แรมโบ้-ธนกร ประสานเสียงเชียร์ลุง ล็อกดาวน์เอาอยู่-ตอบรับยิ่งใช้ยิ่งได้เพียบ


เพิ่มเพื่อน    

10 ก.ค.64 - นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการที่ ศบค.ออกประกาศยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมั่นใจว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่มียอดตัวเลขผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นนั้น การที่ยกระดับมาตรการควบคุมที่เข้มข้น จะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้  เพราะจากที่เคยดำเนินการมาแล้วก่อนหน้านี้ยังสามารถทำให้ผู้ติดเชื้อลดลงได้

และที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการที่ให้เลี่ยงใช้คำว่าล็อกดาวน์นั้นเนื่องจากเพราะไม่อยากจ่ายค่าเยียวยาประชาชนนายเสกสกล ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะแม้จะใช้หรือไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์หรือไม่นั้น นายกฯ รัฐบาล ก็ต้องเยียวยา มีมาตรการต่างๆออกมาช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว เพราะนายกฯให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ ปากท้องของประชาชนเป็นอย่างมาก

ส่วนการดูแลแรงงานในแคมป์คนงานที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ในกิจการก่อสร้าง และอีกหลายกิจกรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแล้ว

พร้อมกับย้ำถึงความจำเป็นที่นายกฯจะต้องออกประกาศปิดแคมป์คนงานเนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งภายหลังมีการประกาศนายกฯ ได้สั่งการจัดกำลังเร่งด่วนเข้าไปควบคุมจำกัดพื้นที่เพื่อไม่ให้แรงงานออกนอกพื้นที่ และให้เร่งตรวจคัดกรองเชิงรุก นำเข้าสู่ระบบการรักษาควบคุมโรคโดยเร็ว  สำหรับแรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงไปแล้วว่าเป็นจำนวนน้อย

นายเสกสกล ยังกล่าวถึงการที่ประชาชนต่อแถวตรวจหาเชื้อโควิดจำนวนมากนั้น ยอมรับว่าประชาชนอาจไม่ได้รับความสะดวกสบาย แต่ศบค.ได้ยืนยันที่จะเร่งเปิดจุดตรวจหาเชื้อให้มากขึ้น  และทางกระทรวงสาธารณสุข ยังได้มีมติให้มีการกำหนดแนวทางการใช้การตรวจหาแอนติเจนโดยใช้ ชุดตรวจโควิด Rapid Antigen Test  ใช้โดยสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนที่ผ่านการรับรองทางห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจ SARS-CoV-2 โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อแก้ปัญหาประชาชน เข้าไม่ถึงบริการตรวจโควิด ที่มีคนรอคิวจำนวนมาก

ขณะเดียวกันได้เพิ่มขีดความสามารถการรักษาผู้ป่วยโควิดด้วยการจัดตั้ง รพ.สนาม ไอซียูสนาม การแยกกักในชุมชน และการแยกกักที่บ้าน รวมถึงสาธารณสุขยังได้ปรับแผนการกระจายวัคซีน โดยจะเร่งฉีดผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 60 ปี และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ตั้งเป้าหมายฉีดให้ได้ 1 ล้านโดส ภายใน 2 สัปดาห์ จัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน อีกทั้งยังไม่หยุดนิ่งที่จะจัดหาวัคซีนที่ประชาชนมีความต้องการเข้ามาฉีดให้กับประชาชน

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด -19  อาจทำให้ประชาชนเกิดไม่สบายใจในหลายเรื่อง  แต่ยืนยันว่านายกฯจะทำทุกอย่างเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นให้ได้ ทั้งการดูแลด้านสาธารณสุข  ด้านเศรษฐกิจ  การเยียวยาต่างๆ และการบริหารจัดการวัคซีนให้ประชาชนทุกคน รวมถึงการจัดหาวัคซีนทางเลือกเข้ามา โดยขอให้ประชาชนได้เข้าใจในตัวนายกฯในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่จะทำอย่างเต็มที่ และสุดความสามารถ

" นายกฯ ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนทุกคนได้ช่วยกันรักษาตนเองให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิดตามมาตรการที่ศบค.และสาธารณสุข กำหนด เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของทุกคน อย่าไปเชื่อเฟคนิวส์ ข่าวบิดเบือนข่าวปลอม หรือฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่คอยจ้องเล่นการเมือง โจมตีทำลายความเชื่อถือต่อรัฐบาล เพื่อหวังผลทางการเมือง ขอให้คนไทยทุกคนอดทนเพื่อก้าวข้ามวิกฤตโควิดครั้งนี้เพื่อให้คนไทยชนะผ่านความทุกข์ยากไปด้วยกันให้ได้" นายเสกสกลกล่าว

ขณะที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.)  เปิดเผยถึงความคืบหน้ามาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบ COVID-19 ซึ่งประกอบด้วย โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการเพิ่มกําลังซื้อกลุ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 3 และโครงการเพิ่มกําลังซื้อให้กลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หลังเปิดให้ประชาชนใช้จ่ายผ่านโครงการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นวันแรก ซึ่งผ่านมาได้เพียง 1 สัปดาห์ มียอดผู้ใช้สิทธิรวม 29.2 ล้านคน ยอดใช้จ่ายรวม 16,447.5 ล้านบาท

โฆษก ศบศ.  กล่าวต่อว่า หลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการลดภาระค่าครองชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจออกไป มีเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชนทั่วประเทศ โดยขณะนี้ยอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ มีดังนี้ 1. โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิ  17.5 ล้านราย ยอดใช้จ่าย 13,962.5 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่าย 7,050.5 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 6,912 ล้านบาท 2. โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิ 32,689 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 176.3 ล้านบาท 3. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิ 11.2 ล้านคน ยอดใช้จ่าย 2,211.6 ล้านบาท และ 4. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิ 496,929 คน ยอดใช้จ่าย 97.1 ล้านบาท

นายธนกร กล่าวอีกว่า ขณะนี้การใช้จ่ายในทุกโครงการ ยังจะต้องเป็นการจ่ายเงินระหว่างประชาชนกับร้านค้า หรือผู้ให้บริการแบบพบหน้า (face-to-face) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน ซึ่งการใช้จ่ายส่วนใหญ่ผ่านระบบออนไลน์ ทำให้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างหารือแนวทางเพื่อขยายสิทธิในการสั่งซื้ออาหารผ่านผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ และทางออนไลน์ แต่การที่จะปลดล็อกเงื่อนไขให้ใช้จ่ายผ่านออนไลน์ได้จะต้องมีการพิจารณาและปรับปรุงเรื่องระบบต่างๆ ให้มีความพร้อมก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาในการเตรียมเรื่องดังกล่าว โดยคาดว่าจะทำการหารือเพื่อสรุปในเร็วๆ นี้  สำหรับยอดการลงทะเบียนล่าสุด ณ เวลา 17.00 น. ของวันที่ 8 ก.ค. 2564 โครงการคนละครึ่งมีการลงทะเบียนแล้ว 29.38 ล้านคน เหลืออีก 1.62 ล้านคนจะครบ 31 ล้านคน ส่วนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ลงทะเบียนแล้ว 483,565 คน เหลืออีก 3,516,435 จะครบ 4 ล้านคน ซึ่งกระทรวงการคลังจะเปิดให้ลงทะเบียนไปจนกว่าจะครบจำนวนที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยสามารถตรวจสอบร้านค้าที่เข้าร่วมแต่ละโครงการได้ที่ www.คนละครึ่ง.com หรือ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"