลุ่มนี้ที่รับเชื้อมาจากสถานบันเทิงแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่มาร่วมงาน จนทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อให้คนจำนวนมาก นอกจากนั้นการกลับมาระบาดซ้ำของโควิด-19 ในหลายประเทศก็เชื่อมโยงกับการอนุญาตให้เปิดบาร์ สถานบันเทิง เทศกาลดนตรี การแข่งรถ งานปาร์ตี้ในมหาวิทยาลัยหลังเปิดเรียน เป็นต้น ในทางกลับกันการปิดหรือจำกัดการเปิดบาร์และสถานบันเทิงก็ทำให้การแพร่เชื้อลดลงอย่างชัดเจน และการระบาดในชุมชนที่ช้าลง ที่เราเองก็เห็นในประเทศไทยเมื่อมีการระบาดระลอกแรกในปีที่แล้ว

 

 

รัฐบาลประกาศห้ามขายเหล้าช่วยลดการระบาดลงได้

 

          พฤติกรรมการดื่มสุรานอกจากจะมีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว บริบทหรือสถานที่และบรรยากาศในการดื่มสุราก็เป็นตัวช่วยเพิ่มความเสี่ยงของการดื่มสุราต่อการติดเชื้อโควิด-19 การปิดสถานบันเทิง งดงานเลี้ยงสังสรรค์ ห้ามดื่มสุราในร้านอาหาร จึงเป็นมาตรการที่สำคัญในการลดโอกาสความเสี่ยงของการแพร่และติดเชื้อ

          การดื่มสุราทำให้เกิดการบาดเจ็บ เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนน การพลัดตกหกล้ม การจมน้ำ เป็นต้น และผลกระทบทางสังคมมากมาย อาทิ การทะเลาะเบาะแว้ง การทำร้ายร่างกายระหว่างคนแปลกหน้า หรือต่อคนในครอบครัว การจำกัดการใช้บริการร้านอาหารและบาร์ การเว้นระยะห่างทางสังคมที่กำหนดให้แต่ละคนอยู่ห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1.5-2 เมตร ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการในการลดการเข้าถึงสุราแบบนั่งดื่มในร้านลง และโอกาสดื่มในที่สาธารณะลดลง (เช่น บาร์ที่มีคนหนาแน่น) ซึ่งเป็นสถานที่ที่มักเกิดความรุนแรงกับคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่ใช่ญาติอยู่บ่อยครั้ง การจำกัดการดื่มสุราในสถานที่สาธารณะหรือสถานที่นอกบ้าน นอกจากจะทำให้การเข้าถึงสุราทางกายภาพคือสถานที่ดื่มสุราลดลงแล้ว ยังลดโอกาสของการเกิดผลกระทบเหล่านี้ด้วย ซึ่งผลที่ตามมาคือ การลดภาระของระบบบริการสุขภาพ ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่มาห้องฉุกเฉินหรือมารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลง สามารถกระจายทรัพยากรในระบบบริการ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือเครื่องมือเครื่องใช้ เวชภัณฑ์ และเตียงในโรงพยาบาล เพื่อไปดูแลผู้ป่วยโควิดหรือผู้ป่วยอื่นที่จำเป็นได้

          นอกจากการดื่มสุราจะมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อและเพิ่มความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนแล้ว ยังเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยและบาดเจ็บมากกว่า 400 โรค ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระอย่างมากต่อระบบบริการสุขภาพ

          และมี 4 เหตุผลที่การดื่มสุรามีผลต่อความรุนแรงในครอบครัว คือ 1.งานวิจัยตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาด แสดงถึงบทบาทของการดื่มสุรากับความรุนแรงในครอบครัว การทำร้ายร่างกาย และการทารุณกรรมเด็ก 2.ภายใต้บริบทของโควิด-19 รายงานการทบทวนพบว่า การดื่มสุราเพิ่มขึ้นเป็นตัวเร่งและเสริมความรุนแรงในชีวิตคู่ 3.ความเครียดทางจิตใจที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงชีวิตการทำงาน ความรับผิดชอบในการดูแลลูก รวมถึงปัญหาการเงินในระหว่างการระบาด อาจส่งผลให้มีการดื่มสุรามากขึ้นและเพิ่มโอกาสเกิดอันตรายต่อสมาชิกในครอบครัวมากขึ้น 4.จากนโยบายการปิดเมืองในหลายประเทศ สัดส่วนการดื่มสุราที่บ้านสูงกว่าในภาวะปกติ นำไปสู่การลดความสามารถในการดูแลเด็ก พร้อมกับการมีผู้ใหญ่ดื่มสุรามากขึ้นในบ้านและดื่มได้นานขึ้น

          จากการระบาดระลอกแรกในปีที่แล้ว ทางศูนย์วิจัยปัญหาสุราได้ให้ทุนสนับสนุนนักวิจัยจาก ม.เชียงใหม่ ม.สงขลานครินทร์ และ ม.ราชภัฏพระนคร ให้ไปศึกษาผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ต่อสถานการณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย นักวิจัยได้ไปสัมภาษณ์ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพนักงานที่ทำงานในสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบมีที่นั่งดื่ม ได้แก่ ผู้ประกอบการสถานบันเทิง ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านขายส่งและร้านขายของชำ รวม 640 ราย พบว่า ถึงแม้ว่ามาตรการของรัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดในแต่ละช่วง ตั้งแต่การห้ามขายเหล้าทั่วประเทศ การปิดสถานบันเทิง ไปจนถึงการห้ามขายหรือดื่มในสถานบริการที่มีที่นั่งดื่ม มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการและพนักงานในร้านสูงมาก ส่งผลให้ขาดรายได้ เลิกจ้างพนักงาน ทำให้พนักงานส่วนใหญ่ต้องหยุดงาน

          อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบว่าผู้ประกอบการก็สามารถปรับตัวและรูปแบบการให้บริการได้ เช่น การเปลี่ยนไปขายสินค้าชนิดอื่น การปรับเวลาให้บริการ การลดค่าใช้จ่ายลง มีบางรายต้องปิดกิจการลง แต่ก็มีอาชีพอื่นสำรองอยู่ ในด้านนักดื่มสุรา ทางศูนย์วิจัยปัญหาสุราก็ได้ทำการสำรวจทางโทรศัพท์ในประชาชนทั่วไป 4 ครั้งในเดือนเมษายนถึงกรกฎาคมปีที่แล้ว ก็พบว่านักดื่มประมาณร้อยละ 50 หยุดดื่มสุรา และอีกประมาณ 30-40% ดื่มลดลงจากเดิมในช่วงที่มีมาตรการห้ามขายสุราและล็อกดาวน์ในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม แต่หลังจากที่มีการผ่อนปรนมาตรการในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม จำนวนผู้ที่หยุดดื่มก็ลดลง เหลือเพียงประมาณร้อยละ 35-37 ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดก็มีผลต่อการควบคุมการดื่มสุราด้วยเช่นกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"