เปิดตัว LINE OA "@thaibf" คลายปมให้แม่ท้องสู้โควิด-19


เพิ่มเพื่อน    

มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ ร่วมกับ สสส. เปิดตัว LINE OA "@thaibf" เข้าถึงข้อมูลอย่างถูกต้อง ระดมหมอพยาบาลอาสากว่า 30 คน คลายข้อทุกข์ใจให้แม่และเด็กไทยปลอดภัยจากโควิด-19 พร้อมย้ำหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปเป็นกลุ่มเสี่ยง ควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 รับมือสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

ครอบครัวคือรากฐานสำคัญของชีวิต เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขในทุกช่วงวัยของคนเรา ส่วนใหญ่แล้วครอบครัวไทยมีคนหลายวัยอาศัยอยู่ร่วมกัน ความสุขจึงเริ่มต้นจากการเอาใส่ใจ มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน แล้วจับมือเดินไปด้วยกัน ไม่ว่าจะพบกับปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ คนในครอบครัวจะดูแลซึ่งกันและกัน และไม่ยอมปล่อยมือจากกันตลอดไป ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเข้าใจแม่ท้อง ความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในสังคมโลกอยู่ในขณะนี้  

 

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันที่มีแนวโน้มดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยและจิตใจของบรรดาแม่ๆ และเด็กไทยทั้งในกลุ่มผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ หลังคลอดและให้นมบุตร รวมไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะต้องปกป้องเลี้ยงดูบุตรหลานในช่วงวิกฤตินี้ ด้วยเหตุนี้มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งยังช่วยคลายทุกข์ทางใจให้กับผู้หญิงที่มีลูกเล็กในครอบครัว ที่จะต้องให้การเลี้ยงดูเด็กในวัยต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งมีข้อมูลข่าวสารจาก Social Media มากมาย ซึ่งยากต่อการตัดสินว่าข่าวใดจริงข่าวใดลวง มูลนิธิจึงทำหน้าที่คัดกรองข่าวสารที่ถูกต้องนำเสนอผ่านทาง www.thaibf.com รวมทั้งการรับฟังและร่วมพูดคุยผ่านทาง Clubhouse นมแม่ได้ทุกวันพฤหัสบดีเวลา 19.30-21.00 น.

 

 

พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและสุขอนามัยของแม่และเด็กไทย ทั้งในกลุ่มหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หลังคลอด ให้นมบุตร รวมไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องปกป้องเลี้ยงดูบุตรหลานในช่วงวิกฤติดังกล่าว มูลนิธิศูนย์นมแม่จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวบรวมกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล นักวิชาการและแม่อาสา มาร่วมกันตอบคำถามผ่าน LINE Official Account หรือ Line OA ภายใต้ชื่อ "@thaibf" เพื่อช่วยตอบข้อกังวลใจและข้อสงสัย พร้อมแนะนำแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานคำแนะนำทั้งในระดับสากลและในระดับประเทศ ให้ครอบครัวไทยมีช่องทางสอบถามได้ทันใจ ร่วมกันรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้

 

“เรามีข้อมูลท่วมท้นในโซเชียลมีเดีย ที่อาจสร้างความสับสน อันไหนใช่ อันไหนไม่ใช่ มูลนิธิศูนย์นมแม่จึงได้หาช่องทางในการส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ใช้แอปพลิเคชัน Clubhouse เป็นเครื่องมือในการนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 มาเป็นหัวข้อการพูดคุยให้ความรู้ แต่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและเงื่อนไขการเข้าใช้บริการ เมื่อได้รับคำปรึกษาจาก นพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ อายุรแพทย์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพภาคตะวันออก ผู้จัดทำโครงการ Line OA @cocare ที่มีบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาร่วมกันตอบปัญหาเรื่องโควิด-19 ให้กับประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็ว จึงนำแนวทางมาปรับใช้” พญ.ศิริพรกล่าว

 

 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ช่วงวันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 30 พฤษภาคม 2564 พบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 310 ราย เสียชีวิต จำนวน 6 ราย ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่หากติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิงทั่วไป

 

ดังนั้นจึงมีคำแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ (3 เดือน) ขึ้นไป ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งไม่พบรายงานผลข้างเคียงรุนแรงในผู้หญิงตั้งครรภ์ แต่ก่อนฉีดวัคซีนขอให้ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง นอนพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และควรปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์ก่อนการฉีดวัคซีน หรือสอบถามมายัง Line OA “@thaibf”

 

 

