ทปอ.ยันปีหน้าแก้ปัญหาTCASรอบ3แน่หลัง"กสพท.-เด็ก"กั๊กที่นั่ง


เพิ่มเพื่อน    

11มิ.ย.61-“ประเสริฐ” ยันTCAS ช่วยทำให้การกั๊กที่นั่งลดน้อยลง ปีหน้าแก้ปัญหารอบTCASรอบ 3 ที่กสพท.กันที่นั่งแน่นอน   นักวิชาการจุฬาฯ มองปัญหาเกิดเพราะมหาวิทยาลัยไม่เล่นตามกติกา ส่วนเด็กก็กั๊กที่  ด้านบก.เว็บเด็กดี ฯเผยมีการกั๊กที่นั่งแบบลูกโซ่ กรุงเทพฯกั๊กคะแนนกั๊กคณะ ต่างจังหวัดกั๊กมหาวิทยาลัย


ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - มีการจัดงานเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 13 "ทีแคส- ทีใคร มองอนาคตการศึกษาไทย" โดยนายประเสริฐ คันธมานนท์ เลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (เลขาฯ ทปอ.) กล่าวว่า การพัฒนาระบบการคัดเลือกนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยในไทย เริ่มต้นปี 2504 ระบบเอ็นทรานซ์ แก้ปัญหาเด็กเก่งตระเวนสอบ ต่อมาปี 2549 เริ่มต้นระบบแอดมิชชั่น เพื่อแก้ปัญหากวดวิชา ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กเมืองและชนบท ต่อมาปี 2553 มีการปรับปรุงระบบแอดมิชชั่น มหาวิทยาลัยกำหนดค่าเอง แก้ปัญหาโรงเรียนปล่อยเกรด และมีปัญหารับตรงอิสระ และในปี 2561 เกิด TCAS เพื่อแก้ปัญหาการวิ่งรอกสอบ ลดความเหลื่อมล้ำ และเด็กไม่อยู่ในชั้นเรียนม.6 สำหรับกระแสเกี่ยวกับ TCAS ตอนนี้มี 2 ด้าน สำคัญ คือ ด้านหนึ่งมีการกั๊กที่นั่ง และอีกด้าน คือเด็กยังไม่มีที่เรียน โดยเกิดจาก TCAS รอบ 3 รับตรงร่วมกัน ซึ่งขอยืนยันว่า TCAS ช่วยทำให้การกั๊กที่นั่งลดน้อยลง แต่การจัดลำดับคงไม่สามารถทำได้ เพราะมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเกณฑ์ไม่เหมือนกัน  อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาทุกครั้ง ทปอ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น 


“TCAS เป็นการจัดระเบียบในสิ่งที่มหาวิทยาลัยเคยรับและซ่อนไว้มาเป็นข้อมูลสาธารณะ จึงทำให้เป็นที่มาของการเกิดปัญหามากมาย เพราะทุกคนไม่เคยรู้มาก่อน  ส่วนในอนาคตจะเปลี่ยนหรือไม่ ต้องถามมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง เพราะระเบียบต่างๆ เป็นไปตามมหาวิทยาลัยกำหนด "ประเสริฐกล่าว


เลขาธิการทปอ.กล่าวอีกว่า ตอนนี้มีข้อมูลเยอะมาก ที่ไม่ได้เป็นข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็น โควตาพื้นที่  มีการกำหนดชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยเปิดรับเฉพาะในพื้นที่เท่านั้น ไม่มีการเปิดรับเด็กม.6 ทั่วประเทศ ส่วนการแก้ปัญหา TCAS รอบ 3 นั้น ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน เช่น ปัญหารูปแบบที่ 3 กสพท.กันที่นั่ง ปีหน้าทปอ.จะจัดการปัญหานี้แน่นอน    ตอนนี้เห็นวิธีแล้วแต่ต้องขอความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ซึ่งจะทำได้มหาวิทยาลัยต้องช่วย  รวมถึงจัดการเรื่องระยะเวลาให้ดีขึ้น เพราะขณะนี้ รอบที่ 1 ไปจนถงรอบที่ 5 ใช้เวลานานเกินไป  


