ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมนำเข้าวัคซีน 'ซิโนฟาร์ม' อีก 2-3 ล้านโดส


เพิ่มเพื่อน    

แฟ้มภาพ

6 ก.ค.64 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ "101องศาข่าว"ทางสถานีวิทยุ FM 101 News and Talk ถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกวันว่า การระบาดของโรคเปลี่ยนแปลงทุกวัน เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนต้องประเมินกันใหม่ ว่าขณะนี้ทำอะไร เพื่ออะไร แล้วมีทรัพยากรแค่ไหน ตอนแรก ต้องยอมรับว่าบ้านเรามีการระบาดต่ำกว่าที่อื่น อยู่ในศักยภาพที่หน่วยจะไปติดตามตรวจสอบ คนที่ได้รับเชื้อและแพร่เชื้อ ว่ามีที่ไหนบ้างและไปจัดการกักตัว ควบคุม แต่ขณะนี้ได้เข้ามาอยู่อีกสถานการณ์หนึ่งคือ มีการระบาดในช่วงที่ 3 หรือจะเข้าช่วงที่ 4  การระบาดไปค่อนข้างไกล เราไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะไปตรวจสอบ ติดตาม แล้วไปจำกัดคนแพร่เชื้อได้ ก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไร ให้คนที่เป็นโรคได้รับการดูแลได้อย่างทั่วถึง

ศ.นพ.นิธิ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการดูแลในโรงพยาบาล ซึ่งเราก็ทราบปัญหาอยู่ว่าเป็นเรื่องของการจัดสรรหาเตียงคนไข้หนัก อุปกรณ์คนไข้หนักเพราะฉะนั้นมันจะต้องกลับกัน การที่จะเอาคนทุกคนเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาล หรือ โรงพยาบาลสนามนั้น มันสิ้นเปลืองทรัพยากรที่จะไปดูแล เราก็ต้องมาปรับกระบวนการกันใหม่ให้คนที่ไม่มีอาการมีอาการน้อย กักตัวอยู่ที่บ้านตัวเองได้ ซึ่งการที่จะทำอย่างนั้น เราก็ต้องมีวิธีการที่จะต้องไปสอนเค้า วิธีการที่จะประเมินว่าจะกักตัวอยู่ที่บ้านได้มั้ย ไม่ใช่ทุกคนที่ไม่มีอาการจะสามารถกักตัวเองอยู่ที่บ้านได้หมด และถ้าเค้าอยู่ที่บ้านจะดูแลตัวเองอย่างไร เราจะต้องดูแลเขาอย่างไร เพื่อที่ว่าเมื่อเขามีอาการที่บอกว่ามีความจำเป็นต้องไปอยู่ในโรงพยาบาลจริง ๆ ก็จะได้เข้าไปได้ ถ้าทำอย่างนี้ เราก็ลดการใช้ทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นเตียงหรือว่าบุคลากรทางการแพทย์ลงไปได้ ขณะเดียวกัน ถ้าเราตั้งรับอยู่เรื่อย ๆ อย่างนี้ ผมว่าเราก็ไปไม่ไหว กว่าวัคซีนจะมาครบ ที่เราอยากจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และกว่ามันจะเกิดผล ซึ่งต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าฉีดครบเดี๋ยวนี้แล้วมันจะได้ผลทันที ต้องรอเวลากว่าภูมิคุ้มกันจะขึ้นถึงจุดที่มันใช้ได้ ซึ่งจะใช้เวลา 2-4 อาทิตย์ หลังจากฉีดแล้ว 2 เข็ม เพราะฉะนั้นระหว่างนี้ ต้องปรับขบวนความคิดใหม่  

เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวอีกว่า อีกอันหนึ่งที่ต้องพยายามช่วยกันคิด คือ ทำอย่างไรที่เราจะลดคนไข้ที่ไม่มีอาการ ไม่ให้มีอาการมากขึ้นได้ต้องไปคิดว่า เราจะมียาอะไร มีขบวนการตรงไหนบ้าง ที่จะไปช่วยลดตรงนั้น ไม่ใช้ตั้งรับอย่างเดียว  เหมือนการทำสงครามที่ตั้งรับอย่างเดียว เมื่อเราหมดกำลัง หมดกระสุนเมื่อไหร่ ก็จบ เวลานี้เราต้องปรับวิธีการ ซึ่งเวลานี้ เราถือว่าเราตั้งรับมาตลอด เนื่องจากเราควบคุมมันได้ เราก็เลยใจเย็นคิดว่าแผนนั้นใช้ได้ตลอด แต่ตอนนี้ใช้ไม่ได้ เพราะตัวข้าศึกเอง ตัวไวรัสเอง ที่ไปตั้งตัวใหม่ กลายพันธ์ เกิดสายพันธ์ใหม่ มันก็ปรับตัวของมัน แต่เรายังไม่ปรับ เราก็สู้ไม่ได้ 

