การศึกษาประสิทธิภาพ “ซิโนแวค” ที่จังหวัดภูเก็ต สามารถป้องกันโควิดสายพันธุ์อังกฤษได้ค่อนข้างดี


เพิ่มเพื่อน    


27 พ.ค.64 -เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2564 ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “สนามรบภูเก็ต Sinovac ป้องกัน Covid กี่เปอร์เซ็นต์” เพื่อนำเสนอการวิเคราะห์ข้อมูลประสิทธิผลของการใช้วัคซีนซิโนแวคในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งส่วนใหญ่พบการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ 

นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข  ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ข้อมูลว่า ในประเทศไทยปัจจุบันมีวัคซีนโควิด-19 ที่ได้ใช้จริง 2 ยี่ห้อ คือ ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า โดยวัคซีนซิโนแวค ที่ได้มีการเริ่มฉีดไปตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และได้กระจายไปสู่พื้นที่ต่างๆ 3.8 ล้านโดส จากทั้งหมดในประเทศ 6 ล้านโดส เนื่องจากต้องรอผลวิเคราะห์และจะทำการกระจายต่อไป ทั้งนี้การได้รับวัคซีนไปแล้วต้องมีการติดตามประเมินผลทางวิชาการ คือ ประสิทธิผล ระบบสาธารณสุขโดยเฉพาะในบุคลากรทางการแพย์ และเศรษฐกิจ อาทิ การศึกษาจากการเจาะเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว อย่างผลการศึกษาของจุฬาฯ พบว่าหลังฉีกซิโนแวคครบ 2 โดส มีภูมิต้านทานขึ้นมามากกว่าคนที่ติดเชื้อโควิด-19 หรือ ในอ.แม่สอด จ.ตาก ที่พบผู้ป่วยโควิด-19 น้อยลง

นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์  ศาสตราจารย์ สาขาวิชาระบาดวิทยา ม.สงขลานครินทร์ กล่าวถึงวิธีการวิเคราะห์ประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันโรคว่า ประสิทธิผลในการป้องกันโรค (Protective Efficacy:PE) คือ คือความสามารถของวัคซีนที่เมื่อได้ใช้อย่างถูกวิธีแล้วจะลดโอกาสของผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยได้มากน้อยเพียงไร โดยมีวิธีการวัดประสิทธิผลที่ดีที่สุด  คือ ต้องทดลองวัคซีนในอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อหรือป่วยในช่วงที่เกิดโรคระบาด แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มได้รับวัคซีนจริง และกลุ่มได้รับวัคซีนหลอก จากนั้นก็ติดตามการดำเนินชีวิตหลังได้รับวีคซีนจนถึงระยะเวลาที่กำหนดแล้วจึงนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่ากลุ่มไหนได้รับการติดเชื้อมากหรือน้อย โดยใช้การคำนวณหา PE ให้ Ic = อัตราติดเชื้อหรือป่วยในกลุ่มควบคุม Iv = อัตราติดเชื้อหรือป่วยในกลุ่มที่ได้วัคซีน, Protective efficacy = (Ic – Iv) / Ic x 100% และ = (1- Iv/Ic) x 100% ส่วน ค่า Iv/Ic เรียกว่า relative risk หรือ ความเสี่ยงสัมพัทธ์

นพ.วีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในส่วนข้อมูลของวัคซีนซิโนแวค ยังมีข้อมูลส่วนไม่สมบูรณ์ เพราะข้อมูลในเฟส 3 มาช้าเนื่องจากวัคซีนเข้าสู่การทดลองในเฟสดังกล่าวได้ไม่นาน และมีในเฉพาะบางประเทศ ซึ่งผลการศึกษาก็ไม่เหมือนกัน อีกทั้งประเทศไทย ไม่ได้เข้าร่วมการทดลองในเฟส 3  เพราะช่วงที่วัคซีนผลิตออกมาใหม่ๆ เป็นช่วงที่ไทยยังควบคุมสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ได้ดี การติดเชื้อน้อย  แต่หลังจากมีการระบาดระลอก2 ในจังหวัดสมุทรสาคร จึงได้มีการสั่งวัคซีนซิโนแวคเข้ามาใช้ เพราะไม่มีวัคซีนอื่นๆมากเพียงพอในช่วงเริ่มต้นการระบาด จึงทำให้มีไทยมีข้อมูลเฉพาะในระยะของเฟส2 หรือระยะpost-marketing คือมาวิเคราะห์หา PE

 