"อยากฝากเด็กทุกคนการเรียนสาขาไหน มหาวิทยาลัยไหน ไม่เท่ากับการเรียนรู้ด้วยตนเอง  มีทักษะ มีความเข้มแข็งในด้านจิตใจว่าจะทำอะไรในอนาคต โดยใช้องค์ประกอบในอุดมศึกษา มาทำให้ความฝันเป็นจริง"เลขาฯ ทปอ. กล่าว 

ด้านนายอรรถพล อนันตวรสกุล นักวิชาการด้านการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าปรากฎการณ์ TCAS มีมิติด้านอารมณ์ค่อนข้างสูง และทุกคนพยายามชี้นิ้วหาคนผิด ซึ่งจริงๆ แล้วระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยเป็นเพียงคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัยที่ปรับไปตามโจทย์ของประเทศ และเป้าหมายของมหาวิทยาลัยที่จะพัฒนาคนเพื่ออะไร เพราะขณะนี้มหาวิทยาลัยผลิตคนตามความต้องการตลาด หาผู้เรียนที่ดีที่สุดมาเรียน ทำให้ระบบการรับเข้าต้องปรับตาม และมหาวิทยาลัยต้องแย้งเด็กเข้ามาเรียนให้ได้ ดังนั้นโจทย์ท้าทายที่ควรมองอนาคตการศึกษาไทยให้ไกลกว่า TCAS  คือ มหาวิทยาลัยต้องมีเป้าประสงค์ชัดเจนว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยอย่างไร และควรทำให้เด็กรู้ว่าตนเองอยากเป็นอะไร  เพราะตอนนี้เมื่อโจทย์ไม่ชัด มหาวิทยาลัยไม่ชัด ทำให้ทปอ.ซึ่งทำงานบนเงื่อนไข ความคาดหวังของสังคม แต่มีผู้เล่นมหาวิทยาลัยบางแห่ง ไม่ทำตามกติกา และเด็กเองก็แทงกั๊ก ระบบก็ต้องปรับเปลี่ยนและเป็นปัญหาไปเรื่อยๆ 

ด้านนางพรรณระพี สุทธิวรรณ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าวว่า TCAS เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นกับทุกชีวิต เพราะเป็นเรื่องการแข่งขันและโอกาส ซึ่งเมื่อใดก็ตามจำนวนที่นั่งรับกับจำนวนคนไม่เท่ากัน ทุกคนจะเครียด โดยเฉพาะเด็กที่ผิดหวังซ้ำๆ กับการสมัครหลายรอบ เพราะเกิดวงจรที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าคุณค่าของเด็กลดลง เพราะสังคมกำหนดว่าต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะพ่อแม่ ที่ทุกคนคิดว่าลูกต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ โดยที่ลืมมองว่ามีประตูอีกหลายทางให้เดิน ดังนั้น อยากให้พ่อแม่ทุกคนคิดว่าถ้าลูกสอบไม่ติดเข้ามหาวิทยาลัยจะทำอย่างไร อย่าปล่อยให้ชีวิตของพ่อแม่และลูกอยู่ประตูเดียว และพ่อแม่ควรเป็นแบลคอัพที่สำคัญของลูก พ่อแม่อย่าลงไปเล่น TCAS เอง เพราะ TCAS เกมของเด็ก ที่ต้องไปด้วยตนเอง  พ่อแม่อย่าเอาความฝันของตนเองไปฝากลูกไว้ แต่พ่อแม่ควรบอกว่ารักกอด ให้ความมั่นใจแก่ลูก อย่ารักลูกแล้วเหน็บ อย่ารักลูกประชด และอยากฝากเด็กๆ ว่า ความสำเร็จในชีวิตคนมาจากความรู้ความสามารถ และความไม่ท้อถอย อย่าไปเปิดประตูเดียวให้ตนเอง เปิดไว้กว้างๆ และควรเปิดหลายประตู 