.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และกรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณแพทย์ พยาบาล นักวิชาการและคุณแม่อาสารวมกว่า 30 คน ที่เข้ามาช่วยตอบคำถามด้วยจิตอาสา ทุกคนเป็นผู้มีความชำนาญในการดูแลทารกทั้งที่อยู่ในท้องและเมื่อคลอด อาทิ สูตินรีแพทย์ในสาขาต่างๆ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด กุมารแพทย์ด้านโภชนาการ แพทย์ พยาบาล ในสาขาทั่วไป นักวิชาการสาธารณสุข และคุณแม่อาสาที่มีประสบการณ์และช่วยมูลนิธิตอบปัญหาของมูลนิธิมานานกว่า 10 ปี ขอบคุณทีมงาน Co Care ที่เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการจัดระบบ ทำให้ Line 0A “@thaibf” สามารถเปิดตัวได้อย่างรวดเร็ว

 

.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับ Line OA "@thaibf" จะเปิดให้คำปรึกษาเน้นประเด็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หลังคลอด แม่ให้นม และการดูแลทารกและเด็กเล็กกับปัญหาการติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารตามวัย และการเลี้ยงคู่เรียนรู้ ทุกวันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ ไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 08.00-22.00 น. โดยทีมจิตอาสาทั้งแพทย์และพยาบาล นักวิชาการและแม่อาสา สลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาช่วยตอบคำถาม ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 31 กันยายน 2564 สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้ ที่ https:/in.ce/TNx4GGa หรือเพิ่มเพื่อน ID @thaibf

 

นอกจากนี้ยังสามารถค้นหาข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารตามวัย และการเลี้ยงคู่เรียนรู้ ทารกและเด็กเล็ก ได้จาก www.thaibf.com และ Facebook Page "มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย" และ Page "นมแม่" รวมถึงติดตามรับฟังและร่วมพูดคุยผ่านทาง "Clubhouse" นมแม่ ได้ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 19.30-21.00 น.

 

ทางเลือกของหญิงตั้งครรภ์กับวัคซีนโควิด

ก่อนหน้านี้มีข้อสงสัยว่า หญิงตั้งครรภ์ควรฉีดวัคซีนหรือไม่ ในการเสวนาผ่าน clubhouse EP13 ในหัวข้อ แม่ท้องฉีดวัคซีน Covid-19 ได้แล้ว อะไร เมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร? โดย ผศ.พ.อ.ปริศนา พานิชกุล รอง ผอ.สูตินรีเวช รพ.พระมงกุฎฯ และ นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผอ.สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลความเข้าใจที่ถูกต้อง “แม่ท้องก็สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้” ดังนี้

 

ระยะแรกนี้มีวัคซีนตัวเลือกแค่ 2 ชนิดที่มีใช้ในประเทศไทยสำหรับคนท้อง แนะนำใช้ Sinovac เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อที่ตายแล้ว ในขณะที่ AstraZeneca  เป็นอีกตัวเลือกที่อาจพิจารณา โดยเป็นวัคซีนที่ผลิตโดยการฝากสารพันธุกรรมของเชื้อเข้าไปในไวรัส เพื่อนำเข้าสู่ร่างกาย และถ้าแม่ที่ท้องอยากได้ตัวนี้อาจพิจารณาในกรณีอายุ 30 ปีขึ้นไป

 

ถ้ามีตัวเลือกมากขึ้นในอนาคตที่อาจมี mRNA  วัคซีนจาก Pfizer หรือ Moderna เข้ามา วัคซีนสองตัวนี้อาจเป็นตัวเลือกที่มีข้อมูลการใช้ในคนที่ท้องดีกว่า  เพราะมีการศึกษาบางส่วนรองรับ แม้จะยังไม่มากแต่ก็มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ฉีดในคนท้องกว่า 4,000 ราย  และคลอดแล้วประมาณ 800 ราย รวมทั้งการศึกษาในสัตว์ทดลอง ไม่พบทารกมีปัญหา ขณะที่ Sinovac ไม่มีการศึกษาที่รองรับในคนท้อง ณ เวลานี้ที่ชัดเจน แต่ด้วยการผลิตจากเชื้อที่ตายแล้ว จึงเชื่อว่าน่าจะมีความปลอดภัยและสามารถใช้ได้

 

วัคซีนของ AstraZeneca มีรายงานที่ใช้ในคนทั่วไป พบโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันประมาณ  4 รายจาก 1 ล้านรายที่ได้รับวัคซีน อย่างไรก็ตามถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ต่ำมาก และยังไม่มีรายงานการเกิดในคนท้อง แม่ที่ท้องหากเกิดการติดเชื้อโควิดมีโอกาสเสี่ยงที่จะมีอาการหนัก เช่นต้องอยู่ห้องไอซียู ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมากกว่าคนปกติถึง 2-3 เท่า และมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการคลอดก่อนกำหนด ดังนั้นการที่แม่ท้องได้รับวัคซีนจึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อีกทั้งลดความรุนแรงหากเกิดการติดเชื้อขึ้น