ศ.นพ.นิธิ กล่าวต่อว่า สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือเรื่องของสังคม ความเป็นอยู่ของสังคม ความรู้สึกของคนในสังคม มีความสำคัญของการระบาดของโรคมากพอ ๆ กับเรื่องของทางวิทยาศาสตร์ อันนี้บ้านเราให้ความสำคัญและดูตรงนี้น้อยเกินไป ส่วนเรื่องสถานการณ์วัคซีน ถามว่าขาดมั้ย ก็ต้องบอกว่าช้า เราควรได้มากกว่านี้ เร็วกว่านี้ แต่อย่าลืมว่าการป้องกันที่ดีที่สุดมากกว่าวัคซีนคือการใส่หน้ากาก และการรักษาความสะอาด สำคัญมาก สำคัญกว่าวัคซีน และต้องมีสติอยู่ตลอดเวลาในการทำทั้ง 3 อย่าง วัคซีนเป็นตัวช่วยให้สังคมกลับมามีชีวิตชีวา ไม่ต้องระแวง ไม่ต้องกังวล แต่วัคซีนได้แล้วไม่ได้หมายความว่าเราจะละการปฏิบัติตัว ฉะนั้น ถ้าถามผมว่าวัคซีนอะไรที่ดีที่สุด ก็บอกว่าคือวัคซีนที่เข้าไปอยู่ในตัวเรา ต้องอยู่ในตัวเรา มันถึงจะป้องกันการติดเชื้อได้ วัคซีนทุกชนิดที่จะป้องกันสิ่งเหล่านั้นได้หมด จะมากบ้างน้อยบ้าง ไม่ได้ขึ้นกับชนิดวัคซีน มีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย ร่างกายมนุษย์ ไม่เหมือนกัน มีตัวไหนได้ก็ฉีดไปก่อน และเมื่อถึงเวลาที่เรามีข้อมูลความรู้เพิ่มเติม เราก็จะได้รู้ว่าเราต้องทำอย่างไร เราจะต้องไปฉีดกระตุ้นอีกเมื่อไหร่ 

"ขณะนี้ผมไม่อยากให้พวกเรามีความเห็นแก่ตัว ในการที่คิดว่าจะฉีดเข็ม 3 เมื่อไหร่ เพราะมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ฉีดแม้แต่เข็มเดียว เราทำอย่างไรจะให้คนส่วนที่เหลืออยู่ให้ได้วัคซีนมากที่สุด" ศ.นพ.นิธิ กล่าวและว่า แต่ถ้าในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ จะได้เข็ม 3 เมื่อไหร่ถึงจะเหมาะสม การทำตอนนี้ควรทำในรูปของการศึกษาที่เป็นระบบ เก็บรวบรวมข้อมูล อย่าสักแต่ว่าทำ เรื่องการฉีดเข็มที่ 3 จะมีผลดีขึ้นหรืออาจจะแย่ลง ทุกอย่างเชื่อคนอื่นหมด มันมีผลข้างเคียงทั้งนั้น เพราะฉะนั้นต้องทำให้เป็นระบบ อยากให้ทุกคนในประเทศได้วัคซีนมากที่สุดก่อน แล้วถึงเวลานั้น ใครจะอยู่ในกลุ่มที่จะมาศึกษากันว่าจะได้รับเข็มที่ 3 เมื่อไหร่ ชนิดไหน ค่อยมาว่ากันอีกที ถึงเรารอด แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่รอด จะทำได้อย่างไร 

เมื่อถามถึงความคืบหน้าของวัคซีนซิโนฟาร์มซึ่งขณะนี้นำมาแล้วกว่า 2 ล้านโดส ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ครั้งแรกที่แถลงข่าวเรื่องวัคซีนซิโนฟาร์ม ถ้ายังจำได้ ตนบอกว่าถ้าวัคซีนหลักของประเทศมาเพียงพอ เราจะค่อย ๆ ถอย แต่ขณะนี้ควมต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ และประกอบกับผมคาดการณ์ว่า การใช้จะถูกขยายออกไปถึงเด็กอายุน้อยลงด้วย ซึ่งจะทำให้ความต้องการวัคซีนมากขึ้น 

"ทีแรกคิดว่าจะเสร็จแล้วอีกซัก1-2เดือน ถึงตอนนี้คงต้องใช้เวลาอีกซักระยะหนึ่ง ก็จะพยายามเอาเข้ามาให้ได้มากเพิ่มขึ้น เท่าที่ทราบเดือนนี้(กรกฎาคม)น่าจะได้อีกซักประมาณ 2-3 ล้านโดสไม่นับรวมกับที่เพิ่งมา" ศ.นพ.นิธิ กล่าว

ถามว่า กรณีที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้รับอนุมัติให้สั่งซื้อวัคซีนทุกชนิด ช่วยอธิบายว่าทุกชนิดจริงหรือ ศ.นพ. นิธิ กล่าวว่า ถ้าเอาแค่เรื่องสั่งซื้อจัดหาทุกชนิดทุกประเภท ก็ถูกต้องอยู่ แต่เราต้องทำตามขั้นตอนตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และเข้ามาแล้วก็ได้รับการตรวจสอบจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มันมีกฎหมายอื่นๆ อยู่ซึ่งก็ต้องปฏิบัติตามทุกประการ ส่วนการฉีดซิโนฟาร์มให้สำหรับบุคคลทั่วไป ต้องรออีก 1- 2 อาทิตย์ แล้วจะประกาศให้ทราบต่อไป.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"