แก้ปัญหาขยะทะเล 'ไทย' ต้องผนึก'อาเซียน'


เพิ่มเพื่อน    

ฟองน้ำครกที่เกาะโลซินถูกอวนผืนใหญ่ครอบ ขยะจากประมงอีกภัยคุกคามทะเล ภาพ- Man Pichit J-chaichana

 

 

     สัปดาห์ที่ผ่านมามีการเผยแพร่ภาพล่าสุดที่ไม่ควรเกิดในทะเลไทยบนโลกโซเชียล  เป็นภาพอวนผืนใหญ่ครอบฟองน้ำครกขนาดยักษ์ไว้ทั้งก้อนที่เกาะโลซิน ที่เป็นแหล่งดำน้ำที่อุดมสมบูรณ์ของฝั่งอ่าวไทย   จุดเดียวกันนี้  ยังพบอวนคลุมปะการังและปะการังเขากวางไว้ทั้งแนว  มีการประเมินผลกระทบนี้ว่า  น่าจะทำให้สิ่งมีชีวิตใต้ผืนอวน ตายลงอย่างช้าๆ  
ตอนนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองทัพเรือและนักดำน้ำอาสาสมัครกำลังปฏิบัติการเร่งเก็บกู้อวนผืนใหญ่ เพื่อช่วยรักษาชีวิตปะการัง สัตว์น้อยใหญ่   ซึ่งอวนจัดเป็นขยะทะเลอีกประเภทหนึ่ง จากการประมง ที่ทำลายทรัพยากรไม่น้อยกว่าขยะพลาสติก มีเสียงเรียกร้องในการติดตามผู้กระทำผิด และหาแนวทางจัดการขยะทะเล

        เมื่อพูดถึงผลกระทบจากขยะทะเลในบ้านเรา มีโศกนาฎกรรมที่เกิดกับบรรดาสัตว์น้ำหลายครั้ง ทั้งพะยูนมาเรียม  ที่ตายเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไปจำนวนมาก เพราะหลงคิดว่าเป็นหญ้าทะเล เมื่อผ่าพิสูจน์ท้องของมาเรียม พบเศษพลาสติกจำนวนมากในลำไส้  ไม่รวมสัตว์ทะเลอื่นๆ แม้กระทั่ง นกที่กลายเป็นเหยื่อเศษขยะที่ถูกทิ้งลงในทะเล

 


ขยะพลาสติกภัยคุกคามระบบนิเวศทางทะเลในอาเซียน

 

        ปัญหาขยะทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติก กำลังเป็นภัยคุกคามระบบนิเวศน์ทางทะเลของโลก ทุกๆ ปีจะมีขยะพลาสติก 12 ล้านตันถูกทิ้งลงสู่ทะเลและมหาสมุทร มีเพียง 5% ที่พบเห็นเป็นชิ้นส่วนลอยอยู่ในทะเล ส่วนที่เหลือจมอยู่ใต้น้ำหรือถูกกระแสน้ำพัดไปอยู่ใต้ท้องมหาสมุทรทั่วโลก  โดยในปี 2562 มีหลักฐานการพบเศษขยะทะเลพลาสติกอยู่ที่ก้นร่องลึกก้นสมุทรมาเรียน่า (Mariana Trench) ซึ่งเป็นร่องสมุทรที่ลึกที่สุดโลก ที่ระดับ 11 กิโลเมตรต่ำกว่าระดับทะเล (รายงานTHAIHEALTH WATCH 2021 )

   ประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะไทยกำลังผลักดัน ให้มีการแก้ไขปัญหาขยะทะเลในน่านน้ำของภูมิภาคอาเซียน   โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเลเมื่อปี 2562  จนเกิดปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน

         ล่าสุด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ร่วมกับธนาคารโลก และสำนักเลขาธิการอาเซียน เปิดตัวแผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล ที่ได้รับการรับรองจากรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา  ถือเป็นกรอบแนวทางนำชาติอาเซียนไปสู่การจัดการขยะทะเลอย่างครอบคลุมและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะทะเลของภูมิภาค แผนดังกล่าวมีกรอบระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2564–2568)