 

ในเดือน พ.ค.มีวัคซีน Sinovac เข้ามา 3.5 ล้านโดสที่เลือกได้เลยหรือจะรอ Pfizer ให้แม่ชั่งใจกับหมอ ความเสี่ยงจากการฉีดวัคซีนกับความเสี่ยงจากการเกิดการติดเชื้อโรคเป็นโควิด โดยแนะนำฉีดที่หลังอายุครรภ์ 12  สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงแรกที่อาจจะมีผลต่อความพิการแต่กำเนิดของทารก

 

แม่ฝากครรภ์ที่ไหนให้แจ้งแพทย์ที่ไปฝากครรภ์ได้เลย หรือลงทะเบียนขอฉีดตามขั้นตอน หากอยู่ต่างจังหวัดแจ้งผ่าน อสม.ซึ่งมีระบบแจ้งส่งต่อโรงพยาบาล 1.แม่ท้องที่มีโรคประจำตัวกลุ่มเสี่ยงจากโรค NCDs หรือมีน้ำหนักตัวมาก ถือได้ว่าแม่เสี่ยงติดเชื้อสูงที่ควรได้รับวัคซีน 2.แม่ท้องที่โอกาสรับเชื้อสูง เป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือมีคนที่อยู่ร่วมบ้านที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ แม่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคสูงหรืออาศัยอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด ไม่สามารถเว้นระยะห่างจากผู้อื่นได้ หรือต้องพบปะติดต่อสัมผัสกับคนอื่นบ่อยๆ

 

ขณะที่แม่ท้องทั่วไป กรมอนามัยอยู่ระหว่างการประสานงานกับคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เพื่อให้สามารถเข้าถึงและสามารถรับวัคซีนนี้ได้ ซึ่งปัจจุบันองค์กรแพทย์ต่างๆ ได้ยืนยันว่าแม่ที่ท้องมีความเสี่ยงเทียบเท่ากับผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีน หรือรอประกาศอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเร็วๆ นี้อีกครั้ง

 

“ฉีดไม่ฉีด แพ้ไม่แพ้?”

ไวรัสโควิด-19 it’s here to stay เราต้องอยู่ด้วยกัน สร้างภูมิคุ้มกันป้องกัน คนท้องฉีดวัคซีนได้ ยิ่งคนท้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยงมากใน กทม.และ 9 จังหวัดมีโอกาสติดเชื้อสูง ควรได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว ตอนนี้ฉีดได้ก็ให้รีบฉีดกันก่อน ไม่ต้องรอวัคซีนที่อยากได้ ไม่ต้องกลัวการแพ้  ช่วยกันสร้างมากๆ ช่วยเป็น border ให้กับเด็กๆ ในบ้านของเรา วันนี้ยังไม่มีวัคซีนฉีดให้เด็ก

 

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยแนะนำให้แม่ท้องเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง หากมีการติดเชื้อโควิด-19 เช่นเดียวกับนานาชาติ เนื่องจากแม่ท้องมีสภาพโดยพื้นบาน มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำกว่าตอนไม่ท้อง เวลาคนท้องมีการติดเชื้อโควิด-19 จะมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงกว่า ต้องเข้าห้อง ICU มากกว่า และคนท้องมีลูกอยู่ในท้องด้วย อาจส่งผลกระทบต่อลูกที่มีอยู่แล้วที่บ้านด้วย

 

ศาสตราจารย์แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ กล่าวในการเป็นวิทยากรเสวนาผ่านทาง clubhouse มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ เรื่อง “แม่ท้องแม่ให้นมกับคำถามวัคซีนโควิด ฉีดไม่ฉีด แพ้ไม่แพ้?” ว่า การที่พบแม่ท้องติดเชื้อโควิด-19 แสดงว่าไปในที่ชุมชน เพราะปกติแล้วแม่ท้องจะเก็บตัวอยู่บ้านมากกว่าคนทั่วไป การได้รับเชื้อ ส่วนใหญ่หญิงท้องจะได้รับจากสามี หรือคนในบ้านที่นำเข้ามาให้ จะเห็นได้ว่า “แม่ท้อง ติดเชื้อได้ง่าย มีอาการมากกว่า เสี่ยงรุนแรงมากกว่า”

 