ด้านนายมนัส อ่อนสังข์ บรรณาธิการข่าวการศึกษาและแอดมิชชั่น เว็บไซต์เด็กดีดอทคอม กล่าวว่า TCAS เป็นการบอกล่วงหน้าเพียง 4 เดือนแล้วใช้ทันที ทำให้เด็กปี 61 หรือเด็กรุ่นนี้รู้สึกว่าตัวเองเป็นหนูทดลอง เพราะไม่มีการนำไปทดลองแบบวิจัย แต่นำมาใช้ทางปฎิบัติจริงแก่เด็กม.6  และหลายคนมองว่า TCAS ทฤษฎีสวยแต่การจัดการไม่ดี  เช่น TCAS ต้องการให้เด็กม. 6 อยู่ในชั้นเรียนจนจบการศึกษา ซึ่งทำให้เด็กกดดันมาก เพราะ 4 สัปดาห์หลังจบม.6 เด็กจะเข้าสู่การสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยทั้งหมด  และเป็นการสอบหลายวิชา เช่น ถ้าเด็กต้องการสอบเข้าแพทย์ต้องสอบทั้งหมด 15 วิชา ,สอบเข้าเภสัชศาสตร์ต้องสอบ 18 วิชา เนื่องจากบางวิชาสอบซ้ำ 3 รอบ  ส่วนการลดค่าใช้จ่าย ในทางปฎิบัติกลับมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น การยื่นแฟ้มสะสมงานพบว่าแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดแฟ้มสะสมงานต่างกัน เด็กยื่นหลายที่ก็ต้องทำแฟ้มสะสมงานหลายเล่ม ทำให้เกิดธุรกิจจัดทำแฟ้มสะสมงาน หรือการห้ามมหาวิทยาลัยจัดสอบทำให้ต้องไปใช้คะแนนของหน่วยงานเอกชนที่จัดสอบ เช่น สมัครแพทย์ ใช้การสอบ BMAT ซึ่งค่าสมัครประมาณ 7,100 บาท เป็นต้น

"ปัญหา TCAS เกิดจากการสื่อสารไม่ชัดเจน ตั้งแต่เกิด TCAS เด็กก็มีความเครียด และสิ่งที่กังวลตอนนี้ คือ เด็กหลายคนเลือกคณะจากคะแนนที่ตัวเองติด แต่ไม่ได้เรียนคณะที่ตนเองชอบนอกจากนั้น เด็กหลายคนต้องการซิ่วเพื่อไปเรียนปีนี้  ดังนั้นเข้าใจว่าระบบใดระบบหนึ่งทำให้เด็กพึงพอใจทั้งหมดได้ยาก แต่อยากให้ระบบดังกล่าวมีความยุติธรรมกับเด็ก"นายมนัส กล่าว


 สำหรับปัญหาการกั๊กที่นั่ง ตอนนี้เป็นการกั๊กแบบลูกโซ่ คือระบบ TCAS แต่ละรอบมีการกั๊กที่นั่งและกระทบไปสู่รอบอื่นๆ ซึ่งการกั๊กที่นั่งนั้น   ในส่วนของกรุงเทพฯ เป็นการกั๊กคะแนนกั๊กคณะ  แต่ของต่างจังหวัด กั๊กเป็นมหาวิทยาลัย  ปัญหาการกั๊กที่นั่ง ซึ่งปัญหาติดที่นั่งได้มากกว่า 1 ที่นั่ง จริงๆ เด็กรับได้ แต่ทำไมไม่มีระบบตัวสำรอง และ TCAS กะทันหันเกินไป ทั้งเด็กและมหาวิทยาลัยเตรียมตัวไม่ทัน เช่น โควต้าพื้นที่ แต่มหาวิทยาลัยเปิดให้เด็กม. 6 ทั่วประเทศ  สมัครได้ หรือบางมหาวิทยาลัยเปลี่ยนเกณฑ์ฉุกเฉิน  เปลี่ยนเกณฑ์ไม่บอก เด็กรู้สึกไม่ยุติธรรม เพราะจ่ายเงินไปเกณฑ์หนึ่งแต่มาคัดเลือกด้วยเกณฑ์หนึ่ง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"