ขยะทะเลส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชัดเจน เป็นมลพิษข้ามพรมแดน

   

    ส่วนสถานการณ์ขยะทะเลในอาเซียน สุรีย์ สตภูมินทร์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจัดการทรัพยากรทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ให้ข้อมูลว่า ภูมิภาคเอเชียเป็นหนึ่งในแหล่งขยะพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากงานวิจัยเมื่อปี 2558 (Jambeck และคณะ 2015) รายงานการจัดลำดับประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเล จำนวน 192 ประเทศ ใน 10 อันดับแรกมีประเทศในกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย ซึ่งการประเมินนี้วัด จากปริมาณขยะต่อหัว ระดับรายได้ของประเทศ ร้อยละของขยะพลาสติก ร้อยละของขยะที่ไม่ได้รับการจัดการ และจำนวนประชากรชายฝั่งทะเล

      สปป.ลาว แม้ไม่ติดโผอันดับต้นๆ  แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่ได้ปล่อยขยะลงทะเล สภาพภูมิประเทศสปป.ลาว ส่วนใหญ่ขนานไปกับแม่น้ำโขง   ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลก  พบว่ามีปริมาณขยะถูกทิ้งลงน้ำโขง  ขยะพวกนี้ในที่สุดก็ไหลลงสู่ทะเล  ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ทุกประเทศมีส่วนร่วมในการสร้างขยะทะเล

        “ งานวิจัยนี้จุดประกายให้บรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนตื่นตัว และกําลังทุ่มเทความพยายามเพื่อต่อกรกับมลพิษพลาสติก หลายประเทศดําเนินการทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ด้วยการควบคุมบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือวางแผนกำจัดผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง “

      สำหรับมาตรการจัดการขยะทะเลของชาติต่างๆ ในอาเซียน ผู้เชี่ยวชาญฯ รายนี้ ให้ภาพชัดว่า   อินโดนีเซียเป็นชาติแรก ที่จัดทำแผนปฏิบัติการขยะทะเล หรือ  Indonesia’s Plan of Action on Marine Plastic Debris 2560-2568   ส่วนมาเลเซียมีโรดแมป การกําจัดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2573  เริ่มด้วยการคิดเงินค่าถุงพลาสติกและห้ามใช้หลอด ทั้งยังมีแผนอันท้าทายอื่นๆ

        ขณะที่ประเทศอื่นๆ ได้ริเริ่มโครงการที่เข้มงวดน้อยกว่า โดยสมัคร ใจ เช่น บรูไนตั้งเป้าหยุดใช้พลาสติกในห้างสรรพสินค้าภายในปี 2562 โดยจะเชิญชวนให้ผู้ซื้อใช้ถุงใช้ซ้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคอินโดนีเซียและเมียนมาร์นําการห้าม และกฎหมายเรียกเก็บ ภาษีการใช้ถุงพลาสติกมาใช้ในปี 2561  เมืองและเทศบาลเมืองหลายแห่งในฟิลิปปินส์ ได้บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับถุงพลาสติกและพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (เก็บเงินหรือห้ามใช้) และ สภากําลังพิจารณากฎหมายที่จะบังคับใช้ทั่วประเทศ

        สิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดของโลกในอุตสาหกรรม อาหารฟาสฟู้ดส์ ปัจจุบันได้ห้ามใช้พลาสติก  เช่น ฝาและหลอด พลาสติก สําหรับลูกค้าที่นั่งกินในร้าน

         เวียดนาม ภาคธุรกิจและการค้าขนาดใหญ่แนะนําการใช้ถุงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ลูกค้า โดยรัฐบาลจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม จากถุงพลาสติก 40,000 ดอง ต่อกิโลกรัม  หรือประมาณ 1.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ กก.