ภาพที่เห็นความทุลักทุเลเมื่อแม่ท้องติดโควิดแล้วมาคลอดลูก นับตั้งแต่การแต่งตัวและการใส่อุปกรณ์ป้องกันการกระจายเชื้อทั้งแม่ท้องและบุคลากร การคลอดที่ต้องระมัดระวังการกระจายเชื้อเป็นอย่างสูง แม่มีโอกาสได้รับการผ่าตัดคลอดสูง ด้วยความจำเป็นของสถานบริการแต่ละแห่งทั้งที่การติดเชื้อโควิดไม่ใช่ข้อบ่งชี้การผ่าคลอดทางหน้าท้อง การต้องแยกแม่แยกลูกสูงขึ้นทั้งๆ ที่แม่มีอาการไม่มาก หรือไม่มีอาการ ต้องใช้มาตรการป้องกัน การใส่หน้ากาก ล้างมือ การเว้นระยะห่าง ไม่อุ้มหรือหอมกอด

 

แต่ในความเป็นจริง เมื่อกรมอนามัยลงพื้นที่เพื่อดูแนวทาง มีการแยกแม่ แยกเลี้ยงลูกต่างหาก ลูกและแม่กลับบ้านกันคนละที ทำให้โอกาสให้นมแม่ลดลง บางครอบครัวติดเชื้อกันทั้งครอบครัว ไม่มีคนจะเลี้ยงลูก ลูกน้อยต้องอยู่กับพยาบาลในวัยที่ต้องการแม่มาก จึงมีข้อเสนอคุณแม่ต้องมีทีมช่วยเตรียมเลี้ยงลูก นอกเหนือไปจากคนในบ้าน เป็นคนที่ไว้ใจได้ และเข้าไปพบแพทย์ด้วยกันตั้งแต่ก่อนคลอด

 

วัคซีนสำหรับคนท้อง วัคซีนกลุ่ม mRNA คือ ไฟเซอร์ และ Moderna สำหรับประเทศไทย ทั้ง Sinovac และ AstraZeneca  ยังไม่มีการศึกษาการฉีดในคนท้องรองรับ แต่จากการศึกษาเบื้องต้นทั้งหมดไม่มีสัญญาณที่จะบ่งชี้ว่าวัคซีนเหล่านี้จะทำให้เกิดผลเสียในคนท้อง

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ชั่งน้ำหนักจากความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิดตามธรรมชาติที่อาจรุนแรง กับความเสี่ยงจากการไม่มีข้อมูลของการฉีดวัคซีน ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนอะไรในโลกที่มีการออกแบบศึกษาในแม่ท้องที่มีขั้นตอนเต็มรูปแบบงานวิจัยคุณภาพ For AstraZeneca  และ Sinovac ให้ข้อมูลว่า Sinovac เป็นวัคซีนที่ไม่ใช้เชื้อมีชีวิต แบ่งตัวไม่ได้แล้ว วัคซีนที่ไม่ใช้เชื้อมีชีวิตเรามีการใช้ในคนท้องมานาน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ บาดทะยัก AstraZeneca  เป็น Viral Vector ใช้เชื้อไวรัส adeno มาดัดแปลงพันธุกรรมและทำให้อ่อนฤทธิ์มาก สอดไส้สารพันธุกรรมที่สร้าง Spike Protein ของไวรัสโคโรนาเข้าไปแทน เพื่อให้มนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันต่อโควิด เชื้อไม่สามารถแบ่งตัวได้ เพราะมีการ delete gene ที่เดียวกับการแบ่งตัวออกไป แต่ก็ยังเป็นวัคซีนกลุ่มเชื้อมีชีวิต ซึ่งตามปกติคนท้องจะไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนเชื้อมีชีวิต แต่ตัวนี้เป็นข้อยกเว้น เพราะเป็นเชื้อมีชีวิตที่ไม่แบ่งตัว จึงมีความปลอดภัย

 

WHO แนะนำให้ฉีดได้ แม้ไม่มีการศึกษารองรับ mRNA แต่ในยามที่มีการระบาดมาก แม่ท้องมีความเสี่ยงสูง จึงควรแนะนำให้ฉีดวัคซีนดีกว่าไปเสี่ยงติดเชื้อตามธรรมชาติ แต่การตัดสินใจก็ย่อมขึ้นอยู่กับคุณแม่ท้องจะเป็นผู้ตัดสินใจจากข้อมูลที่ได้รับ เมื่อมีการระบาดมาก วัคซีนอะไรก็จำเป็นต้องใช้ ถ้าเลือกได้ให้เลือกวัคซีนที่มีเชื้อไม่มีชีวิต และมีอาการข้างเคียงน้อยกว่า เช่น Sinovac แต่ถ้าเลือกไม่ได้ ใช้ AstraZeneca ได้ เพราะดีกว่าไปเสี่ยงเป็นโรคตามธรรมชาติ สำหรับแม่ให้นมให้วัคซีนได้เลย และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะผ่านจากแม่สู่ลูกทางน้ำนมได้เช่นเดียวกับภูมิคุ้มกันอื่นๆ ที่แม่ส่งให้ลูก