ดังนั้นเมื่อนำวัคซีนซิโนแวคเข้ามาในไทยแล้ว จึงต้องปรับวิธีการศึกษาประสิทธิผลในการป้องกันโรค เพราะไม่สามารถทดลองในอาสาสมัครได้ ด้วยเวลาที่จำกัด จึงต้องเก็บข้อมูลจากการเฝ้าระวังเปรียบเทียบประวัติการรับวัคซีนของผู้ป่วยโควิดกับคนที่น่าจะมีโอกาสได้รับเชื้อพอๆ กัน แต่ไม่ป่วย รวมไปถึงกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยใกล้ชิด เป็นกลุ่มที่เหมาะสมในการศึกษา เช่น เป็นคนในครอบครัว จากนั้นจะติดตามคนเหล่านี้ไปให้นานพอเพื่อดูว่าพวกเขาติดเชื้อหรือไม่ กลุ่มติดเชื้อกับกลุ่มไม่ติดเชื้อมีประวัติรับวัคซีนต่างกันไหม ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญในการนำวิเคราะห์ดังกล่าว 

 

ผศ.ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ นักวิเคราะห์ข้อมูล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ให้ข้อมูลการวิเคราะห์ประสิทธิผลการใช้วัคซีนซิโนแวคในจังหวัดภูเก็ตว่า จังหวัดภูเก็ตมีเป้าหมายการฉีดวัคซีนในประชากร(รวมประชากรแฝง)กว่า 466,000 คน และฉีดครั้งใหญ่วันที่ 1-10 เม.ย. 2564 ในประชากรกว่า 97,000 คน อายุ 18-59 ปี หลังจากฉีดแล้วช่วงกลางเดือนเมษายน อัตราการแพร่ระบาดสูงถึง 2.2-2.3 และประชากรกว่า 90,000 คน หรือประมาณ 22%  รับเข็มที่ 2 ในวันที่ 21-30 เม.ย. 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาด จะต้องรอผลศึกษาการฉีดในอีก 2 เดือน 

 

นักวิเคราะห์ข้อมูล กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้จึงได้นำข้อมูลการฉีดตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-10 พ.ค. 64 มาวิเคราะห์ประสิทธิผล โดยเป็นการศึกษาเบื้องต้นจากกลุ่มสัญชาติไทย ซึ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง(HRC)จำนวน  1,366 ราย จากกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมด 2,673 ราย(ที่มีทั้งต่างชาติและผู้ไม่มีข้อมูล) ซึ่งหลังจากการครบกำหนดการกักตัว ได้คัดกลุ่มสัญชาติไทยที่อายุ 18-59 ปี จำนวน 1,097 ราย พบว่า 85 ราย ติดเชื้อโควิด-19 ใน จำนวนนี้มีประชากรที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 5 ราย ได้รับวัคซีน 1 เข็ม 6 ราย และไม่มีประวัติการรับวัคซีน  74 ราย และไม่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1,012 ราย  ในจำนวนนี้มีประชากร ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 276 ราย ได้รับวัคซีน 1 เข็ม 84 ราย และไม่มีประวัติการรับวัคซีน  652 ราย  

“ตัวเลขเหล่านี้สามารถบ่งชี้ได้ว่า ประสิทธิผลของผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 1 เข็ม สามารถลดโอกาสการติดเชื้อ 73.1% และผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มสามารถลดโอกาสการติดเชื้อสูงถึง 84% ทั้งนี้ยังต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมอีกครั้งในเดือนมิ.ย. 64 และกลุ่มตัวอย่างที่ฉีดครบ 2 เข็มและเกิน 14 วัน หรือตัวแปรอื่นๆที่มีผลกับการได้รับวัคซีน” นักวิเคราะห์ข้อมูล กล่าว 

พญ.ศุภลักษณ์ ละอองเพชร รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รพ.วชิระภูเก็ต เสริมว่า สำหรับการฉีดวัคซีนในจังหวัดภูเก็ต โดยเริ่มฉีดวัคซีนบุคลากรทางการแพทย์ 2,000 คน ในประชากรอีกกว่า 97,000 คน และ 2 แสนเข็ม ที่เริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.64 ข้อมูล ณ วันนี้การฉีดให้ได้ตามเป้าหมายสามารถทำได้แล้วสำหรับการรับวัคซีน 1 เข็มร้อยละ 44 และ 2 เข็มร้อยละ 22 ทั้งนี้ผลหลังจากการฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้วพบ 2 รายใน 1 แสนรายมีการอาการข้างเคียง แต่ไม่รุนแรง สามารถหายได้เอง 

“ผลของการศึกษาในจังหวัดภูเก็ตก็สามารถสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าการฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม สามารถป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษได้ค่อนข้างดี รวมไปถึงการปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขควบคู่ไปด้วย” นพ.วีระศักดิ์  ทิ้งท้าย
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"