        กัมพูชา ห้างสรรพสินค้าหลักเริ่มคิดเงินค่าถุงพลาสติกใบละ 400 เรียล  ประเทศลาวกระตุ้นให้ประชาชนใช้ถุงพลาสติกรีไซเคิลได้ที่วางขายในตลาดและร้านอาหารในเขตเมือง

ขยะจากบนบกจำนวนมากหลุดรอดสู่ทะเลไทย

 

          สำหรับสถานการณ์ขยะทะเลในประเทศไทย สุรีย์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการจัดการขยะได้ดีขึ้นเรามีคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน และกรมควบคุมมลพิษเป็นฝ่ายเลขากลไกสำคัญ คือการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชนชน หรือ PPP plastic ซึ่งประเทศเรานับว่าเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือลักษณะนี้

     ขณะเดียวกันไทยมี Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พร้อมแผนปฏิบัติการบริหารจัดการขยะพลาสติก 2561 -2565   ปี 2562 เลิกใช้พลาสติก 3 ประเภท ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ็อกโซ่ (Oxo) และไมโครบีดจากพลาสติก  และเป้าหมาย ปี 2565 จะเลิกใช้พลาสติกอีก 4 ประเภท โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว  ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก และหลอดพลาสติก

    โดยปี 2570 มีเป้าหมายนําขยะผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับเข้ามาใช้ประโยชน์ทั้ง 100% ล่าสุด ร้านสะดวกซื้อและมินิมาร์ทในประเทศไทยที่มีสาขา 11,000 แห่ง ได้ประกาศใช้แคมเปญ “ไม่รับถุง” เพื่อสนับสนุนนโยบายที่สอดคล้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสากล

      “ ขยะทะเลเป็นประเด็นโลก เป็นปัญหามลพิษข้ามถิ่น มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชัดเจน ทั้งสัตว์หายาก แนวปะการังถูกขยะปกคลุม  เต่าทะเลโดนอวนรัดบาดเจ็บถึงขั้นพิการ พะยูนหรือวาฬนำร่องกินขยะพลาสติกตาย ผ่าซากพบถุงพลาสติกถึง 85 ชิ้น รวมถึงแพขยะชุมพรที่กู้กลับมาไม่ได้ทั้งหมด ขยะถูกกระแสน้ำพัดและจมลงตกค้างในสิ่งแวดล้อม  ในระดับมหาสมุทรมีภาพหย่อมขยะขนาดใหญ่ยาวเป็นกิโลเมตร จนคล้ายเกาะลอยน้ำ ปรากฎมากขึ้น ” สุรีย์ให้ภาพ

  ผลของการตื่นตัวของประเทศอาเซียน ที่ยับยั้งปริมาณขยะทะเล  ทำให้สถานการณ์ขยะทะเลในน่านน้่ำประเทศกลุ่มนี้ดีขึ้นกว่าเดิม   สุรีย์ เผยว่า  แผนปฏิบัติการนี้ ประกอบด้วย 14 กิจกรรม ซึ่งครอบคลุมใน 2 มิติ มิติแรกเป็นการดำเนินงานให้ครอบคลุม 4 ด้าน ตามกรอบปฏิบัติการอาเซียนด้านขยะทะเล

           ได้แก่ 1.การสนับสนุนด้านนโยบายและการวางแผน 2.การวิจัย นวัตกรรม และการพัฒนาบุคลากร 3.การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคธุรกิจ 4.การตระหนักรู้ของชุมชนและการให้การศึกษา ข้อนี้สำคัญ หากนโยบายทำกับเอกชน โดยที่ประชาชนไม่ทราบ จะไม่สำเร็จ จะต้องใช้รับความร่วมมือจากผู้ใช้พลาสติก เพื่อลด ละ เลิก

       อีกมิติของแผนจัดการขยะทะเลอาเซียน นักวิชาการจากทช.ระบุว่า  เป็นการจัดการตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก ตั้งแต่ลดการนำพลาสติกเข้าสู่ระบบ - ลดใช้ เลือกใช้วัสดุทดแทน ,ปรับปรุงกระบวนการเก็บ คัดแยก และลดการหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม ,เพิ่มมูลค่าด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม  อย่ามองพลาสติกเป็นขยะ แต่มองว่าเป็นพลาสติกที่ใช้แล้ว แต่สามารถนำมาใช้ได้  