 

การแพ้วัคซีนและอาการข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน การแพ้มี 2 แบบ แพ้ทันที รุนแรง ที่เรียกว่า anaphylaxis เกิดใน 30 นาทีแรก แพทย์หรือผู้ฉีดวัคซีนสามารถให้การรักษาได้ทันที คือ ให้ Adrenalin ฉีดแก้ แม้จะฉีดวัคซีนในศูนย์การค้าก็ไม่ต้องกังวล มีบุคลากรทางการแพทย์พร้อมช่วยแก้ไขในสถานการณ์ได้ โอกาสที่จะเกิดขึ้นน้อยกว่า 1 ต่อ 100,000 ราย กรณีแพ้ไม่รุนแรง มีผื่นในระยะต่อมา รักษาได้โดยการใช้ยาแก้แพ้ ผู้ที่มีอาการแพ้ แพ้ยา แพ้ฝุ่น หรือภูมิแพ้ สามารถให้วัคซีนได้

 

กรณีที่แม่ท้องจากประเทศลาว มียาฉีด Astra กับ Sinopharm จะฉีดตัวใด เมื่อไหร่ คำตอบเดียวกันคือ ทั้งคู่สามารถใช้ได้ แต่จะเลือก Sinopharm ก่อนถ้าเลือกได้ ให้แม่พิจารณาข้อมูลชนิดของวัคซีนดังกล่าวข้างต้นประกอบด้วย

 

ภูมิคุ้มกันหลังติดเชื้อโควิดไม่อยู่ยาวนาน หลังจากที่ติดเชื้อแล้ว 3 เดือน ควรได้รับวัคซีนใดก็ได้กระตุ้นใหม่อีกครั้ง ภูมิคุ้มกันไม่ได้อยู่ยาวเพราะจากระยะฟักตัวของไวรัสสั้น และพยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่ได้ตลอดเวลาในคน ตอนนี้มีการติดเชื้อมากกว่า 160 ล้านคน ยังมีโอกาสกลายพันธุ์ ทำให้ต้องมีการกระตุ้นภูมิด้วยการฉีดวัคซีนซ้ำเช่นเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ในขณะนี้กำลังมีการพัฒนาวัคซีน Second generation เพื่อรองรับการกลายพันธุ์ของไวรัส น่าจะออกมาใช้ได้ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

 

ในกรณีที่แม่ท้อง แม่ให้นม ควรได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากธรรมชาติ กรณีแม่ท้องมีโอกาสเกิดความรุนแรงและเสี่ยงเสียชีวิตได้มากกว่าคนทั่วไป จะเป็นวัคซีนใดให้พิจารณาจากข้อมูลเท่าที่มีซึ่งขอยืนยันว่าทุกวัคซีนมีความปลอดภัย มีการใช้ได้จริง ความเสี่ยงจากข้อแทรกซ้อนจากการให้วัคซีนในคนท้องไม่แตกต่างจากการให้วัคซีนในคนทั่วไป และทารกที่เกิดมาก็ไม่พบว่าผิดปกติ

 

การดูแลแม่ท้อง

                - การบำรุงครรภ์ สมองและร่างกายของลูกเริ่มมีพัฒนาการตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แม่ท้องควรใส่ใจเรื่องโภชนาการ เพื่อให้ลูกน้อยในครรภ์ได้รับสารอาหาร เพื่อการเจริญเติบโตอย่างครบถ้วน

                - เข้าใจอารมณ์แม่ท้อง ในช่วงที่กำลังตั้งท้อง แม่อาจมีอารมณ์อ่อนไหวง่าย จากระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลง หรือมีความวิตกกังวล คนในครอบครัวควรเข้าใจ และช่วยดูแลประคับประคองจิตใจของแม่ท้องให้ผ่อนคลาย

 

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน นมแม่ช่วยให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรง มีสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน กระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค ช่วยลดโอกาสของการเกิดโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้ออื่นๆ นมแม่มีสารอาหารที่ช่วยสร้างการเจริญเติบโตของสมอง เด็กที่กินนมแม่จึงมีสุขภาพที่ดี เติบโตสมวัย และมีพัฒนาการทางด้านสติปัญญาที่ดี.

 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) : ภาพ

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"