          สุรีย์บอกว่า ขณะนี้แผนอยู่ในระยะเตรียมการ ปี 65-67 เป็นระยะดำเนินการ ก่อนเข้าสู่การรายงานและประเมินผล ปี 68 มีเป้าหมายให้ประเทศสมาชิกใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนฯ ระดับประเทศ  ซึ่งไทยเริ่มทำแล้ว ส่วนการสร้างความร่วมมือนั้น ประเด็นสำคัญคือ ประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง และประเทศที่สร้างความเชื่อมั่น การริเริ่มทำให้เห็นประจักษ์ ดำเนินการโดยมีเป้าหมายร่วมกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแผนปฎิบัติการขยะทะเลไทยจะเริ่มใช้ปี 2566  ตนมองว่า ถ้าอยากไปให้ไกล อาเซียนต้องมีตัวช่วย ในที่นี้ คือ กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว องค์กร และแหล่งทุนต่าง ๆ

      “ อุปสรรคการแก้ไขปัญหาขยะทะเลของภูมิภาคนี้  คือ ปัญหาเฉพาะตัวของแต่ละประเทศ ทั้งการจัดการ การออกมาตรการในภาพรวม สภาพภูมิประเทศ พฤติกรรมประชากร  เช่น  ลาว ไม่มีทางออกสู่ทะเล มาตรการที่ใช้อาจเน้นไปที่การลดจากต้นทางและกลางทาง ส่วนประเทศที่มีลักษณะเป็นเกาะจำนวนมาก ยังประสบปัญหาจัดการขยะแบบครบวงจร โดยเฉพาะเกาะขนาดเล็ก แล้วยังมีข้อจำกัดของจำนวน ขนาด และที่ตั้งของโรงเก็บขยะ โรงคัดแยก ขั้นตอนการทำความสะอาด ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลด้วย สำหรับไทยการจัดการขยะจากประมง การเดินเรือพาณิชย์และการท่องเที่ยวยังน้อย ต้องมีมาตรการสร้างแรงจูงใจ เช่น รับซื้ออวนสะอาด “ ผู้เชี่ยวชาญฯ เผย

 

เศษอวนทำลายปะการัง ปัญหาขยะจากภาคประมง ภาพ – SUMMER

 

            นอกจากนี้ ยังขาดหน่วยงานกลางของอาเซียนในการจัดการปัญหาโดยตรง เช่น ศูนย์อาเซียนเพื่อการบริหารจัดการขยะทะเล เธอบอกถึงประเด็นนี้ว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนายวราวุธ ศิลปะอาชา รมว.ทส.  ได้มอบนโยบายในการทำงานในกรอบอาเซียนว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพศูนย์อาเซียนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ขึ้นกับการประเมินของธนาคารโลก ซึ่งอินโดนีเซียก็พร้อมไม่แพ้บ้านเรา  

      ปัญหาขยะมาพร้อมกับความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน ผู้เชี่ยวชาญ ทช. ฝากในท้ายว่า ขยะเกิดจากพฤติกรรม  ทางออกสำคัญทุกคนสำรวจตนเองว่า ทำให้เกิดขยะและขยะพลาสติกที่ไม่จำเป็นอะไรบ้าง ตั้งเป้าหมายลด ใช้ซ้ำ รีไซเคิลตามหลัก 3 R (Reduce, Reuse, Recycle) ทิ้งขยะให้ลงถังและถูกถัง ขอให้เริ่มจากตัวเอง  คิดก่อนใช้ ลดใช้พลาสติกที่เกินความจำเป็น  พยายามใช้ซ้ำให้มากครั้งโดยไม่ส่งผลต่อสุขอนามัย แยกขยะโดยไม่ต้องรอให้มีถังแยก ไม่ต้องรอให้มีกฎหมายบังคับ ถ้าหลายคนร่วมกันทำจะเกิดผลดีต่อประเทศ ต่อโลก ต่อสิ่งแวดล้อม


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"